เภสัชกรยิปซี : กฤษณา ไกรสินธุ์ กับโครงการสุดท้ายในชีวิต
- หทัยกาญจน์ ตรีสุวรรณ & วิดีโอโดย วสวัตติ์ ลุขะรัง
- ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย
เภสัชกรหญิงแกร่งผู้อุทิศตนเพื่อผู้ป่วย
พลันที่หญิงผมสีดอกเลาปรากฏกายกลางดงชายฉกรรจ์ซึ่งอยู่ในสถานะ "ผู้ป่วย" รวม 51 ชีวิต ณ ศาลารูปโดมของศูนย์สาธิตจิตสังคมบำบัด โรงพยาบาลสวนสราญรมย์ จ.สุราษฎร์ธานี สีหน้าของชายหลายคนในกลุ่มนั้นอ่อนโยนลงอย่างเห็นได้ชัด
ชายวัย 35 ปีที่ถูกเรียกว่า "หัวหน้า" ส่งรอยยิ้มต้อนรับ ก่อนนำเพื่อน ๆ แสดงความเคารพ ศ.ภญ.ดร. กฤษณา ไกรสินธุ์ อย่างนอบน้อม
เขารีบรายงานความก้าวหน้าในการปลูกพืชผักสวนครัวเกษตรอินทรีย์ให้ผู้มาเยือนได้รับทราบ หลังช่วยกันลงแรงหว่านเมล็ดพันธุ์ตั้งแต่เดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา ได้ผลผลิตชุดแรกเป็นผักบุ้ง 45 กก.
"พรุ่งนี้ครูขอซื้อสัก 30 กก. นะ เราเอามาผัดกินกัน และเอาไว้รับแขกที่จะมาเยี่ยม และมาดูโครงการฝึกอบรมพวกเราด้วย" ศ.ภญ.ดร. กฤษณาบอกกับผู้ป่วยยาเสพติด
นี่เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ "ฟื้นฟูสุขภาพและสมรรถภาพผู้ป่วยยาเสพติดด้วยสมุนไพร และพัฒนาทักษะการปลูกพืชสมุนไพรแบบเกษตรอินทรีย์สำหรับผู้ป่วยยาเสพติด" ริเริ่มโดยเภสัชกรหญิงวัย 66 ปี เจ้าของรางวัลแมกไซไซสาขาบริการสาธารณะประจำปี 2552 และรางวัลอื่น ๆ อีกกว่า 200 รางวัล
ที่มาของภาพ, Wasawat Lukharang/BBC Thai
ผักสวนครัวเกษตรอินทรีย์ที่ผู้ป่วยยาเสพติดช่วยกันปลูกมีหลายชนิด อาทิ ผักบุ้ง ถั่วฝักยาว บวบ แฟง ฟักทอง คะน้า
โครงการแบบเดียวกันนี้กำลังจะเกิดขึ้นที่ประเทศเปรู ซึ่งถูกมองว่าเป็นผู้ส่งออกโคเคนเป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากประเทศโคลอมเบีย เธอจึงบอกกับบรรดาผู้ป่วยยาเสพติดซึ่งเธอเรียกว่า "นักเรียน" ให้ภูมิใจที่ได้เป็นต้นแบบให้ต่างประเทศ "เรื่องราวในอดีตเราแก้ไขไม่ได้แล้ว แต่ปัจจุบัน พวกเราทำได้ดีแล้ว" และ "พวกเราที่นี่เหมือนคนอื่นทุกประการ ทุกคนเป็นส่วนหนึ่งของสังคม ถ้าพวกเรามีความสุข คนอื่นก็พลอยมีความสุขไปด้วย"
โปรเจกต์สุดท้ายในชีวิต
แม้การยื่นมือเข้าช่วยเหลือผู้ป่วย ผู้ยากไร้ ผู้ด้อยโอกาส ไม่ใช่สิ่งแปลกใหม่ในชีวิตของหญิงผู้ได้รับสารพัดสมญานามทั้ง "นางฟ้าหมอยา" "เภสัชกรยิปซี" "วีรสตรีในภาคสนาม" หลังประสบความสำเร็จในการวิจัยและผลิตยาสามัญชื่อ "ยาเอดส์" และ "ยารักษาโรคมาลาเรีย" ได้เป็นครั้งแรกของโลก
ทว่าผู้ป่วยยาเสพติดถือเป็นกลุ่มเป้าหมายใหม่ที่เธอยื่นมือเข้าช่วยเหลือ และประกาศผ่านบีบีซีไทยว่า "นี่เป็นโปรเจกต์ (โครงการ) สุดท้ายในชีวิตที่จะทำ"
ที่มาของภาพ, Wasawat Lukharang/BBC Thai
ศ.ภญ.ดร. กฤษณาแวะมาพูดคุยกับผู้เข้ารับการบำบัดยาเสพติดรุ่นแรกไม่ต่ำกว่า 4 ครั้งในรอบ 2 เดือน
วิธีการที่หมอยารายนี้เลือกใช้หาได้เริ่มต้นจากการให้ยาถอนพิษในร่างกายไม่ หากแต่มุ่งส่งมอบความสุขเพื่อบำบัดจิตใจ เพราะเธอเชื่อว่าผู้ป่วยกลุ่มนี้คือคนที่มีปัญหา-ใจอ่อน-อยากหาที่พึ่ง-หันไปใช้ยาเสพติด
"เราให้เขาทำกิจกรรมเพื่อไม่ให้คิดถึงยา และให้อาชีพแก่เขา เพราะคนเราถ้ามีศักดิ์ศรี มีอาชีพ มีความภูมิใจในตัวเอง เขาไม่กลับไปใช้ยาหรอก" ศ.ภญ.ดร. กฤษณากล่าว
ผู้ป่วยยาเสพติดของโรงพยาบาลสวนสราญรมย์ ส่วนใหญ่ถูกจับกุมและเข้าสู่ระบบบังคับบำบัดเป็นเวลา 120 วัน เพื่อแลกกับการไม่ต้องรับโทษทางอาญา ซึ่งเป็นไปตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ. 2545
ด้วยความคุ้นเคยกับสถานที่เพราะเคยตามพ่อผู้เป็นแพทย์มาวิ่งเล่นตั้งแต่เด็ก ๆ จึงรู้ว่าที่นี่มีดินดี ลักษณะภูมิประเทศได้ และสำรวจพบว่ามีกลไกตลาดรองรับ ศ.ภญ.ดร. กฤษณาจึงวางแผนร่วมกับผู้บริหารโรงพยาบาลนำสมุนไพรจาก 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้มาปลูก ทว่ากว่าจะเห็นดอกผลต้องใช้เวลา 4-12 เดือน เธอจึง "ปรับแผนใหม่" ให้ปลูกผักสวนครัวซึ่งเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ในเวลา 2 เดือน เพื่อให้ผู้ป่วยมีโอกาสชื่นชมสิ่งที่พวกเขาเป็นผู้ปลูกภายใต้แนวคิดที่ว่า "นำความภูมิใจมาทดแทนความทุกข์ใจ"
"สวนสราญรมย์โมเดล" บำบัดผู้ติดเสพติดที่หัวใจ
ที่มา: ศูนย์สาธิตจิตสังคมบำบัด ซึ่งโครงการของ ศ.ภญ.ดร.กฤษณาจะอยู่ในช่วงสัปดาห์ที่ 4-12
ไม่เพียงผู้ป่วยยาเสพติดที่รอคอยการมาเยือนของ ศ.ภญ.ดร. กฤษณา แต่เจ้าหมูป่าวัย 4 เดือนเศษชื่อ "บุญมี" ก็แจ้นมาต้อนรับ พลางกระดิกหางสั้นกุดของมัน และไม่ลืมนำตัวอวบอ้วนไปสีขาของเธออย่างประจบประแจง
เจ้าหน้าที่ศูนย์สาธิตฯ และผู้ป่วยยาเสพติดช่วยกันเลี้ยงดูฟูมฟักหมูป่าซึ่ง "ไม่เป็นที่ต้องการของสังคม" เหตุเพราะแม่หมูมีน้ำนมไม่พอต่อการเลี้ยงลูกครบทั้ง 9 ตัว ชะตากรรมของลูกหมูป่าจึงบังเอิญไปสอดคล้องกับ "แผลในใจ" ของผู้ป่วยบางคน
ที่มาของภาพ, Wasawat Lukharang/BBC Thai
ที่มาของภาพ, Hataikarn Treesuwan/BBC Thai
จาก "ขยะสังคม" สู่ชีวิตใหม่
ก่อนเข้ารับการบำบัด ผู้ป่วยที่ถูกเรียกว่า "หัวหน้า" เคยถูกคนในชุมชนตราหน้าเป็น "ขยะสังคม" ระหว่างเสพยาไอซ์ 6 ปี แต่ความรู้สึกเหล่านั้นเลือนหายไปเมื่อได้พบกับ ศ.ภญ.ดร. กฤษณา
"ครูเป็นคนที่มองเห็นในคุณค่าของเรา น้อยมากที่คนในโลกภายนอกจะมาสนใจคนอย่างพวกเรา ยิ่งคนแถวบ้านผมจะมองว่าไอ้พวกติดยาคือขยะสังคม คอยจ้องรอดูว่าพอเราบำบัดแล้วจะกลับไปใช้ยาอีกเมื่อไร แต่ครูทำให้วงจรชีวิตเราเปลี่ยนไป กลับบ้านไปอย่างน้อยเราก็มีอาชีพติดตัว ไม่คิดถึงยาอีก"
ขณะที่หนุ่มน้อยวัย 22 ปีซึ่งเสพยาบ้ามา 2 ปี บอกว่าครั้งแรกที่รู้ว่าหญิงตรงหน้าเป็น "บุคคลระดับโลก" รู้สึกตื่นเต้นระคนกับภูมิใจ แต่ความภาคภูมิใจมาพุ่งถึงขีดสุดเมื่อได้เห็นผักบุ้งที่ปลูกมากับมือ ทำให้การใช้ชีวิต 120 วันไม่ใช่การหายใจทิ้งไปวัน ๆ นอกจากนี้ครูยังทิ้งเบอร์โทรศัพท์มือถือไว้ให้ติดต่อ เผื่อใครต้องการทำงานหลังออกจากโรงพยาบาล
"สำหรับผม ดร. กฤษณาคือผู้ให้ชีวิตใหม่ คอยให้กำลังใจและความหวังให้เราอยากใช้ชีวิตต่อไป" ผู้ป่วยยาเสพติดเผยความรู้สึก
ไม่เคยคิดว่าตัวเองเป็นเภสัชกร
โครงการใหม่ที่คิดและทำโดยเภสัชกรยิปซีเป็นที่โจษจันไปไกลถึงประเทศเปรู ดินแดนที่ประชาชนนิยมเคี้ยวใบโคคา (นำไปสกัดเป็นโคเคน) เป็นกิจวัตร จนมีผู้ป่วยยาเสพติดล้นประเทศ รัฐบาลจึงหวังนำ "สวนสราญรมย์โมเดล" ไปปรับใช้กับศูนย์สาธิตจิตสังคมบำบัดที่มีราว 400 แห่งทั่วประเทศ
ที่มาของภาพ, Wasawat Lukharang/BBC Thai
ก่อนมี "สวนสราญรมย์โมเดล" ศ.ภญ.ดร. กฤษณาเคยอบรมการปลูกพืชสมุนไพรให้นักโทษเรือนจำกลางคลองไผ่ จ.นครราชสีมา เมื่อ 5 ปีก่อน แต่อธิบดีกรมราชทัณฑ์ที่รับตำแหน่งใหม่บอกว่า "ไม่ใช่หน้าที่ของนักโทษในการปลูกต้นไม้" จึงล้มเลิกโครงการไป
"ถ้าได้ผล ก็จะได้ช่วยที่อื่นด้วย ไม่ใช่ไทยประเทศเดียว เราอย่าตั้งกำแพง เพราะคนก็คือคนเหมือนกัน" ศ.ภญ.ดร. กฤษณากล่าวกับบีบีซีไทยก่อนเดินทางไปเปรูตามคำเชิญของรัฐบาลเปรูในวันที่ 8 ก.ย.
ไม่เฉพาะการทำงานโดยไม่คิดถึงสัญชาติและพรมแดนประเทศ แต่เธอยังทลาย "กำแพงในจิตใจ" ตัวเองตั้งแต่ยังไม่เริ่มประกอบอาชีพด้วยซ้ำ บทบาทเภสัชกรของเธอซึ่งเป็นสายงานด้านวิทยาศาสตร์จึงไม่จบลงที่การผลิตยา แต่มุ่งพัฒนาสังคม
"ไม่เคยคิดว่าตัวเองเป็นเภสัชกรเลยนะคะ คิดว่าเป็นมนุษย์คนหนึ่งที่มีชีวิตจิตใจเหมือนคนอื่น ๆ เวลาเราคิดว่าเราอยู่ในอาชีพอะไร เราสร้างกำแพงรอบตัวเรา มองแต่ตัวเอง มองแต่สังคมของตัวเองโดยไม่ได้มองคนอื่นเลย ดังนั้นเอากำแพงออกตั้งนานแล้ว"
การลงแปลงปลูกพืชผักสมุนไพร ทำให้เภสัชกรรายนี้มีโอกาสสัมผัสผู้คน ได้เรียนวิชาชีวิต และพบเจอความสุขรูปแบบใหม่ ซึ่งเธอเห็นว่า "มีค่ากว่าชีวิตในห้องปฏิบัติการ" ซึ่งจะพาความสุขมาให้ในนาทีสุดท้ายเมื่อได้นำยาไปช่วยคน
งานสำเร็จเพราะโจทย์อยู่ที่คนอื่น
แต่ถึงกระนั้น ผลงานที่ออกจากห้องทดลองของ ศ.ภญ.ดร.กฤษณา ในเมืองไทยมีคำว่า "ครั้งแรกของโลก" ห้อยท้าย ไม่ว่าจะเป็น ยาต้านไวรัสเอดส์ Zidovudine (AZT), ยาต้านไวรัสเอดส์สูตรผสมยา 3 ชนิดไว้ในเม็ดเดียว GPO-VIR ก่อนลุยไปช่วยชาวแอฟริกาต่อ ด้วยการคิดค้นและผลิตยาต้านไวรัสเอดส์ afri-vir, ยารักษาโรคมาลาเรีย Thai-Tanzunate ฯลฯ จึงน่าสนใจว่าความยากในการบุกเบิกทำสิ่งใหม่ ๆ ตามทัศนะของเธอคืออะไร
ที่มาของภาพ, Krisana Kraisintu
เภสัชกรยิปซียืนยันคนเป็นเอดส์ไม่ใช่คนเลว ซึ่งก่อนเธอคิดค้นยาสามัญต้านไวรัสเอดส์สำเร็จ มีผู้ติดเชื้อในไทยเพียง 600 คนที่เข้าถึงยา
"ไม่เคยคิดเลยว่าต้องเป็นสิ่งแรก แต่มันบังเอิญเป็นสิ่งแรกเท่านั้น มันเป็นผลพลอยได้ ไม่ใช่เป้าหมาย" เธอแย้ง ก่อนอธิบายเพิ่มเติมว่าในการตั้งโจทย์ เธอไม่ได้คิดจากตัวเองว่าต้องทำสิ่งใหม่ ๆ แต่คิดถึงคนไข้ว่าต้องการอะไร อย่างการผลิตยาคอกเทลล์ ก็เกิดจากการรู้ปัญหาของผู้ป่วยเอดส์ที่ต้องกินยาวันละ 6 เม็ด หากลืมกินเม็ดใดจะเกิดอาการดื้อยา เธอจึงคิดรวมยา 3 ชนิดไว้ในเม็ดเดียวเพื่อความสะดวกของผู้ป่วย ให้เหลือกินยาวันละ 2 เม็ด อีกทั้งยังทำให้ยามีราคายาถูกลง แทนที่จะผลิต 3 ครั้ง 3 เม็ด ก็เหลือเม็ดเดียว
"ดังนั้นถ้าโจทย์อยู่ที่คนอื่น งานจะสำเร็จนะคะ ไม่ใช่โจทย์อยู่ที่ตัวเอง"
อย่างไรก็ตามโจทย์ที่เธอตั้งไว้ กระทบต่อกำไรของบริษัทยาข้ามชาติอย่างไม่อาจปฏิเสธ เป็นผลให้เธอถูกขอร้อง ข่มขู่ ฟ้องร้อง ขึ้นบัญชีดำ
ครั้งหนึ่งตัวแทนบริษัทยาสัญชาติอเมริกันได้เดินทางมาเปิดเจรจาตรงกับเธอ
"เขาบินกันมา 6 คน พูดอะไรไม่รู้ ไม่ใช่ฟังไม่รู้เรื่องนะคะ แต่เราไม่ฟัง เราก็โน ๆๆ ไป แล้วเขาพูดบอกว่าเธอนี่เป็นคน tough (แข็งกระด้าง, ก้าวร้าว) มากนะ เราเยสไปคำเดียว ที่เหลือโนหมดเลย เขาก็จบเลย ไม่มีคำถามอีก"
นักต่อสู้เพื่อสิทธิคนจน
แทบทุกการกระทำของหมอยารายนี้ เกี่ยวข้องกับสิทธิของคนจนและคนด้อยโอกาส และสัมพันธ์กับความเชื่อที่ว่าทุกคนมี "สิทธิที่จะมีชีวิต" เธอจึงต่อสู้เพื่อให้ประชากรโลกมี "สิทธิในการเข้าถึงยา" อันถือเป็น "สิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน"
ที่มาของภาพ, Krisana Kraisintu
"ในเมื่อไม่เคยคิดว่าตัวเองเป็นเภสัชกร แต่คิดว่าเป็นมนุษยคนหนึ่ง ดังนั้นอะไรก็สัมพันธ์ได้ทั้งนั้นถ้าเราเป็นมนุษย์ แต่บังเอิญเป็นมนุษย์ที่มีความรู้เรื่องนี้ ก็เอาความรู้เรื่องนี้ไปใช้"
การลุกขึ้นมาใช้ชีวิตเพื่อคนอื่นของ ศ.ภญ.ดร. กฤษณา เป็นผลจากการหล่อหลอมความคิดของครอบครัว ด้วยความมีพ่อเป็นแพทย์ผู้ขี่ม้าออกไปรักษาคนไข้สลับกับการเปิดบ้านเป็นสถานพยาบาลขนาดย่อม มีแม่เป็นพยาบาลผู้ทำคลอดให้คนทั้งเกาะสมุย และมีตาเป็นแพทย์แผนโบราณ ทำให้เธอเห็นการช่วยชีวิตคนมาตลอด
มนุษย์ผู้ไม่ติดยึดกับทุกสิ่ง
ขณะเดียวกันยังได้รับอิทธิพลจากยายผู้เป็นแม่ชี ซึ่งคอยพร่ำสอนธรรมและความพอเพียง นั่นทำให้เธอไม่ติดยึดกับวัตถุใด ๆ ไม่ว่าชื่อเสียง เงินทอง หรือถิ่นฐาน
ที่มาของภาพ, Krisana Kraisintu
66 ปี ที่เกิดและเติบโต สะสมความรู้จนมีปริญญาเอกถึง 7 ใบ สั่งสมชื่อเสียงโดยมีรางวัลการันตีผลงานความสำเร็จและการอุทิศตนเพื่อสังคมกว่า 200 รางวัล อาทิ นักวิทยาศาสตร์โลก บุคคลแห่งปีของเอเซีย แมกไซไซ และเป็นบุคคลที่ บิล เกตส์ มหาเศรษฐีระดับโลกชาวอเมริกัน ยกย่องให้เป็น "Heros in the field" หรือวีรสตรีในภาคสนาม เมื่อปี 2560 ทว่า ศ.ภญ.ดร. กฤษณาไม่เคยได้ยินคำชื่นชมใด ๆ จากครอบครัว ตรงกันข้ามพ่อได้บอกกับแม่ของเธอว่า "อย่าไปชมลูกตัวเองนะ"
20 ปี ที่พัฒนายาไม่ต่ำกว่า 100 ชนิด เธอควักเงินในกระเป๋าสตางค์ตัวเองออกมาต่อลมหายใจให้ผู้อื่น และไม่คิดระดมทุนใด ๆ เพื่อรักษาความเป็นอิสระในการทำงาน
12 ปี ที่เร่ร่อน-รอนแรมในแถบแอฟริกาใต้เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วย จนได้ฉายา "เภสัชกรยิปซี" เธอไม่มีบ้านในเชิงกายภาพ เพราะนิยามคำว่าบ้านสำหรับเธอไม่ใช่สิ่งปลูกสร้างที่แสดงให้เห็นถึงความมั่งคั่งของผู้อาศัย หากแต่เป็น "ที่ที่เราอยู่แล้วมีความสุข" แต่ถึงกระนั้นเธอมี "ครอบครัวใหญ่" เพราะสมาชิกคือผู้ป่วย ผู้ยากไร้ ผู้ด้อยโอกาส
"ถ้าเราคิดว่าเขาคือสมาชิกในครอบครัว เราก็จะปฏิบัติกับเขาดี ไม่ทำร้ายความรู้สึกเขา" ศ.ภญ.ดร. กฤษณาบอก
ที่มาของภาพ, Krisana Kraisintu
ศ.ภญ.ดร. กฤษณาไปคิดค้นและผลิตยาในแอฟริกา 17 ประเทศ ซึ่งการดีลกับคนแต่ละประเทศไม่เหมือนกัน จึงไม่มีสูตรสำเร็จในการทำงาน
แม้แต่เพศกำเนิดที่ทำให้ใครหลายคนชื่นชมในความเป็น "หญิงเก่ง" และ "หญิงแกร่ง" เธอก็ยังไม่ติดยึด
"ความเป็นมนุษย์นี่ไม่มีผู้หญิงผู้ชายหรอกค่ะ มันก็เท่ากันหมด ไม่ได้คิดว่าผู้หญิงต้องมาเดินแถวหน้า ไม่ได้คิดว่าตัวเองเป็นเพศไหน ก็ทำงานไปเรื่อย ๆ อย่าเอาตรงนี้มาเป็นข้ออ้าง"
ชีวิตล่วงเลยเข้าสู่ปีที่ 66 ศ.ภญ.ดร. กฤษณายังไม่หยุดใช้จ่ายชีวิตเพื่อผู้ป่วยยาเสพติด
"ไม่จำเป็นต้องพัก เดี๋ยวค่อยพักทีเดียวตอนหายไปจากโลกนี้" เธอกล่าวทิ้งท้าย