6 นโยบายประชา (ไม่) นิยม ปี 2560

รถกระบะ

ที่มาของภาพ, AFP/Getty images

สารพัดนโยบาย แผนงาน มาตรการด้านเศรษฐกิจและสังคม ที่คิด-ทำ-นำเสนอจากทั้ง "หน่วยเหนือ" และ "หน่วยปฏิบัติ" หลายวาระ ต้องถอยไปแบบไร้กระบวนท่า เมื่อชาวบ้านร้านตลาดและชาวโซเชียลรุมวิจารณ์ความไม่เหมาะสมและไม่สมเหตุสมผล บีบีซีไทยย้อนดูนโยบายประชา (ไม่)นิยม ตลอดปี 2560

1. โซเชียลรุมวิจารณ์ "ห้ามนั่งท้ายกระบะ-แค็บ" จน ตร.ต้องถอย

เป็นประเด็นร้อนก่อนเข้าสู่เดือน เม.ย. เดือนที่คนไทยมีวันหยุดยาวฉลองเทศกาลสงกรานต์ เมื่อสำนักงานตำรวจแห่งชาติประกาศใช้มาตรการ "ห้ามนั่งท้ายกระบะ-แค็บ" จนถูกวิจารณ์อย่างหนักในสื่อสังคมออนไลน์ถึงการคุมเข้มครั้งใหม่

มาตรการนี้ เป็นผลสืบเนื่องมาจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ใช้มาตรา 44 ออกคำสั่งหัวหน้า คสช.ฉบับที่ 14/2560 เกี่ยวกับการบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยการจราจรทางบก เมื่อวันที่ 21 มี.ค.2560 สาระสำคัญ คือ รัดเข็มขัดนิรภัยทุกที่นั่ง ทั้งคนขับคนโดยสาร ทั้งรถยนต์ส่วนบุคคลและรถโดยสารสาธารณะ ก่อนที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) จะขยายผลเป็นมาตรการห้ามนั่งกระบะและแค็บ

ที่มาของภาพ, AFP/Getty Images

5 เมษายน เป็นวันแรกที่ สตช. เริ่มบังคับใช้มาตรการ แต่ยังไม่ทันพ้นวัน ด้วยกระแสค้านจากสังคมที่เกิดขึ้นอย่างกว้างขวางในช่วงก่อนหน้านี้ว่า กฎหมายไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิตคนไทย ทำให้ สตช.และกรมการขนส่งทางบก "ยอมถอย" ตั้งโต๊ะแถลงด่วน อนุโลมให้ชาวบ้านนั่งโดยสารท้ายรถกระบะรวมทั้งภายในแค็บรถกระบะได้เป็นกรณีไป โดยพิจารณาถึงความจำเป็นและเดินทางไม่ไกลจะใช้วิธีตักเตือน ผ่อนปรนไปจนหลังช่วงเทศกาลสงกรานต์

ส่วนเทศกาลปีใหม่ที่จะถึงนี้ พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า ยังผ่อนผันเรื่องนั่งท้ายรถกระบะ แต่จะกวดขันพฤติกรรมที่เสี่ยงต่ออันตราย เช่น การนั่งบนขอบกระบะ การดื่มสุราจนมึนเมา รวมถึงการคาดเข็มขัดและหมวกนิรภัย

2. แรงงาข้ามชาติไหลกลับประเทศนับหมื่น เซ่นพิษ พ.ร.ก.แรงงานต่างด้าว ฉบับใหม่

ภายหลัง พ.ร.ก.บริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว 2560 มีผลเมื่อวันที่ 23 มิ.ย. แรงงานข้ามชาติที่เข้ามาทำงานในไทยก็ทะลักออกตามด่านพรมแดนในระยะแรกนับพันคน ทั้งแรงงานเมียนมา กัมพูชา เพราะกฎหมายใหม่มีบทลงโทษที่รุนแรงทั้งต่อนายจ้าง และลูกจ้างที่ผิดกฎหมาย

นายจ้างที่ว่าจ้างแรงงานต่างด้าวอย่างไม่ถูกต้องอาจถูกปรับตั้งแต่ 4-8 แสนบาท ทำให้นายจ้างบางส่วนเลิกจ้างแรงงานที่ไม่มีเอกสารรับรองตามกฎหมาย ส่วนแรงงานต่างด้าวที่ไม่มีใบอนุญาตก็มีโทษจำคุก 5 ปี ปรับ 1 แสนบาท

ที่มาของภาพ, Reuters

แต่ทว่าเจตนาดีของกฎหมาย กลับต้องเจอกับความอ่อนไหวของกลุ่มแรงงานข้ามชาติ ข้อมูลของที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการจัดการปัญหาแรงงานต่างด้าว และการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน (กนร.) เมื่อวันที่ 3 ก.ค. ระบุว่ามีแรงงานกลับประเทศตัวเองราว 29,000 คน

ขณะที่รอยเตอร์รายงานข้อมูลจากเจ้าหน้าที่ประสานงานของกระทรวงแรงงานเมียนมา นับตั้งวันที่ 29 มิ.ย. มีแรงงานมากกว่า 16,000 คน เดินทางกลับบ้าน โดยคนเหล่านี้เป็นทั้งแรงงานที่ถูกกฎหมายและที่ไม่มีเอกสารรับรอง ซึ่งหวาดกลัวการกวาดล้างจับกุม รวมถึงแรงงานที่นายจ้างสั่งให้กลับบ้าน

ที่มาของภาพ, EPA

กว่า 1 สัปดาห์ที่แรงงานข้ามชาติไหลออก กระทบกับธุรกิจหลายภาคส่วน ทั้งร้านอาหาร สถานประกอบการเอสเอ็มอี ธุรกิจรับเหมาช่วงก่อสร้าง โดยสมาคมภัตตาคารไทย เผยตัวเลขแรงงานที่เป็นลูกจ้างร้านอาหารและภัตตาคารหายไปประมาณร้อยละ 20

"ตอนนี้แค่เบรกยังไงก่อนไม่ให้แรงงานพวกนี้ไหลกลับ ช่วยบอกให้พ่อแม่ทางบ้าน (ของแรงงาน) รู้หน่อยว่า ไม่ต้องเรียกกลับ ทางนี้จะทำให้ถูกต้อง" เจ้าของร้านอาหารแห่งหนึ่งบอกกับบีบีซีไทยถึงสถานการณ์เมื่อต้นเดือนกรกฎาคม

ความเสียหายที่เกิดกับภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมเพียงกว่า 1 สัปดาห์ ทำให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ตัดสินใจใช้มาตรา 44 ยืดเวลาบังคับใช้ พ.ร.ก.แรงงานต่างด้าว 4 มาตรา ยกเว้นโทษจับ-ปรับ นายจ้างและลูกจ้าง ออกไป 6 เดือน เพื่อลดผลกระทบต่อผู้ประกอบการในภาคการผลิตต่าง ๆ และเริ่มจะเริ่มบังคับใช้ พ.ร.ก. ตั้งแต่ 1 ม.ค.61 เป็นต้นไป

3. ปฏิรูปสายรถเมล์ เปลี่ยนตัวเลขปนภาษาอังกฤษ ยุติโครงการหลังทดลอง 1 เดือน

คนใช้รถเมล์ในเมืองกรุง ต้องโกลาหลกับแนวคิดปฏิรูปสายรถเมล์ใหม่ของกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) หน่วยงานกำกับดูแลองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ที่มีแผนทดลองวิ่งใน 8 เส้นทาง เมื่อวันที่ 15 ส.ค.

ตามแผนการปฏิรูปเส้นทางเดินรถโดยสารประจำทางใหม่จะปรับเปลี่ยนทั้งระบบ 269 เส้นทาง โดยการเปลี่ยนชื่อเส้นทางใหม่ ใช้ตัวอักษรภาษาอังกฤษ เปลี่ยนตัวเลข และจัดกลุ่มรถเมล์ใหม่เป็น 4 กลุ่มการเดินรถ จากเดิมที่มี 8 กลุ่มการเดินรถ โดยใช้อักษรย่อตามสีในภาษาอังกฤษจำนวน 4 สี เช่น สายสีเขียว Green ใช้ตัว G สายสีแดง Red ใช้ตัว R

แค่ยังไม่ทันได้เริ่มทดลองเส้นทาง ผู้ใช้รถเมล์และผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์ต่างวิจารณ์ถึงการปรับเปลี่ยนว่าสร้างความสับสนต่อการจดจำตัวเลขใหม่ รวมทั้งการใช้ภาษาอังกฤษที่อาจยากต่อผู้ใช้ที่ไม่เข้าใจภาษา

ไทยรัฐออนไลน์รายงานคำชี้แจงจากนายสนิท พรหมวงษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางบกว่า เป็นการปรับเปลี่ยนในระยะยาวเพื่อรองรับและเชื่อมต่อกับระบบขนส่งมวลชนอื่นๆ ไม่ว่าจะรถไฟฟ้า รถไฟใต้ดิน และรองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ พร้อมแนะนำว่า "หากจำไม่ได้ ประชาชนควรจำเป็นศาลายา-หมอชิตแทน"

ส่วนเส้นทาง 269 สาย มีมากขึ้นกว่าเดิม โดยกรมการขนส่งทางบก ตัดเส้นทางให้สั้นลงจากเดิมเพื่อแก้ปัญหารถติด

ที่มาของภาพ, facebook/รถเมล์ไทย.คอม Rotmaethai.com

สื่อหลายแขนงรายงานผลการประเดิมใช้รถเมล์เปลี่ยนใหม่วันแรก พบว่าผู้ใช้ยังสับสนกับสายเลข บางส่วนถึงกับไม่กล้าใช้บริการ

แต่เมื่อผ่านไป 1 เดือน มีกระแสข่าวว่า กรมการขนส่งทางบก เลิกการทดลองรถแล้ว ด้วยเหตุว่าประชาชนสับสน ก่อนที่นายสนิท พรหมวงษ์ จะออกมาแจงภายหลังว่ายังไม่ยกเลิก แต่ได้ยุติการทดลองเนื่องจากครบช่วงเวลา 1 เดือน ระหว่างวันที่ 15 ส.ค.-15 ก.ย. โดยหลังจากนี้จะนำข้อคิดเห็นจากประชาชน มาปรับแก้เพื่อวางแผนปฏิรูปต่อไปในระยะ 2 ปี

4. บัตรคนจน

ปี 2559 รัฐแจกสวัสดิการแก่ผู้มีรายได้น้อยเป็นตัวเงิน โอนเข้าบัญชีธนาคาร รายละ 1,500-3,000 บาท ปีนี้คณะรัฐมนตรีเห็นชอบโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือการขึ้นทะเบียนคนจน รอบสอง เมื่อเดือน ก.พ.

ปี 2560 มีผู้มีรายได้น้อยที่ผ่านเกณฑ์ 11.4 ล้านคน โดยรูปแบบของการให้สวัสดิการเป็นการให้วงเงินผ่านบัตรอิเล็กทรอนิกส์ หรือที่เรียกว่า "บัตรคนจน" แจกแพ็กเกจสวัสดิการ ช่วยค่าครองชีพ รูดซื้อสินค้า ส่วนลดค่าซื้อก๊าซหุงต้ม 45 บาทต่อคนต่อ 3 เดือน และค่าเดินทาง

ที่มาของภาพ, JIRAPORN KUHAKAN/BBC THAI

กำหนดเกณฑ์ให้ผู้ได้รับสวัสดิการวงเงิน 200 บาทต่อเดือน มีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาท ต่อปี ส่วนผู้ที่มีรายได้ 30,000-100,000 ต่อปี ได้วงเงินช่วยค่าครองชีพในบัตร 300 บาท ทั้งสองกลุ่มยังได้วงเงินสำหรับการเดินทางรถไฟ บขส. และรถเมล์ ขสมก.อีก 500 บาท ให้ประชาชนเริ่มใช้สิทธิ์ตั้งแต่ 1 ต.ค.

ข้อติดขัดแรกของการใช้บัตรคนจนในปีนี้ คือ ผู้มีรายได้น้อย 7 จังหวัดในกรุงเทพฯ และปริมณฑล 1.3 ล้านคน ได้ใช้บัตรสวัสดิการฯ หลังคนต่างจังหวัด เนื่องจากผลิตบัตรไม่ทัน โดยได้เริ่มใช้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐเมื่อ 17 ต.ค. ตามมาด้วยการคัดกรองที่มีผู้มีรายได้น้อยบางส่วนตกหล่น จากการให้คำจำกัดความคำว่าคนจนและการตรวจสอบข้อมูลผู้ลงทะเบียน

ที่มาของภาพ, JIRAPORN KUHAKAN/BBC THAI

นอกจากนี้ยังมีปัญหาร้านขายสินค้าธงฟ้าประชารัฐไม่ทั่วถึง ร้านค้าติดตั้งเครื่องรูดบัตร (Electronic Data Capture หรืออีดีซี) น้อย บางร้านติดป้ายรับบัตรสวัสดิการ แต่ยังไม่มีเครื่องรูดบัตรจึงยึดบัตรไว้และให้รับสินค้าออกไปก่อน ข้อมูลจากกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง เมื่อวันที่ 7 ต.ค. ระบุว่า มีร้านค้าเข้าร่วมโครงการธงฟ้าประชารัฐ 19,500 แห่ง แต่ติดตั้งเครื่องรูดอีดีซีได้เพียง 5,061 เครื่อง

ส่วนการใช้บัตรคนจนกับการเดินทางก็พบปัญหาการใช้บัตรกับระบบ วันแรกของการใช้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐกับรถเมล์ ขสมก.เมื่อ 1 พ.ย. รถเมล์ที่ติดตั้งระบบอี-ทิกเก็ต บางคันระบบยังไม่สามารถใช้งานได้ ส่วนการใช้บัตรคนจนรูดค่าโดยสารรถไฟ วันแรกเครื่องอีดีซีที่สถานีรถไฟหัวลำโพง ใช้งานได้เพียง 3-4 เครื่อง จาก 14 เครื่อง

5. ฝันค้าง อี-ทิกเก็ต เครื่องหยอดเหรียญอัตโนมัติรถเมล์ ขสมก.

หากได้ขึ้นรถเมล์ครีมแดงของ ขสมก.บางคันที่มีเครื่องหยอดเหรียญอัตโนมัติ (Cash box) ในช่วงปลายเดือน ธ.ค. จะพบว่าเครื่องนี้ถูกห่อหุ้มด้วยพลาสติกอย่างหนาแน่น เป็นภาพภายหลังจาก ขสมก.ยุติการติดตั้งเครื่องนี้บนรถเมล์

นายณัฐชาติ จารุจินดา ประธานคณะกรรมการบริหารกิจการ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (บอร์ด ขสมก.) ระบุเมื่อวันที่ 11 ธ.ค.ที่ผ่านมาว่า ได้สั่งการยุติการติดตั้งเครื่องนี้เพราะมีปัญหาการใช้งาน โดยเฉพาะในชั่วโมงเร่งด่วนที่อาจไม่สามารถรองรับผู้โดยสารจำนวนมากได้ ประกอบกับอีกภายใน 2 ปี จะเปลี่ยนระบบการเก็บค่าโดยสารไปเป็นระบบที่ไม่ใช้เงินสด ด้วยการใช้บัตรโดยสารอิเล็กทรอนิกส์หรืออี-ทิกเก็ต บัตรแมงมุม และตั๋วร่วม

ไทยพีบีเอสออนไลน์รายงานว่า ขสมก.ได้ยุติการติดตั้งเครื่องหยอดเหรียญบนรถเมล์ 1,800 คัน ส่วนที่ติดตั้งไปแล้ว 800 คน จะเร่งเจรจากับเอกชนเพื่อแก้ไขสัญญา

ส่วนการทดสอบใช้ระบบอี-ทิกเก็ตด้วยการใช้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐกับรถเมล์ล็อตแรก 100 คัน เมื่อเดือน พ.ย. พบว่าใช้งานได้ 65 คัน

สำหรับงบประมาณในการดำเนินการระบบบัตรโดยสารอี-ทิกเก็ต พร้อมอุปกรณ์ และเครื่องหยอดเหรียญอัตโนมัติ รวม 2,600 คัน ขสมก.ทำสัญญาเช่ากับบริษัท ช.ทวี จำกัด (มหาชน) มูลค่าโครงการ 1,665 ล้านบาท ระยะสัมปทาน 5 ปี

6. รถไฟฟ้ามหานคร กับดราม่าถอดเก้าอี้รถไฟใต้ดิน

ระบบขนส่งสาธารณะในกรุงเทพฯ เป็นประเด็นที่ยังคงเกิดปัญหาการให้บริการตลอดปี 2560 นับตั้งแต่ค่าตั๋วรถไฟฟ้าบีทีเอสขึ้นราคา ดราม่าถอดเก้าอี้รถไฟใต้ดิน และปัญหาความล่าช้าและการบริการของรถไฟแอร์พอร์ตเรลลิงก์

บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอส ปรับขึ้นราคาในเส้นทางสัมปทาน ไม่รวมส่วนต่อขยายตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.ที่ผ่านมา จากเดิมที่อัตรา 15-42 บาท เป็น 16-44 บาท สวนทางกับการให้บริการที่เกิดเหตุรถขัดข้องหลายครั้ง ก่อนจะชี้แจงการปรับขึ้นราคาค่าโดยสารใหม่นี้ว่า ต่ำกว่าเพดานอัตราค่าโดยสารตามสัญญาสัมปทานซึ่งอยู่ในอัตรา 20.11-60.31 บาท

รถไฟแอร์พอร์ตเรลลิงก์ ก็ไม่น้อยหน้า ถึงขั้นมีการตั้งเพจเฟซบุ๊กจากผู้โดยสารที่ชื่อว่า "วันนี้แอร์พอร์ตลิ้งค์เป็นอะไร" ขึ้นมา โดยผู้ก่อตั้งเพจบอกว่าเพื่อเป็นพื้นที่แจ้งปัญหาความล่าช้า และการให้บริการรายวัน มีผู้กดไลก์ติดตามเพจกว่า 17,000 คน

ส่วนประเด็นที่ร้อนไม่แพ้กัน คือ การถอดเบาะที่นั่งในรถไฟฟ้าใต้ดินเอ็มอาร์ที สายเฉลิมรัชมงคล ออกจากตู้ขบวน เริ่มทดลองเมื่อวันที่ 20 พ.ย. บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ผู้รับสัมปทานให้บริการเดินรถไฟฟ้าใต้ดินสายสีน้ำเงิน เตาปูน-หัวลำโพง แจงว่าเป็นการเพิ่มพื้นที่ว่างให้ผู้โดยสารเดินทางได้มากขึ้นในชั่วโมงเร่งด่วน โดยถอดเฉพาะเก้าอี้ที่นั่งแถวกลาง หวังรอบรับผู้โดยสารเพิ่ม 10%

ที่มาของภาพ, facebook/MRT Bangkok Metro

พลันที่ภาพตู้ขบวนรถที่ถูกถอดเก้าอี้นั่งผู้โดยสารออก แชร์ออกไปในสื่อสังคมออนไลน์ ก็ได้รับการตอบรับแสดงความคิดเห็นทั้งดอกไม้และก้อนอิฐ และที่น่าฉงน คือ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ผู้ให้สัมปทานแก่ BEM ออกมาบอกว่า "ไม่รู้เรื่อง" BEM ไม่ได้มีการหารือ หรือแจ้งให้ รฟม.รับทราบเลย ก่อนเรียก BEM เข้ามาชี้แจง

สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ออกแถลงการณ์คัดค้านการถอดเก้าอี้ โดยชี้ว่าเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคและแสวงหากำไร พร้อมกับเร่งรัดให้ รฟม.และ BEM จัดซื้อขบวนมาเพิ่มเพื่อให้เพียงพอกับผู้โดยสาร และนำเก้าอี้มาติดเช่นเดิม ไม่เช่นนั้นก็จำเป็นต้องมีการฟ้องร้องเรียกค่าทดแทน

ที่มาของภาพ, facebook/MRT Bangkok Metro

ขณะที่นายสามารถ ราชพลสิทธิ์ อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ผู้เกาะติดนโยบายการขนส่งมวลชนในกรุงเทพฯ โพสต์เฟซบุ๊กแนะให้ รฟม.เร่งรัดผู้รับสัมปทานเดินรถ เพิ่มตู้หรือขบวนรถไฟฟ้า และตรวจสอบสัญญาสัมปทานเรื่องการกำหนดจำนวนผู้โดยสาร ทั้งยืนนั่งต่อขบวน

ด้านฝ่ายที่เห็นด้วยต่อการถอดเก้าอี้เพิ่มพื้นที่ในขบวน ชี้ว่าไม่ใช่แค่ในไทย แต่ในรถไฟต่างประเทศ อย่างญี่ปุ่น สิงคโปร์ ก็มีการทำเช่นนี้ และยังเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าต่อความไม่เพียงพอของขบวนรถ

ปัจจุบันรถไฟฟ้าใต้ดินสายสีน้ำเงินมีขบวนรถไฟฟ้าวิ่งให้บริการ 19 ขบวน โดยในปี 2561 BEM รับปาก รฟม.ว่าจะเพิ่มขบวนรถอีก 1 ขบวน ก่อนที่เหลือจะมาในปี 2562 ล่าสุด เมื่อวันที่ 7 ธ.ค. รฟม.ได้สั่งชะลอการถอดเก้าอี้ที่นั่งที่เหลืออีก 18 ขบวนไว้ก่อน