สอบผู้ช่วยผู้พิพากษา: ทำไมต้องมีสนามใหญ่ เล็ก จิ๋ว
- ฐิติพล ปัญญาลิมปนันท์
- ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย

ที่มาของภาพ, BBC Thai
เมื่อต้นปีที่ผ่านมา เนติบัณฑิตผู้มีเป้าหมายจะประกอบวิชาชีพผู้พิพากษาหลายพันคน สมัครเข้าสอบคัดเลือกผู้ช่วยผู้พิพากษา ที่รู้จักกันในชื่อ "สนามใหญ่"
หลังจากอ่านหนังสือ ฝึกทำข้อสอบ รวมถึงเก็บประสบการณ์ในการทำงานด้านกฎหมายเป็นเวลานาน พวกเขาต้องใช้เวลารวมกว่า 12 ชั่วโมงในการทำข้อสอบจำนวน 29 ข้อ ซึ่งหากสามารถทำคะแนนได้เกินครึ่งก็จะถือว่าสอบผ่านข้อเขียนทันที
แต่การทำคะแนนได้เกินครึ่งหนึ่งนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะจากจำนวนผู้มีสิทธิ์สอบราว 7,000 คนในครั้งล่าสุด มีผู้สอบผ่านเพียง 33 คนเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม เส้นทางสู่ตำแหน่งผู้ช่วยผู้พิพากษา ไม่ได้มีเพียงการสอบสนามใหญ่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น
เนติบัณฑิตที่จบการศึกษาระดับปริญญาโทจากสถาบันที่สำนักคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.) รับรอง ยังสามารถเข้าสอบ "สนามเล็ก" ได้
ขณะที่เนติบัณฑิตที่มีปริญญาโท 2 ใบจากสถาบันในต่างประเทศที่ ก.ต. รับรองจะสามารถลงสอบใน "สนามจิ๋ว" ได้อีกด้วย
สนามจิ๋ว สนามสอบสำหรับคนจบนอก
ที่มาของภาพ, Wasawat Lukharang/BBC Thai
เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา การสอบสนามจิ๋วกลายเป็นที่พูดถึงในกลุ่มผู้สนใจอาชีพผู้พิพากษาอย่างมาก หลังจาก ผศ. อานนท์ มาเม้า ตั้งคำถามถึงความยุติธรรมในขั้นตอนการสอบคัดเลือก ผ่านข้อความบนเฟซบุ๊ก
ในข้อความดังกล่าว เขาเปรียบเทียบผลการสอบสนามจิ๋วครั้งล่าสุด ซึ่งมีผู้ผ่านข้อเขียนทั้งหมด 61 คนจากผู้สมัคร 275 คน หรือคิดเป็นราว 22% กับอัตราส่วนของสนามใหญ่ที่มีผู้สอบผ่านไม่ถึง 1%
"คำถามคือโอกาสในการสอบได้ ทำไมมันจึงต่างกันมากขนาดนั้น?" อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ เขียนในโพสต์ดังกล่าว
"และเมื่อยิ่งดูข้อสอบกฎหมายเทียบกันระหว่างสองสนาม ท่านก็จะเกิดคำถามว่า ทำไมข้อสอบสนามใหญ่จึงยากและซับซ้อนกว่าสนามจิ๋วอย่างมากจนเห็นได้ชัด?"
นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่การสอบสนามจิ๋วตกเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา ผศ.ดร.รณกรณ์ บุญมี อาจารย์จากคณะนิติศาสตร์ ม. ธรรมศาสตร์ อีกคนหนึ่งก็เคยออกมาแสดงความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้
"ในเชิงความเป็นจริงคือ คุณมีเงิน คุณไปเรียนต่างประเทศ คุณมีโอกาส ผมไม่ได้พูดถึงว่าเขาเก่งกว่าหรือไม่นะ ผมก็เรียนเมืองนอก ผมไม่ได้มีปัญหาในเรื่องนี้ ปัญหาเดียวของผมคือคนที่มีเงินมากกว่าทำไมถึงควรจะมีโอกาสมากกว่า ถ้าเก่งกว่าจริงทำไมไม่ให้มาสอบสนามเดียวกัน" ผศ.ดร. รณกรณ์ กล่าวกับบีบีซีไทย
"เราไม่ได้โจมตีว่าคนไปเรียนต่างประเทศไม่เก่งนะ แต่ระบบมันทำให้คนมีโอกาสไม่เท่ากัน"
เมื่อผ่านการคัดเลือกจากสนามใหญ่ เล็ก หรือจิ๋วแล้ว ผู้สมัครทุกคนจะต้องเข้าทำหน้าที่ผู้ช่วยผู้พิพากษาในรูปแบบเดียวกัน ทำให้หลายคนตั้งคำถามว่าการแบ่งประเภทการสอบนั้นจำเป็นแค่ไหน
"ถ้าบอกว่า ไม่ว่าคุณจะเข้ามาทางไหนแต่คุณก็ต้องไปกองอยู่ในตะกร้าเดียวกัน ถ้างั้นก็แสดงว่าการจบปริญญาตรีเมืองไทยก็ทำงานได้เหมือนคนที่จบปริญญาโทต่างประเทศ แล้วทำไมจะต้องมีการสอบหลายสนามที่มันแตกต่างกัน" เขากล่าว
ผศ.ดร.รณกรณ์ ยังตั้งข้อสังเกตด้วยว่า สังคมกฎหมายเป็นสังคมที่มีลักษณะอนุรักษ์นิยม มีความเกรงใจผู้อาวุโส จึงไม่ค่อยมีการวิจารณ์ผู้ที่มีตำแหน่งสูงกว่า และทำให้การวิพากษ์วิจารณ์ที่ผ่านมาเกิดขึ้นและเงียบหายไปในแต่ละครั้ง
สถิติการสอบผู้ช่วยผู้พิพากษา
ปี 2561
- สนามจิ๋ว มีสิทธิ์สอบ 275 ผ่านข้อเขียน 61
- สนามเล็ก มีสิทธิ์สอบ 3,082 ผ่านข้อเขียน 43
ปี 2560
- สนามใหญ่ มีสิทธิ์สอบ 7,014 ผ่านข้อเขียน 33
- สนามจิ๋ว มีสิทธิ์สอบ 348 ผ่านข้อเขียน 116
ปี 2559
- สนามเล็ก มีสิทธิ์สอบ 3,418 ผ่านข้อเขียน 28
ที่มา: สำนักคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม บีบีซีไทยรวมรวม
ต้นทุนทางเศรษฐกิจ
ในขณะที่ข้อสอบสนามใหญ่ 29 ข้อ มีคำถามภาษาอังกฤษ 2 ข้อ ซึ่งคิดเป็น 10 คะแนน ข้อสอบสนามจิ๋วมีเพียง 14 ข้อ โดยมีข้อสอบภาษาอังกฤษ 3 ข้อซึ่งคิดเป็น 60 คะแนน ทำให้เห็นได้ชัดเจนถึงปริมาณข้อสอบและการให้ความสำคัญของคะแนนด้านภาษาต่างประเทศในสนามจิ๋ว
นั่นเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้หลายคนมองว่า สนามจิ๋ว เป็นช่องทางที่ง่ายกว่า สำหรับผู้มีความพร้อมทางเศรษฐกิจ ทำให้มีโอกาสศึกษาต่อในระดับปริญญาโทในต่างประเทศได้ ขณะที่ผู้ที่ไม่มีทุนทรัพย์ต้องหาทุนการศึกษาเพื่อเรียนต่อในต่างประเทศด้วยตัวเอง หรือสอบในสนามใหญ่ซึ่งหลายคนเชื่อว่ายากกว่า
"ส่วนตัวเห็นว่าสนามจิ๋วมีความเหลื่อมล้ำ เลือกปฏิบัติชัดเจน คือเหมือนเปิดมาเพื่อเอื้อประโยชน์ให้คนที่มีต้นทุนทางเศรษฐกิจมากกว่า เพราะข้ออ้างทั้งหลาย เช่น ต้องการผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญกฎหมายเฉพาะด้าน ปริญญาโทไทยก็ตอบโจทย์ได้เหมือนกัน" อดีตนักศึกษานิติศาสตร์ผู้ไม่สงค์ออกนาม กล่าวกับบีบีซีไทย
"โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาดูว่าผู้ช่วยผู้พิพากษาต้องใช้กฎหมายไทยไทยตัดสินคดีอยู่แล้ว และเมื่อสอบเข้าไป ก็ไม่ได้บังคับสังกัดแผนกให้ตรงกับความรู้ที่เรียนมาอยู่ดี การบริหารงานภายในก็เลยยิ่งตอบคำถามเรื่องสนามจิ๋วไม่ได้"
ที่มาของภาพ, AFP/Getty Images
ขณะเดียวกัน ผู้ที่เคยเข้าสอบสนามใหญ่อีกรายหนึ่งที่ไม่ประสงค์ออกนาม บอกกับบีบีซีไทยว่า ในมุมมองของเขา สนามจิ๋วเป็นการเปิดโอกาสให้กับทั้งสองฝ่าย
"ผมเองก็คงตัดสินไม่ได้นะครับว่ามันเหมาะสมหรือไม่ แต่ผมเห็นว่ามันเป็นการเปิดโอกาสให้กับทั้งตัวผู้สอบ และหน่วยงานศาลเองด้วยนะครับ" เขากล่าว
"ตัวผู้สอบที่มีวุฒิการศึกษามากขึ้นก็มีโอกาสได้เข้าสอบเพิ่มขึ้น ตัวศาลเองก็มีโอกาสได้รับคนที่มีคุณสมบัติสูงขึ้นเหมือนกัน"
สนามจิ๋ว ในมุมมองสำนักงานศาลยุติธรรม
ที่มาของภาพ, BBC Thai
นายสราวุธ เบญจกุล เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม
การสอบสนามจิ๋วเกิดขึ้นหลังจากมีการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการสอบคัดเลือกผู้ช่วยผู้พิพากษาในปี 2543 จากเดิมที่มีเพียงสนามใหญ่และสนามเล็ก
นายสราวุธ เบญจกุล เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม เล่าถึงแนวคิดและเหตุผลที่ทำให้มีการสอบถึง 3 สนามในปัจจุบันว่า เป็นเพราะในอดีต การศึกษายังไม่ได้พัฒนาไปมากอย่างในปัจจุบัน ผู้สมัครส่วนมากจบปริญญาตรีและเนติบัณฑิต จึงมีการเปิดสอบสนามเล็กสำหรับผู้จบปริญญาโทและปริญญาเอก ซึ่งเป็นที่ต้องการขององค์กรในขณะนั้น และเมื่อบุคลากรในประเทศมีวุฒิปริญญาโทกันมากขึ้น จึงได้เปิดสนามจิ๋วสำหรับกลุ่มที่จบจากต่างประเทศในเวลาต่อมา
"เราก็พยายามจัดเครื่องมือในการสอบให้ตรงกับความรู้ความสามารถ เราตั้งประเด็นคำถามว่าคนที่จบต่างประเทศ เราอยากได้ความรู้ความสามารถเขาแบบไหน เราก็ต้องการคนที่มีความรู้ภาษาอังกฤษ ฉะนั้นสัดส่วนการวัดความรู้ภาษาต่างประเทศก็เป็นคะแนนที่สูงขึ้นจากอดีตที่ผ่านมา" นายสราวุธกล่าวกับบีบีซีไทย
ถึงแม้ข้อสอบแต่ละสนามจะมีจำนวนคำถามและน้ำหนักคะแนนต่างกัน เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม ยืนยันว่าไม่มีการได้เปรียบเสียเปรียบอย่างแน่นอน
"การได้เปรียบเสียเปรียบเนี่ย ผมยืนยันนะว่าการสอบผู้ช่วยผู้พิพากษาเนี่ย มีมาตรฐานและก็ไม่มีแต้มต่อ ไม่เคยมีว่าลูกผู้ใหญ่จะสอบได้ ลูกประธานศาลฎีกาสอบไม่ได้ยังมีเลย เพราะฉะนั้นลูกชาวบ้านตาสีตาสา ถ้าคุณมีความรู้ความสามารถจริง โอกาสในสนามนี้ เป็นระบบคุณธรรมอย่างแท้จริง ไม่มีเล่นพวก ไม่มีเล่นเส้น"
ที่มาของภาพ, Wasawat Lukharang/BBC Thai
หนึ่งในข้อเสนอของผู้วิพากษ์วิจารณ์ระบบการสอบคัดเลือกผู้ช่วยผู้พิพากษา คือการเปลี่ยนวิธีการสอบให้เหลือเพียงสนามเดียว อย่างไรก็ตามนายสราวุธไม่คิดว่านั่นจะช่วยให้ระบบการสอบมีประสิทธิภาพมากขึ้น
"ผมมองว่ามันเหมาะสมอยู่แล้วนะ มันไม่มีความจำเป็นอะไรที่ต้องทำให้เกิดแค่สนามเดียว โอกาสทางการศึกษาเป็นของทุกคน ถ้าเขาเรียนต่อจบปริญญาโท ปริญญาเอก เขาก็มาทั้งสนามเล็กสนามจิ๋วได้ แต่เราก็ต้องวัดคนในแต่ละกลุ่มที่คุณสมบัติแตกต่างกัน โดยคนละสนามกัน ไม่ใช่เอามารวมกันหมด แต่แน่นอนเราอาจจะบอกว่าคนที่สอบสนามเล็ก สนามจิ๋ว ก็อาจจะมาสอบสนามใหญ่ก็ได้ ซึ่งในอดดีตที่ผ่านมาคนจบต่างประเทศมาสอบสนามใหญ่ แล้วสอบได้ก็มี"
เขากล่าวด้วยว่า ถึงแม้ผู้ได้รับคัดเลือกเป็นผู้ช่วยผู้พิพากษาจะปฏิบัติหน้าที่เหมือนกัน แต่ในกระบวนการคัดเลือกบุคลากรให้เข้าทำงานที่ศาลชำนัญพิเศษซึ่งอาศัยความรู้เฉพาะทาง ก็มีความพยายามจัดสรรให้ตรงกับความรู้ความสามารถที่แต่ละคนได้เรียนมา จากทั้งในและต่างประเทศ
"คือเรายอมรับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ และความเห็นจากภายนอก แต่ว่าผมเชื่อมั่นว่าทุกองค์กรอยากได้คนเก่งและคนดีเข้าไปทำงานทั้งนั้น" นายสราวุธ กล่าว
"สิ่งหนึ่งที่เรารับไม่ได้ก็คือว่าถ้าเราถอยหลังแล้วใช้สนามต่าง ๆ อย่างไม่เหมาะสมกับคนที่มีความรู้ความสามารถ"