มิตรผล: ชาวบ้านกัมพูชา 700 ครัวเรือนฟ้องเรียกค่าเสียหายถูกไล่รื้อ-ยึดที่ทำกินเป็นไร่อ้อย

ที่มาของภาพ, AFP/Getty Images
ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งวันนี้ (31 ก.ค.) รับฟ้องคดีแบบกลุ่มในคดีที่ชาวบ้านกัมพูชารวมตัวกันฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากบริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่ของไทย เป็นเงินกว่า 300 ล้านบาท โดยกล่าวหาว่าตัวแทนของบริษัทในกัมพูชาได้ไล่รื้อและยึดที่ดินทำกินของชาวบ้านเพื่อปลูกอ้อยตั้งแต่ปี 2551
คดีนี้ นางฮอย ไม (Hoy Mai) และ นายสมิน เต็ต (Smin Tet) เป็นตัวแทนของชาวกัมพูชากว่า 700 ครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบจากการทำกิจการของบริษัท อังกอร์ชูการ์ ซึ่งเป็นตัวแทนของบริษัทมิตรผลในกัมพูชา ยื่นฟ้องต่อศาลแพ่งกรุงเทพใต้เมื่อวันที่ 28 มี.ค. 2561 ขอให้ศาลมีคำสั่งรับดำเนินกระบวนการพิจารณาคดีแบบกลุ่ม เพื่อเรียกร้องให้บริษัทเยียวยาความเสียหายจากการถูกยึดที่ทำกินและเผาทำลายบ้านเรือนและทรัพย์สินเพื่อนำที่ดินไปทำไร่อ้อยและสร้างโรงงานน้ำตาล
ทั้งนี้ชาวกัมพูชาทั้งสองคนได้ขอความช่วยเหลือจากองค์กรพัฒนาเอกชนในประเทศกัมพูชา ซึ่งได้ประสานต่อมายังมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชนและสมาคมนักกฎหมายคุ้มครองสิทธิและสิ่งแวดล้อมในประเทศไทยเพื่อให้ช่วยดำเนินการฟ้องคดีแบบกลุ่มต่อบริษัทไทยที่ลงทุนข้ามพรมแดน
ทั้งนี้ การดำเนินคดีแบบกลุ่ม (class action) เป็นกรณีที่มีผู้เสียหายหลายคนในเหตุการณ์เดียวกัน ซึ่งกฎหมายการฟ้องคดีแบบกลุ่มอนุญาตให้มีบุคคลใดบุคคลหนึ่งในกลุ่มของผู้เสียหายมาฟ้องคดี และขอให้ศาลดำเนินคดีแบบกลุ่ม เมื่อตัวแทนมาฟ้องคดีแล้ว ถ้าชนะคดี คำพิพากษาจะมีผลรวมไปถึงคนอื่นด้วย โดยประเทศไทยเริ่มมีกฎหมายให้ใช้การดำเนินคดีดังกล่าวเมื่อปี 2558 เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
ในคำฟ้องระบุว่า กลุ่มน้ำตาลมิตรผลของไทยตั้งบริษัทตัวแทนที่กัมพูชาเพื่อรับสัมปทานในการปลูกอ้อยจากรัฐบาลกัมพูชา ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีชาวบ้านทำกินอยู่ก่อนแล้ว 5 หมู่บ้าน ใน อ.สำโรง จ.โอดอร์ เมียนเจย์ แต่มีการใช้กำลังบุกรุกเข้าไปขับไล่ชาวบ้าน ทำให้ไม่มีที่ดินทำกินเป็นเวลาร่วมสิบปี
ต่อมาเมื่อวันที่ 4 ก.ค. ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่อนุญาตให้รับพิจารณาคดีนี้เป็นคดีแบบกลุ่ม เนื่องจากเห็นว่า โจทก์ซึ่งเป็นชาวกัมพูชาไม่สามารถสื่อสารกับทนายโจทก์เป็นภาษาไทยและภาษาอังกฤษได้ อีกทั้งที่เกิดเหตุในกัมพูชาเป็นพื้นที่ห่างไกลไม่สามารถเดินทางไปได้ง่ายในการจัดส่งหมายศาล
โจทก์ทั้งสองได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นและในวันนี้ศาลอุทธรณ์ได้มีคำสั่งรับฟ้องคดีแบบกลุ่ม
ที่มาของภาพ, AFP/Getty Images
นางสาวส.รัตนฒณี พลกล้า ทนายความและผู้ประสานงานมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน ซึ่งให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่โจทก์ชาวกัมพูชาในคดีนี้ กล่าวว่า ศาลอุทรณ์ได้ยืนยันหลักการเรื่องของการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมของเหยื่อในลักษณะเป็นกลุ่ม
"คดีนี้ เหยื่อเป็นชาวบ้านที่ยากจน หากไม่มีองค์กรพัฒนาเอกชนมาให้ความช่วยเหลือเพื่อนำคดีมาฟ้องต่อศาลไทยเป็นลักษณะคดีแบบกลุ่ม ก็มองไม่เห็นทางว่าชาวบ้านเหล่านั้นจะได้รับความยุติธรรมได้อย่างไร" เธอกล่าวและระบุว่ากระบวนการต่อจากนี้จะต้องมีการทำเอกสารสำนวนภายใน 30 วัน และตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ให้แพร่หลายทั้งในประเทศไทยและกัมพูชา
ทนายความให้ข้อมูลด้วยว่า วันนี้ไม่มีทนายความตัวแทนของบริษัทมารับฟังคำสั่งศาล ส่วน บ. อังกอร์ชูการ์ที่ถูกกล่าวหาก็ได้ปิดกิจการและถอนตัวออกไปจากพื้นที่แล้ว แต่ชาวบ้านยังไม่ได้รับการเยียวยาใด ๆ
คดีแรก
ก่อนหน้านี้ นางสาว ส.รัตนมณี เปิดเผยกับบีบีซีไทยว่า คดีนี้นับเป็นคดีแรกที่มีการฟ้องคดีแบบกลุ่มต่อบริษัทข้ามชาติไทยที่ลงทุนและสร้างผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชนในต่างประเทศ
"ประเด็นที่ท้าทายคือการละเมิดสิทธิในต่างประเทศ โดยบริษัทซึ่งเราเชื่อว่าเป็นบริษัทตัวแทน เพราะฉะนั้นมันซ้อนกันอยู่ทั้งเรื่องการละเมิดสิทธิในต่างประเทศ และเป็นการกระทำของบริษัทมิตรผล เพราะมิตรผลไม่ได้ไปทำโดยตรง" นางสาว ส.รัตนมณี กล่าว
"มิตรผล" ยืนยันทำทุกอย่างถูกต้องตามกฎหมาย
หลังจากมีการฟ้องคดีเมื่อปี 2561 บริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด ได้ชี้แจงกับบีบีซีไทยผ่านอีเมลระบุว่า ในโครงการนี้ มิตรผลเข้าไปลงทุนด้วยความร่วมมือกับรัฐบาลกัมพูชา และได้รับสัมปทานชั่วคราวจากรัฐบาลอย่างถูกต้องตามกฎหมายระดับประเทศและระดับท้องถิ่น อีกทั้งยังได้รับการยืนยันจากเจ้าหน้าที่รัฐว่าพื้นที่สัมปทานชั่วคราวนั้นได้มาอย่างโปร่งใสและถูกต้องตามกฎหมาย
ทั้งนี้ มิตรผล เป็นผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่ที่สุดในประเทศและอันดับ 5 ของโลก โดยมีนายอิสระ ว่องกุศลกิจ เป็นประธานกรรมการกลุ่มมิตรผล และเป็นมหาเศรษฐีไทยอันดับที่ 22 จากการจัดอันดับของ Forbes ในปี 2560 อีกทั้งยังเป็นอดีตประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย
ในรายงานของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ที่ได้รับเรื่องร้องเรียนในกรณีนี้ ได้ระบุคำกล่าวอ้างของชาวบ้านว่าบริษัทตัวแทนของมิตรผลได้มีการยึดครองที่ดินของคนในท้องถิ่นอย่างผิดกฎหมาย โดยการพังทลายบ้านเรือนและฆ่าสัตว์เลี้ยงของชาวบ้าน มีการลอบวางเพลิงหมู่บ้าน และการทำลายพืชพันธุ์ธัญญาหารเสียหาย
คำชี้แจงของมิตรผลต่อ กสม. ระบุว่า โครงการลงทุนของกลุ่มมิตรผลในกัมพูชา ได้ลงทุนโดยตรง 1 บริษัท และลงทุนรวมกับบริษัทอื่นอีก 2 บริษัท โดยได้รับสัมปทานที่ดินประมาณ 110,000 ไร่ ทั้งนี้ กลุ่มมิตรผลไม่สนับสนุนการบุกรุกพื้นที่ครอบครองของผู้อื่น รวมทั้งการบังคับไล่ที่หรือการทำลายทรัพย์สินของผู้ใด และการลงทุนของกลุ่มมิตรผลในประเทศกัมพูชาได้ดำเนินการถูกต้องตามกฎหมายของประเทศกัมพูชาทุกขั้นตอน รวมทั้งยังสอดคล้องกับหลักการชี้แนะแห่งสหประชาชาติด้านธุรกิจและสิทธิมนุษยชน โดยข้อตกลงตามสัญญานั้น รัฐบาลกัมพูชาจะเป็นผู้ทำการสำรวจและจัดสรรที่ดินสัมปทานเพื่อการเกษตรให้แก่กลุ่มมิตรผล และหากจำเป็นต้องมีการเวนคืนที่ดิน เจ้าหน้าที่ของรัฐจะเป็นผู้เจรจาจนได้ข้อยุติ
ต่อมา มิตรผลตัดสินใจที่จะยุติโครงการดังกล่าวในปี 2557 และได้คืนพื้นที่สัมปทานให้แก่รัฐบาล และทางมิตรผลได้แนะนำให้นำพื้นที่นั้นคืนให้แก่ชุมชน แต่ทนายของชาวบ้านบอกว่า ชาวบ้านส่วนใหญ่ยังไม่ได้รับที่ดินคืนจากรัฐบาล

แรงงานเมียนมาเล่าสภาพการทำงานบนเรือประมงไทย ขณะ ยูเอ็นลงพื้นที่สำรวจสภาพการทำงานของแรงงานข้ามชาติ
แรงงานประมงเมียนมากล่าวหานายจ้างไทยให้ทำงานวันละ 19 ชั่วโมง กับเงินเดือน 4 พันบาท แล้วให้เงินชดเชยเพียง 1 หมื่นบาทกับแขนซ้ายที่เสียไปจากอุบัติเหตุขณะลากอวนขึ้นจากทะเล