สังคมเรียกร้อง แต่บอร์ดอิตาเลียนไทย จะลงโทษ "เปรมชัย" ได้หรือ

ที่มาของภาพ, Getty Images
พฤติกรรมที่ถูกกล่าวหาของนายเปรมชัย กรรณสูต ประธานกรรมการ บมจ.อิตาเลียนไทย ดิเวล๊อปเมนต์ กลายเป็นข้อกังขาของสังคมต่อธรรมาภิบาลบริษัทผู้รับเหมาก่อสร้างยักษ์ใหญ่ของประเทศ ว่าจะรับผิดชอบต่อสังคมอย่างไร หลังเขากับพวกอีก 3 คนพัวพันกับการล่าสัตว์ป่าในอุทยานแห่งชาติ
แม้การกระทำดังกล่าวเป็นพฤติกรรมส่วนบุคคล และไม่ถือว่าเป็นการกระทำผิดต่อ พ.ร.บ. ตลาดหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ แต่ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทยแสดงความคิดเห็นว่านี่เป็นความเสี่ยงที่มีผลกระทบต่อกิจการและองค์กร ด้านผู้เชี่ยวชาญด้านจัดการความเสี่ยงองค์กรระบุไม่ง่ายที่จะเปลี่ยนแปลง เพราะธุรกิจไทยมักบริหารแบบธุรกิจครอบครัว
ขณะที่กระแสดังกล่าวได้ทำให้เกิดกระแสกดดันทางสังคม รณรงค์ให้ บอยคอตกิจการของบริษัทดังกล่าวแล้ว
นางวรวรรณ ธาราภูมิ ประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย ที่ใช้เฟซบุ๊กส่วนตัว สะท้อนความคิดเห็นเมื่อวันที่ 8 ก.พ. เรียกร้องให้คณะกรรมการของบริษัทพิจารณาความเสี่ยงที่มีผลกระทบต่อชื่อเสียงของกิจการ หากว่ามีผู้บริหารระดับสูง กระทำการผิดต่อกฎหมายอื่นๆ เป็นเรื่องส่วนตัว (ไม่ใช่ผิดกฎหมายหลักทรัพย์)
ในข้อความดังกล่าวของนางวรวรรณ ได้กล่าวถึงรายงานบรรษัทภิบาลอิตาเลียนไทย 2561 ของบมจ. อิตาเลียนไทยฯ ในหน้าที่ 10 ที่ประกาศต่อผู้ลงทุนและสาธารณชนเกี่ยวกับนโยบายของผู้บริหารต่อสังคมส่วนรวม โดยระบุในข้อ 1.6 ว่า บริษัทฯ จะไม่กระทำการใดๆ ที่จะส่งผลเสียหายต่อสังคมทรัพยากรธรรมชาติและสภาพแวดล้อม อีกทั้งยังต้องแสวงหาโอกาสสนับสนุนกิจกรรมสร้างสรรค์สังคม ปลูกฝังจิตสำนึกของความรับผิดชอบต่อสังคมให้เกิดขึ้นในหมู่พนักงานทุกระดับอย่างต่อเนื่องและจริงจัง
ที่มาของภาพ, www.itd.co.th
ส่วนหนึ่งของเอกสาร บรรษัทภิบาลอิตาเลียนไทย 2561
ส่วนในเอกสารชุดเดียวกันในหน้า 13 เรื่อง จริยธรรมธุรกิจและจรรยาบรรณ ยังระบุเกี่ยวกับ เรื่องผู้บริหารต่อสังคมส่วนรวม ว่า "ไม่กระทำการใดๆ ที่จะมีผลเสียหายต่อทรัพยากรธรรมชาติ และสภาพแวดล้อม"
นางวรรณได้สะท้อนปัญหาดังกล่าวไปที่คณะกรรมการของบริษัท เพื่อลดความเสี่ยงดังกล่าวที่อาจจะเกิดขึ้น รวมไปถึงภาครัฐ เพราะอิตาเลียนไทยฯรับงานก่อสร้างโครงการใขนาดหญ่ จากภาครัฐ
ก่อนหน้านี้ ดร. บัณฑิต นิจถาวร กรรมการผู้อำนวยการสถาบันกรรมการบริษัทไทย หรือ ไอโอดี (Thai Institute of Directors) กล่าวกับ บีบีซีไทย ว่า "แม้เรื่องที่เกิดขึ้นจะเป็นเรื่องส่วนบุคคล แต่ก็มีประเด็นที่อาจกระทบคะแนนประเมิน CGR ของบริษัทได้ เช่น การคำนึงถึงผู้มีส่วนได้เสีย ซึ่งรวมถึงสิ่งแวดล้อม และข่าวด้านการกำกับดูแลกิจการของบริษัท โดย IOD จะนำข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นมาพิจารณาประกอบการประเมินคะแนนในปีนี้"
ที่มาของภาพ, Jiraporn Kuhakan/BBC Thai
ดร. บัณฑิต: "IOD จะนำข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นมาพิจารณาประกอบการประเมินคะแนนในปีนี้
ไอโอดี เป็นองค์กรอิสระที่เน้นการพัฒนาคุณภาพความเป็นมืออาชีพและความโปร่งใส ของกรรมการบริหารบริษัท โดยเฉพาะบริษัท ที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ ส่วน CGR หรือ Corporate Governance Report เป็นรายงานการกำกับดูแลกิจการบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ ที่ IOD จัดทำขึ้น เพื่อประเมิน 5 เรื่อง คือ สิทธิของผู้ถือหุ้น การปฏิบัติต่อผู้ถือหุ้นอย่างเท่าเทียมกัน การคำนึงถึงบทบาทของผู้มีส่วนได้เสีย การเปิดเผยข้อมูลและความโปร่งใส และ ความรับผิดชอบของคณะกรรมการ
อิตาเลียนไทยฯ ได้คะแนนประเมินรวม 4 ดาว จากคะแนนเต็ม 5 ดาว ในรายงาน CGR เมื่อปี 2560
ธุรกิจครอบครัว มักเสี่ยงเมื่อผู้บริหารมีปัญหา
นายฮัสซัน บาซาร์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท บางกอก พับลิค รีเลชั่นส์ จำกัด หรือ บางกอกพีอาร์ ผู้เชี่ยวชาญในธุรกิจที่ปรึกษาประชาสัมพันธ์และการบริหารวิกฤต บอกกับบีบีซีไทยว่า บริบทไทยต่างจากในประเทศพัฒนาแล้ว
"หากเทียบกับการบริหารงานบริษัทในยุโรปหรือ สหรัฐอเมริกา ประเด็นการบริหารในไทยจะถือว่ามีมิติพิเศษ (extra dimension) เพราะว่าบริษัทส่วนใหญ่อยู่ภายใต้การบริหารของกลุ่มครอบครัว สิ่งสำคัญที่ต้องคำนึงคือการเตรียมความพร้อมในกรณีที่ผลกระทบหรือความเสียหายที่จะเกิดขึ้นโดยกลุ่มครอบครัวอื่น แต่ใช้นามสกุลร่วมกัน"
ผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารจัดการความเสี่ยงรายนี้ยังอธิบายต่อว่า นามสกุลของเจ้าของบริษัท หรือ ซีอีโอ ก็มีส่วนสำคัญในลักษณะแบรนด์ หรือ ชื่อเสียงของบริษัท ดังนั้นหากมีประเด็นปัญหาอะไรเกิดขึ้นกับผู้นำองค์กร ย่อมส่งผลต่อบริษัททั้งในแง่บวกและลบ
ที่มาของภาพ, Getty Images
พนักงานในชุดป้องกันภัยที่มีตราสัญลักษณ์ของ บมจ. อิตาเลียนไทย กำลังทำงานในโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ซึ่งเป็นโครงการรับเหมาก่อสร้างของบริษัทแห่งนี้
จากแนวความคิดดังกล่าวไม่ไกลเกินจริง เพราะเมื่อวันที่ 8 ก.พ. อิตัลไทย ได้ตัดสินใจร่อนแถลงการณ์ชี้แจงว่า บริษัทไม่มีความเกี่ยวข้องกับ บมจ. อิตาเลียนไทย หลังจากนายเปรมชัยโดนจับเพราะล่าสัตว์ป่า ในแถลงการณ์ผ่านสื่อมวลชนอธิบายว่า บริษัท อิตัลไทย ทำธุรกิจคนละประเภทกันและแยกกันบริหารอย่างชัดเจน
การตัดสินใจเกิดขึ้นอาจเป็นเพราะว่านายยุทธชัย จรณะจิตต์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัท อิตัลไทย จำกัด เป็นหลานชาย และ ลูกของพี่สาวของนายเปรมชัย
บมจ. อิตาเลียนไทยฯ แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ว่า ผู้ถือหุ้นใหญ่ในสัดส่วน 14.88% หรือ 785,494,526 หุ้น คือ คือ นายเปรมชัย ตามมาด้วยนางนิจพร จรณะจิตต์ เป็นผู้ถือหุ้นลำดับที่ 2 ในสัดส่วน 7.04% ด้วยจำนวน 371,698,140 หุ้น และนั่งในตำแหน่งกรรมการรองประธานบริหารอาวุโสของบริษัทอีกด้วย ทั้งนี้ นางนิจพรเป็นพี่สาวของนายเปรมชัย และมารดาของนายยุทธชัย
นอกจากรายชื่อของนายเปรมชัย และนางนิจพรแล้ว ในรายนามผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่แสดงบนเว็บไซต์ของตลาดหลักทรัพย์ ยังมีรายชื่อบุคคลที่ใช้นามสกุล "กรรณสูต" และ "จรณะจิตต์" เป็นผู้ถือหุ้นจำนวนหนึ่งอีกด้วย
ผอ. สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่าฯ เผยชื่อผู้ประสานเข้าทุ่งใหญ่ให้เปรมชัย
วันนี้ (9 ก.พ.) น.ส.กาญจนา นิตยะ ผู้อำนวยการสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ได้ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ระบุถึงชื่อของ "นายนพดล พฤกษะวัน" เป็นผู้โทรหาเมื่อวันที่ 31 ม.ค. ที่ผ่านมา เพื่อประสานให้ นายเปรมชัยและคณะเข้าพื้นที่เขตรักษาพันธ์สัตว์ป่า โดยอ้างเหตุผลว่า นายเปรมชัย เป็นนักนิยมไพร ชื่นชอบธรรมชาติ
ที่มาของภาพ, นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร
ซากสัตว์ป่าและอาวุธที่ตรวจพบจากบริเวณที่นายเปรมชัยและคณะตั้งแคมป์ล่าสัตว์
ในรายงานข่าวดังกล่าวระบุอีกด้วยว่า น.ส.กาญจนาให้สัมภาษณ์ในสภาพน้ำตาคลอเบ้า เนื่องจากถูกแรงกดดันจากสังคม หลังมีการเผยแพร่เอกสารหนังสือบันทึกข้อความของ นายวิเชียร ชิณวงษ์ นักวิชาการป่าไม้ชำนาญการ หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ด้านตะวันตก แจ้งถึงผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 (บ้านโป่ง) เรื่องขออนุญาตเข้าพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ด้านตะวันตก ลงวันที่ 2 ก.พ.61 ที่ระบุในทำนองว่า คณะของนายเปรมชัย ได้รับการได้รับการประสานทางโทรศัพท์จากเธอ
ชื่อของนายนพดล กลายเป็นที่น่าสนใจของสังคม เนื่องจากเขาเป็นอดีตข้าราชการ เคยดำรงตำแหน่ง ผอ.ส่วนกิจการพิเศษ สำนักอุทยานแห่งชาติ ขณะนี้เกษียณอายุราชการไปแล้ว โดยตำแหน่งสุดท้ายคือ ผอ.สำนักงานบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 6 (จ.สงขลา) และมีรายงานว่ามีความใกล้ชิดกับผู้บริหารของ บมจ.อิตาเลียนไทยฯ อีกด้วย สอดคล้องกับการรายงานข่าวของเว็บไซต์ประชาชาติ ฉบับวันที่ 17 พ.ค. 2555 ระบุว่า นายนพดล เป็นที่ปรึกษาด้านสิ่งแวดล้อม ของนายเปรมชัย ในโครงการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกและนิคมอุตสาหกรรมทวาย ในเมียนมา
ที่มาของภาพ, กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
โฆษกกรมอุทยานแห่งชาติฯ แถลงข่าวชี้แจงว่าจะยังไม่มีการดำเนินคดีใดๆ กับ นายวิเชียร เพราะอยู่ในระหว่างการดำเนินการสอบสวน
สำหรับความคืบหน้าสำคัญเพิ่มเติม ในช่วงบ่ายวันนี้นายสมโภชน์ มณีรัตน์ โฆษกกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ได้จัดการแถลงข่าวชี้แจงว่าจะยังไม่มีการดำเนินคดีใดๆ กับ นายวิเชียร ชิณวงษ์ หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ด้านตะวันตก และเจ้าหน้าที่ป่าไม้ชุดจับกุม นายเปรมชัย กรรณสูต ประธานบริหารและกรรมการ บมจ. อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ หลังจากมีกระแสข่าวว่า พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้แจ้งให้กรมอุทยานฯ เอาผิดทางอาญาหรือวินัย กับกรณีเอื้อประโยชน์ ให้นายเปรมชัยเข้าพื้นที่ โดยไม่ถูกต้องตามขั้นตอน เพราะไม่เก็บค่าธรรมเนียมค่าเข้าอุทยานเป็นจำนวนเงิน 110 บาท
อย่างไรก็ตามต่อมา พล.ต.อ.ศรีวราห์ ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวโดยปฏิเสธว่า ไม่ได้ส่งเอาผิด นายวิเชียร ตามการกระแสข่าวก่อนหน้านี้ ระบุเพียงว่าอาจมีความเข้าใจคลาดเคลื่อน