ถ้ำหลวง: นักดำน้ำที่ช่วยทีมหมูป่าออกมาจากอย่างปลอดภัย

เจ้าหน้าที่กู้ภัยซึ่งร่วมปฏิบัติการช่วยชีวิตกลุ่มเด็กและผู้ฝึกสอนทีมฟุตบอลหมูป่าอะคาเดมีที่ติดอยู่ในถ้ำหลวงของไทย ประกอบด้วยนักด้ำน้ำจากต่างประเทศหลายคนที่ร่วมมือกับหน่วยซีลของกองทัพเรือไทย
เด็ก 12 คน และผู้ฝึกสอนถูกพบครั้งแรกโดยนักดำน้ำชาวอังกฤษ แต่ความพยายามในการนำตัวพวกเขาออกมาจากถ้ำ กลายเป็นความพยายามของคนทั้งโลก
นักดำน้ำของกองทัพเรือไทยหลายนายเข้าร่วมในปฏิบัติการกู้ภัยครั้งนี้ โดย จ.อ. สมาน กุนัน อดีตนักดำน้ำของกองทัพเรือ ได้เสียชีวิตภายในถ้ำเมื่อวันศุกร์ที่แล้ว
- ถ้ำหลวง: ภารกิจพาทีมหมูป่ากลับบ้านสำเร็จ
- ภารกิจถ้ำหลวง: เกิดอะไรขึ้นบ้างหลังจากทีมฟุตบอลหมูป่าติดอยู่ในถ้ำ
ที่ผ่านมา แทบไม่มีข้อมูลเผยแพร่ออกมาเกี่ยวกับคนที่เข้าร่วมปฏิบัติการครั้งนี้ และมีจำนวนมากแค่ไหน เพราะผู้เข้าร่วมปฏิบัติการส่วนใหญ่ไม่สะดวกใจที่จะพูดคุยถึงเรื่องนี้
คาดว่ามีนักดำน้ำหลายสิบคนทั้งชาวไทยและต่างชาติเข้าร่วมปฏิบัติการครั้งนี้ นักดำน้ำเหล่านี้เป็นเพียงส่วนหนึ่ง
หน่วยซีลกองทัพเรือไทย
กองกำลังพิเศษของไทยเป็นส่วนหนึ่งของปฏิบัติการกู้ภัยครั้งนี้ ผู้ที่ถูกกล่าวถึงมากที่สุดคือ พ.ท. นพ. ภาคย์ โลหารชุน และนักดำน้ำหน่วยซีลอีก 3 นายที่ยังไม่มีการเปิดเผยชื่อ พวกเขาอาสาเข้าไปอยู่เคียงข้างเด็ก ๆ หลังจากที่กลุ่มเด็ก ๆ ถูกพบตัวเมื่อ 1 สัปดาห์ก่อน
ในวิดีโอ ที่เผยแพร่ทางเพจ Thai Navy SEAL ทางเฟซบุ๊กเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว มีภาพของ พ.ท. นพ. ภาคย์ กำลังทายาให้แก่เด็กชายคนหนึ่ง
พวกเขาทั้ง 4 คน เป็นคนกลุ่มสุดท้ายที่ออกจากถ้ำหลวงเมื่อคืนวันอังคารที่ผ่านมา
ผู้บัญชาการหน่วยซีลของกองทัพเรือไทยได้แก่ พล.ร.ต. อาภากร อยู่คงแก้ว
ในช่วงที่นักดำน้ำยังคงพยายามค้นหาเด็ก ๆ พล.ร.ต. อาภากร เป็นผู้ที่คอยให้ข้อมูลล่าสุดแก่บรรดาผู้สื่อข่าวเกี่ยวกับความคืบหน้าของปฏิบัติการค้นหา
จอห์น โวลันเธน และ ริชาร์ด สแตนตัน
เสียงของจอห์น โวลันเธน เป็นเสียงแรกที่กลุ่มเด็ก ๆ และโค้ช ได้ยินจากคนภายนอก หลังจากติดอยู่ใต้ดินนาน 9 วัน
ทางการไทยได้ขอให้เขาและสแตนตัน เพื่อนนักดำน้ำชาวอังกฤษ พร้อมกับโรเบิร์ต ฮาร์เปอร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านถ้ำชาวอังกฤษ ให้เข้ามาช่วยปฏิบัติการ
ทั้ง 3 คน เดินทางถึงประเทศไทย 3 วันหลังจากที่ทีมหมูป่าหายเข้าไปในถ้ำ

โวลันเธน เป็นที่ปรึกษาด้านไอที ส่วนสแตนตัน เป็นอดีตนักดับเพลิง พวกเขาเป็นส่วนหนึ่งของคณะช่วยเหลือผู้ติดถ้ำในเวลส์ตอนกลางและตอนใต้
พวกเขาเข้าร่วมปฏิบัติการกู้ภัยที่ต้องดำน้ำภายในถ้ำมาแล้วหลายครั้ง รวมถึงในนอร์เวย์, ฝรั่งเศส และเม็กซิโก
ริชาร์ด แฮร์ริส
นพ. แฮร์ริส ซึ่งมาจากแอดิเลด ในออสเตรเลีย มีประสบการณ์ดำน้ำนานหลายสิบปี เขาเป็นหนึ่งในผู้ที่ตรวจสภาพร่างกายของเด็ก ๆ ในถ้ำ และพิจารณาว่าจะให้เดินหน้าปฏิบัติการกู้ภัยหรือไม่
ถ้าเด็กอ่อนแอเกินไป ความพยายามกู้ภัยด้วยการพาพวกเขาดำน้ำออกมาอาจจะอันตรายเกินไป
ตามรายงานของสื่อต่าง ๆ นพ. แฮร์ริส เคยเข้าร่วมปฏิบัติการดำน้ำสำรวจถ้ำทั้งในออสเตรเลีย, จีน, เกาะคริสต์มาส และนิวซีแลนด์ เขาได้รับการฝึกอบรมให้เป็นวิสัญญีแพทย์ และมีความเชี่ยวชาญในการปฏิบัติการช่วยชีวิต และการช่วยเหลือคณะเดินทาง
ในปี 2011 เขากู้ศพของแอกเนส มิโลวกา นักดำน้ำภายในถ้ำที่มีประสบการณ์ ซึ่งเป็นเพื่อนของเขาเอง หลังจากที่เธอเสียชีวิต เพราะอากาศหมดในช่วงดำน้ำสำรวจถ้ำที่มีความยากลำบากอย่างมากในรัฐเซาท์ออสเตรเลีย
คาดว่า การที่เขาเข้ามาช่วยภารกิจกู้ภัยในประเทศไทยครั้งนี้ เป็นการร้องขอเป็นการเฉพาะจากนักดำน้ำชาวอังกฤษ
สมาน กุนัน
จ.อ. สมาน กุนัน วัย 38 ปี เป็นอดีตนักดำน้ำของกองทัพเรือไทย ที่อาสาเข้ามาช่วยภารกิจกู้ภัยในครั้งนี้
เขาหมดสติระหว่างดำน้ำออกมาจากถ้ำ หลังจากได้นำถังอากาศเข้าไปส่งเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม ที่ผ่านมา

ผู้ที่ดำน้ำไปพร้อมกับเขา พยายามที่จะช่วยให้เขาฟื้นคืนสติ แต่ไม่สามารถช่วยเหลือได้ จากนั้นจึงได้มีการนำศพของ จ.อ. สมาน ออกมาจากถ้ำ
ภรรยาของเขา กล่าวกับ บีบีซีไทย ว่า "เขาได้คำว่า ฮีโร ด้วยนิสัยของเขาเอง คือ ชอบช่วย ชอบอาสา และต้องทำให้เสร็จ"
พล.ร.ต. อาภากร กล่าวว่า เขาจะไม่ทำให้ชีวิตของ จ.อ. สมาน ต้องสูญเปล่า
"กำลังพลของเรายังคงฮึกเหิม พี่น้องที่เสียชีวิตไปจะไม่ให้เสียเปล่า" พล.ร.ต. อาภากร กล่าว
เบน เรย์เมนันต์ส
เบน เรย์เมนันต์ส ชาวเบลเยียม เขาเปิดร้านดำน้ำใน จ.ภูเก็ต คาดว่าเขาเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มนักดำน้ำที่พบเด็ก ๆ เป็นกลุ่มแรก
เคลาส์ แรสมูส์เซิน
เคลาส์ แรสมูส์เซิน เป็นชาวเดนมาร์ก ที่ใช้ชีวิตอยู่ในประเทศไทยมานานหลายปี และทำงานที่โรงเรียนสอนดำน้ำหลายแห่ง
ปัจจุบัน เขาเป็นครูสอนดำน้ำที่บริษัท บลู ลาเบิล ไดฟ์วิง ของเบน เรย์เมนันต์ส
เขาเคยดำน้ำมาแล้วทั่วเอเชีย และยังทำงานในหลายประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วย
มิกโค พาซี
มิกโค พาซี ชาวฟินแลนด์ เป็นผู้ก่อตั้งศูนย์ดำน้ำแห่งหนึ่งบนเกาะเต่าของไทย ซึ่งเป็นที่ที่เขามีความเชี่ยวชาญในการดำน้ำแบบพิเศษ (technical diving)
นั่นหมายความว่า การดำน้ำของเขามุ่งเน้นไปที่การดำน้ำภายในถ้ำและสำรวจซากใต้น้ำ
เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม วันที่เด็ก ๆ และผู้ฝึกสอนถูกพบตัว ภรรยาของมิกโคโพสต์เฟซบุ๊กว่า เธอซื้อตั๋วเครื่องบินให้สามีเดินทางไปเชียงราย เพื่อร่วมภารกิจกู้ภัย โดยวันนั้นเป็นวันครบรอบ 8 ปี การแต่งงานของพวกเขา
อีวาน คาราจิทช์
อีวาน คาราจิทช์ ชาวเดนมาร์ก ย้ายมาอยู่เกาะเต่าหลังพาซีได้ 2-3 ปี และขณะนี้พวกเขาเปิดศูนย์ดำน้ำด้วยกัน
เขากล่าวกับ บีบีซี ถึงความกลัวของเขาเมื่อเห็นเด็กชายคนแรกและนักดำน้ำที่กำลังเดินมาทางเขา โดยไม่รู้ว่าเด็กยังมีชีวิตอยู่หรือไม่ แต่เมื่อเข้ามาใกล้ เขาก็รู้สึกผ่อนคลายลงเมื่อรู้ว่าเด็กยังปลอดภัยดี

การเสียชีวิตของ จ.อ. สมาน ในช่วงท้ายของภารกิจกู้ภัย คาราจิทช์ ได้โพสต์ข้อความทางเฟซบุ๊กว่า "ขอให้ไปสู่สุคติ คุณคือวีรบุรุษ เราจะไม่มีวันลืมความเสียสละของคุณ"
เอริก บราวน์
เอริก บราวน์ เป็นชาวแคนาดา เขาเป็นครูสอนดำน้ำแบบพิเศษ (technical diving) จากแวนคูเวอร์
เขาเริ่มดำน้ำเมื่อกว่า 10 ปีก่อน และร่วมก่อตั้งโรงเรียน ทีม บลู อิมเมอร์ชัน โรงเรียนสอนดำน้ำแบบพิเศษ (technical diving) ในอียิปต์
เมื่อคืนวันอังคารที่ผ่านมา เขาโพสต์ข้อความทางเฟซบุ๊กว่า เขาได้ทำภารกิจดำน้ำแล้ว 7 ครั้งในช่วง 9 วันที่ผ่านมา ซึ่งคิดรวมเป็นเวลา 63 ชั่วโมงภายในถ้ำหลวง