กัญชา: รัฐบาล-สนช. จะผ่านกฎหมายปลดล็อกกัญชาเป็นของขวัญปีใหม่ให้คนไทย

ที่มาของภาพ, Getty Images
รัฐบาลเร่งปลดล็อกกฎหมายใช้กัญชาทางการแพทย์ วิป สนช.คาดว่าน่าจะเป็น "ของขวัญปีใหม่แก่ประชาชน" ได้ โดยจะเร่งรีบหารือกับรัฐบาลและบรรจุเข้าในวาระเพื่อพิจารณาต่อไป
เมื่อวันที่ 7 ตค. นายแพทย์เจตน์ ศิรธรานนท์ และนายยุทธนา ทัพเจริญ โฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ วิปสนช. แถลงว่าได้บรรจุพระราชบัญญัติยาเสพติด (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ไว้ในวาระการประชุมของสนช.แล้ว ซึ่งร่างพรบ.ดังกล่าวเป็นร่างที่เสนอโดยนายสมชาย แสวงการและคณะ เพื่อจะให้สามารถนำเอากัญชาไปใช้ประโยชน์ในทางการแพทย์ได้
นายสมชาย แสวงการ เลขานุการคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (วิป สนช.) กล่าวในวันนี้ว่าได้รับการประสานกับจากทางรัฐบาลว่า นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รมว.สาธารณสุขจะรับร่างที่สนช. ไปศึกษาและให้ คณะรัฐมนตรีพิจารณาในวันที่อังคารหน้า และถ้าครม.เห็นชอบแล้ว วิปก็จะนำเข้าบรรจุเป็นวาระเป็นทางการเพื่อพิจารณาในสัปดาห์ถัดไป
ที่มาของภาพ, AFP/Getty Images
เจ้าหน้าที่ช่างน้ำหนักกัญชาที่โรงงานผลิตในอิสราเอล ซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศที่อนุญาตให้ใช้กัญชาเพื่อการแพทย์ได้
"โดยทางสนช. อยากจะทำให้เสร็จ เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ให้แก่คนไทย เพราะว่าก่อนหน้าก็ได้ประสานกับญาติผู้ป่วยเป็นมะเร็ง ก็เห็นว่ากฎหมายนี้เป็นสิ่งที่มีประโยชน์" นายสมชายกล่าว
ส่วนวันที่ 6 พย. พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี และรมว.ยุติธรรม แถลงหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีว่าในวันที่ 13 พย. ครม. จะพิจารณาร่างพระราชบัญญัติยาเสพติด (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... นี้ก่อนที่จะเข้าสู่การพิจารณาของสนช. โดยที่ก่อนหน้านี้รัฐบาลได้ส่งร่าง พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ เข้าสู่ สนช. เมื่อเดือน ก.ค. ไปแล้ว ซึ่งสนช.ได้ตั้งกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างดังกล่าวไปรวม 180 วันด้วยกัน แต่สนช. ได้พิจารณายกร่างพรบ.ว่าด้วยการนำกัญชามาใช้ประโยชน์ในการแพทย์เป็นการเฉพาะ ซึ่งก็คือร่างของนายสมชายและคณะที่สั้นกว่ามากและมีเพียงไม่กี่มาตรา เนื่องจากเห็นว่าร่างพ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษอาจจะใช้เวลาเนิ่นนานเกินไป
ก่อนหน้านี้
ที่มาของภาพ, AFP/Getty Images
เจ้าหน้าที่เตรียมเผาทำลายกัญชาของกลางที่ จ. พระนครศรีอยุธยา เมื่อปี 2550
ขณะที่ในเดือนพค. ที่ผ่านมา ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบประมวลกฎหมายยาเสพติดฉบับใหม่ ซึ่งจะเปิดช่องให้ใช้กัญชาเพื่อการศึกษาวิจัยกับมนุษย์ได้เป็นครั้งแรก ก่อนเสนอให้สภานิติบัญญัติพิจารณาต่อไป
นักวิจัยและผู้ผลิตสารสกัดกัญชาเพื่อการแพทย์ เชื่อว่าข้อกำหนดใหม่นี้จะเป็นประโยชน์ต่อการวิจัยและการแพทย์ไทย ขณะที่องค์การเภสัชกรรมวางแผนจะปรับปรุงอาคารเพื่อเตรียมปลูกและวิจัยกัญชา
ร่างกฎหมายนี้ ยังกำหนดให้ รมว. กระทรวงสาธารณสุข มีอำนาจพิจารณาและอนุญาตให้ใช้กัญชาเพื่อการแพทย์ได้ ขณะที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) จะสามารถทดสอบยาเสพติดและกำหนดพื้นที่เพื่อทดลองปลูกพืชเสพติดได้
นอกจากนี้ ร่างกฎหมายใหม่ยังเปลี่ยนแนวทางการรับมือกับผู้กระทำความผิดฐานเสพยาเสพติด ซึ่งหากสมัครใจเข้ารับการบำบัดรักษาจนหาย ก็สามารถพ้นความผิดและไม่ต้องถูกดำเนินคดี
นักวิจัยตอบรับ
ทีมนักวิจัยที่คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ได้ทำการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับกัญชาตลอดช่วงปีที่ผ่านมา แต่พวกเขาสามารถทดลองได้เพียงในหลอดทดลองและกับสัตว์เท่านั้น เนื่องจากกฎหมายไม่อนุญาตให้ทดลองกับมนุษย์
"กฎหมายปัจจุบัน ยังไม่มีการอนุญาตให้นำมาใช้ในทางการแพทย์ ซึ่งมีโทษทางอาญากับผู้เสพและผู้ครอบครอง จึงเป็นอุปสรรคอย่างมากสำหรับการศึกษาวิจัยกัญชา" รศ.ดร. ภญ. นริศา คำแก่น ผู้อำนวยการฝ่ายเภสัชกรรมสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ ม.รังสิต กล่าวกับบีบีซีไทยผ่านทางอีเมล
ที่มาของภาพ, Getty Images
การใช้กัญชาเพื่อจุดประสงค์นอกเหนือการแพทย์นั้นยังได้รับการคัดค้านจากคนไม่น้อย
ตามความเห็นของ รศ.ดร. ภญ. นริศา คำแก่น หัวหน้าโครงการวิจัยและพัฒนากัญชาเพื่อใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ การเปลี่ยนแปลงกฎหมายให้ทดลองกับมนุษย์ได้นี้ จะช่วยให้การทำงานวิจัยเกี่ยวกับกัญชาสามารถดำเนินการได้ครบถ้วนตามระเบียบวิธีวิจัยของการค้นพบยาใหม่ (Novel Drug Discovery)
ร่างประมวลกฎหมายใหม่จะกำหนดให้ใช้ยาเสพติดให้โทษ ประเภท 5 เพื่อการรักษาโรคหรือเพื่อการศึกษาวิจัยได้ ซึ่งเลขาธิการ ป.ป.ส. อธิบายเมื่อวานนี้ด้วยว่านอกจากกัญชาแล้ว จะนับรวมถึง กัญชง กระท่อม และฝิ่น ตามรายงานของสำนักข่าวไทย
ทั้งนี้ กัญชามีสาร 2 ชนิดหลักที่ถูกนำมาใช้เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ ได้แก่ 1. สาร CBD (Cannabidiol) ซึ่งมีฤทธิ์ลดอาการคลื่นไส้อาเจียนและการบวมอักเสบของแผล 2. สาร THC (Tetrahydrocannabinol) ซึ่งมีคุณสมบัติช่วยให้ความรู้สึกผ่อนคลายและลดอาการปวด
หนึ่งในโครงการวิจัยที่ รศ.ดร. ภญ. นริศา ดูแลคือการพัฒนาสเปรย์ฉีดพ่นในช่องปากจากสารสกัดกัญชา ซึ่งต้องใช้กัญชาของกลาง 40 กิโลกรัมที่คดีสิ้นสุดแล้ว จากกองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด แต่หากกัญชาร่างกฎหมายใหม่เริ่มประกาศใช้แล้ว มหาวิทยาลัยก็มีแผนจะทำแปลงปลูกในระบบปิด เพื่อควบคุมคุณภาพมาตรฐาน ความสม่ำเสมอของสารสำคัญ รวมทั้ง ปราศจากสิ่งปนเปื้อน เช่น สารฆ่าแมลง โลหะหนัก และเชื้อจุลินทรีย์
ที่มาของภาพ, Wasawat Lukharang/BBC Thai
ผู้ป่วยโรคสมองพิการและผู้ปกครอง ขณะรอรับสารสกัดกัญชาในคลินิคแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ
เครือข่ายผู้ใช้สารสกัดกัญชา
นายบัณฑูร นิยมาภา ผู้ริเริ่ม "เครือข่ายที่ช่วยรักษาผู้ป่วยด้วยสารสกัดกัญชา" ซึ่งร่วมกับแพทย์แจกจำหน่ายสารสกัดจากกัญชาให้ผู้ป่วยในไทยจำนวนหลายร้อยคนในช่วงหลายปีที่ผ่านมา กล่าวถึงมติ ครม. เมื่อวานนี้ว่า "ดีกว่าไม่ทำอะไรเลย"
ปัจจุบันนายบัณฑูรย้ายไปอาศัยอยู่ที่ สปป. ลาว ซึ่งเขากล่าวว่ากำลังทำงานร่วมกับรัฐบาลลาว ดำเนินการสกัดกัญชาเพื่อใช้ทางการแพทย์อย่างถูกต้องตามกฎหมายในรูปแบบโครงการนำร่อง ซึ่งมีโรงพยาบาลทั้งรัฐและเอกชนรองรับ
"ผมอยากทำเป็นโมเดลให้รัฐบาลไทยเขาดูบ้างว่ามันไม่ต้องใช้เงินทุน ลาวไม่ต้องกู้เงินเพราะของก็มีอยู่แล้วในประเทศเขา ในไทยก็มีแต่คุณไม่นำมาใช้" เขากล่าวกับบีบีซีไทย
ในความเห็นของเขาประเทศไทยกำลังสูญเสียผลประโยชน์มูลค่านับแสนล้านบาท ในทุกขณะที่ไทยยังไม่เปิดให้มีการรักษาด้วยกัญชาอย่างถูกกฎหมาย ซึ่งเป็นสิ่งที่เขาเรียกร้องมาโดยตลอด
ปัจจุบัน กฎหมายของ สปป. ลาว ยังกำหนดให้การครอบครอง ผลิต หรือขายกัญชามีโทษตั้งแต่ปรับจนถึงจำคุก แต่นายบัณฑูรอ้างว่าในอีกราว 3 เดือนข้างหน้า ประเทศลาวจะถอนกัญชาออกจากรายชื่อยาเสพติด เป็นประเทศแรกในอาเซียน
ที่มาของภาพ, Wasawat Lukharang/BBC Thai
นายบัณฑูร นิยมาภา หรือ "ลุงตู้"
องค์การเภสัชฯ เตรียมปลูกกัญชา
เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่บริหารจากกระทรวงสาธารณสุข และหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการพิจารณาการนำกัญชามาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ ซึ่งเป็นการประชุมครั้งแรก
นพ. โสภณ เมฆธน ประธานคณะกรรมการองค์การเภสัชกรรม กล่าวถึงแนวทางที่จะนำกัญชามาใช้เพื่อการแพทย์ว่า เบื้องต้นจะเริ่มศึกษาเกี่ยวกับการนำมาใช้กับโรคที่มีผลวิจัยจากต่างประเทศรองรับ เช่น โรคลมชัก โรคพาร์กินสัน และโรคมะเร็งระยะสุดท้าย
หลังจากนั้นอีกคณะทำงานจะทำหน้าที่ศึกษาด้านการปลูกและปรับปรุงสายพันธุ์ โดยจะปรับปรุงอาคารขององค์การเภสัชกรรมเป็นสถานที่ปลูกและวิจัยในระบบปิด คาดว่าจะได้กัญชาแห้ง 500 กก. ต่อปี ซึ่งจะเร่งดำเนินการให้เร็วที่สุด เนื่องจากต้องการให้ได้สารสกัดจากกัญชามาใช้ในมนุษย์ได้ทันที หลังจากประมวลกฎหมายยาเสพติดนี้ประกาศใช้
"อย่างไรก็ตาม ข้อสำคัญคือ การวางแนวทางในการควบคุม ซึ่งทาง อย. จะร่วมกับคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดในการวางระบบ เพื่อไม่ให้การเกิดนำไปใช้ประโยชน์นอกเหนือจากการแพทย์โดยเด็ดขาด" นายแพทย์โสภณกล่าว
ที่มาของภาพ, Wasawat Lukharang/BBC Thai
นายศิรินทร์ยา สิทธิชัย เลขาธิการ ป.ป.ส.
ปัจจุบันกฎหมายยาเสพติดของไทยอนุญาตให้ครอบครองกัญชาเพื่อการศึกษาวิจัยได้ แต่ต้องได้รับอนุญาตจากกระทรวงสาธารณสุข และไม่อนุญาตให้ใช้กับมนุษย์
ประมวลกฎหมายยาเสพติดที่คณะกรรมการ ป.ป.ส. เสนอให้ ครม. พิจารณาและได้รับการเห็นชอบเมื่อวานนี้ จะแก้ไขให้สามารถวิจัยกับคนได้
หลังจากนี้เมื่อ สนช. พิจารณาแล้วเสร็จก็จะสามารถบังคับใช้ได้ใน 180 วันหลังจากประกาศราชกิจจานุเบกษา ซึ่งเมื่อประกาศใช้จริง รมว. สาธารณสุข จะมีสิทธิ์พิจารณาอนุญาตให้ใช้กัญชาเพื่อการแพทย์ได้อีกด้วย
"ผู้เสพ คือ ผู้ป่วย"
ก่อนหน้านี้ นายศิรินทร์ยา สิทธิชัย เลขาธิการ ป.ป.ส. กล่าวกับบีบีซีไทยว่า การประชุมสมัชชาสหประชาชาติสมัยพิเศษว่าด้วยปัญหายาเสพติดโลก (UNGASS) เมื่อปี 2559 เป็นหนึ่งปัจจัยที่ทำให้แนวทางการแก้ปัญหายาเสพติดของไทยเปลี่ยนไป จากเดิมที่มุ่งเน้นการปราบปรามและลงโทษ
ถึงแม้ตามร่างกฎหมายใหม่นี้ การเสพยาเสพติดยังคงถือเป็นความผิดอาญา แต่หากผู้เสพสมัครใจเข้ารับการรักษาจนได้รับการรับรองจากสถานบำบัดแล้ว ก็จะสามารถพ้นความผิดและไม่ต้องถูกดำเนินคดี
เลขาธิการ ป.ป.ส. คาดว่านั่นจะช่วยลดจำนวนผู้ต้องขังในฐานเสพยาเสพติดได้ราว 7 หมื่นคนต่อปี และมีส่วนช่วยลดประชากรในเรือนจำที่มีสภาพแออัดอยู่แล้ว
นายศิรินทร์ยา กล่าวถึงแนวทางการแก้ปัญหายาเสพติดของไทยว่า "ผู้เสพ คือ ผู้ป่วย" และเรือนจำไม่ใช่สถานที่บำบัดผู้ติดยาเสพติดซึ่งควรได้รับการดูแลจากแพทย์
"เราไม่ต้องการลงโทษผู้ที่เป็นเหยื่อซึ่งเข้าไปติดอยู่ในวังวนของยาเสพติด เราต้องการลงโทษคนผิด คนค้า คนลงทุน แต่ผู้เสพนั้นเป็นเหยื่อ" เลขาธิการ ป.ป.ส. กล่าว "เราต้องการให้คนกลุ่มที่หลงผิดนี้สามารถกลับสู่ชุมชนได้"