ปฏิกิริยาหลังหมูป่ามุดถ้ำจำลอง : "เขาไม่ใช่ตุ๊กตาที่ใครจะทำอะไรก็ได้"
- นันท์ชนก วงษ์สมุทร์ & หทัยกาญจน์ ตรีสุวรรณ
- ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย

ที่มาของภาพ, PANUMAS SANGUANWONG/BBC THAI
กรมสุขภาพจิตเตรียมจัดประชุมเชิงปฏิบัติการระหว่างทีมหมูป่าและปกครองเกี่ยวกับแนวทางให้สัมภาษณ์สื่อในอนาคต พร้อมแนะให้งดการให้สัมภาษณ์เป็นรายบุคคลเพื่อป้องกันความผิดปกติทางใจ ขณะที่ภาพเด็กมุดถ้ำจำลองที่ออกมา ก่อให้เกิดเสียงวิจารณ์จากนักจิตวิทยาและโลกโซเชียลถึงความเหมาะสม
"มุดถ้ำที่เราเคยมุดน่ะลูก.." หญิงคนหนึ่งซึ่งอยู่ในชุดสูท และไม่ได้เป็นสื่อมวลชน กล่าวกับนักเตะเยาวชนทีมหมูป่าอะคาเดมี จ.เชียงราย ในระหว่างที่เด็ก ๆ ทั้ง 12 คนกำลังเยี่ยมชมนิทรรศการ "ปฏิบัติการถ้ำหลวง วาระแห่งโลก" ณ ลานไลฟ์สไตล์ ฮอลล์ สยามพารากอน วานนี้ (6 ก.ย.) ท่ามกลางวงล้อมของสื่อมวลชนทั้งไทยและต่างประเทศ
ขณะที่หญิงอีกคนเอ่ยขึ้นว่า "ถ้าไม่อยาก ก็ไม่มุดได้นะลูก"
หญิงคนแรกจึงถามให้แน่ใจ "มุดไหม" เมื่อไม่มีคำพูดปฏิเสธจากปากของเด็ก ๆ เธอจึงเรียกหาไฟฉาย ให้เด็ก ๆ ได้นำเข้าไปภายใน
เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นหน้าถ้ำจำลอง ซึ่งจัดแสดงอยู่บริเวณโซนที่ 2 "นาทีชีวิตวิกฤตเสี่ยงตาย" ของนิทรรศการนี้ เพื่อให้ผู้เยี่ยมชมเข้าถึงประสบการณ์ "ติดถ้ำ" ด้วยตนเอง โดยได้จำลองเหตุการณ์การติดถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน อ.แม่สาย จ.เชียงราย ของทีมหมูป่าทั้ง 13 คน มาไว้ที่นี่

ที่มาของภาพ, PANUMAS SANGUANWONG/BBC THAI
เมื่อส่องรูบริเวณใกล้ปากทางเขาถ้ำจำลอง จะพบสัมภาระของเด็ก ๆ ทีมหมูป่า
ก่อนถึงปากทางเข้าถ้ำ จะมีรูเจาะที่ผนังถ้ำให้คนภายนอกมองส่องเข้าไปภายใน ซึ่งผู้จัดงานได้นำรถจักรยาน รองเท้าฟุตบอล และสัมภาระของเด็ก ๆ มาจัดแสดงไว้ เพื่อย้อนภาพนาทีที่เจ้าหน้าที่กู้ภัยพบสิ่งของเหล่านี้หลังจากทีมหมูป่าหายตัวไป 3 วัน นับจาก 23 มิ.ย. เด็กหลายคนก็ร่วมส่องรูดังกล่าวด้วยความสนใจ
เมื่อเข้าไปภายในถ้ำจำลอง จะสัมผัสความมืด แคบ และเส้นทางคดเคี้ยว มีเพียงไฟฉายกระบอกเดียวที่ผู้จัดเตรียมไว้ให้คอยเป็นเครื่องนำทาง
พลันที่ภาพเด็กมุดถ้ำปรากฏในสื่อมวลชน ทั้งนักจิตวิทยาและผู้ใช้งานสื่อสังคมออนไลน์ต่างวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง
ย้อนดูนาทีก่อนทีมหมูป่ามุดถ้ำจำลอง พร้อมบรรยากาศงานเลี้ยงขอบคุณผู้ร่วมภารกิจถ้ำหลวง
พญ. ดุษฎี จึงศิรกุลวิทย์ ผู้อำนวยการสำนักระบาดวิทยาสุขภาพจิตเด็ก และโฆษกกรมสุขภาพจิต ให้ความเห็นกับบีบีซีไทยว่า แม้ทีมหมูป่าทั้ง 13 คนจะผ่านเหตุการณ์ติดถ้ำมาได้โดยไม่ได้รับอันตรายรุนแรงทางร่างกาย แต่ผลกระทบด้านจิตใจ ยังเป็นสิ่งที่ต้องระมัดระวัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กวัยรุ่นชายซึ่งมักจะไม่ค่อยพูดคุยถึงอารมณ์ ความรู้สึก เมื่อเทียบกับวัยรุ่นหญิง ทำให้ประเมินผลกระทบได้ยากกว่า
ภายหลังผ่านเหตุการณ์สะเทือนขวัญ บ่อยครั้งที่เราพบผู้ได้รับผลกระทบยังมีอาการวิตกกังวล หวาดกลัว รู้สึกผิดต่อเหตุการณ์ โดยเฉพาะเมื่อเข้าไปพบเหตุการณ์ สถานที่ หรือบุคคลที่ทำให้นึกถึงเหตุการณ์นั้น เนื่องจากไม่มีข้อมูลที่แน่ชัดว่าผลกระทบด้านจิตใจของ 13 หมูป่ามีมากน้อยเพียงใด การทำให้ทั้งเด็กและโค้ชต้องเข้าไปอยู่ในสถานการณ์จำลองขณะติดถ้ำ จึงยังเป็นสิ่งที่ควรหลีกเลี่ยง
"ทั้ง 13 คน ไม่จำเป็นต้องมีประสบการณ์การเรียนรู้จากถ้ำจำลองนี้ ประสบการณ์และบทเรียนจากสถานการณ์จริงมากเกินพอแล้วเมื่อเทียบกับเด็กวัยเดียวกัน" จิตแพทย์หญิงกล่าว

ที่มาของภาพ, Getty Images
"ชุดกบ" ของนักประดาน้ำที่เข้าไปช่วยค้นหาและกู้ภัย เพื่อนำเด็ก ๆ ออกจากถ้ำ ถูกนำมาจัดแสดงในนิทรรศการ
เธอยังชี้ชวนให้สังคมเรียนรู้ไปด้วยกัน ใส่ใจและคำนึงถึงจิตใจเด็กในทุกการกระทำ สิ่งที่ผู้ใหญ่ทำบางอย่างอาจส่งผลกระทบต่อจิตใจของเด็ก ๆ แม้ไม่เจตนา หากต้องการจัดให้เด็กทำสิ่งใดหรือร่วมกิจกรรมใด ควรมีการพูดคุยกับเด็กก่อนว่าพร้อมและอยากเข้าร่วมหรือไม่ โดยไม่บังคับหรือกดดันเด็กทั้งทางตรงและทางอ้อม
แม้ไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ขณะเด็ก ๆ เยี่ยมชมนิทรรศการ และเข้าใจว่าสถานการณ์ "คงเป็นไปเองตามธรรมชาติ" ในระหว่างนั้น แต่ น.พ. ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ หัวหน้ากลุ่มสุขภาพจิต กรมสุขภาพจิต กล่าวยอมรับว่าเป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสม แต่คงไม่รุนแรงถึงขั้นเป็นอาการผิดปกติจากความเครียดหลังประสบเหตุสะเทือนใจ (PTSD)
"PTSD ประเมินแล้วยังไม่มี เพราะอาการคือ ฝันร้าย หรือรู้สึกตระหนกอยู่แม้กระทั่งพ้นเหตุการณ์มาหนึ่งเดือนแล้ว นั่นคงไม่ใช่ปัญหา แต่มันจะเป็นปัญหาเรื่องความไม่เหมาะสม เด็กเขาเป็นผู้รอดชีวิต เขาไม่ใช่ดารา คุณจะให้เขาทำนั่นทำนี่แบบตามใจคุณคงไม่ได้" น.พ. ยงยุทธซึ่งเป็นหนึ่งในคณะกรรมการสื่อสร้างสรรค์ กรณีถ้ำหลวง จ. เชียงราย กล่าวกับบีบีซีไทย

ที่มาของภาพ, Getty Images
นับจากทีมหมูป่าได้รับการช่วยเหลือให้ออกจากถ้ำครบทุกคนเมื่อ 10 ก.ค. รัฐไทยมีความพยายามจะดูแลและเยียวยาสภาพจิตใจของเยาวชนและโค้ชที่รอดชีวิต โดยช่วงแรก ได้ขอร้องสื่อให้งดการสัมภาษณ์บรรดาผู้ประสบภัย นั่นทำให้การเผยแพร่บทสัมภาษณ์เด็ก ๆ ของผู้สื่อข่าวสถานีโทรทัศน์ ABC News ของสหรัฐฯ ตกเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ของสังคมไทยอย่างกว้างขวาง แต่ถึงกระนั้นสื่อท้องถิ่นก็ได้นำเนื้อหาการสัมภาษณ์ดังกล่าวไปเผยแพร่ต่อ
มีเพียงครั้งเดียวเท่านั้น ที่รัฐจัดให้ทีมหมูป่าทั้ง 13 คนเปิดใจกับสื่อมวลชน โดยมีนายสุทธิชัย หยุ่น ผู้สื่อข่าวอาวุโส รับหน้าที่พิธีกรรับเชิญรายการ "เดินหน้าประเทศไทย ส่งหมูป่ากลับบ้าน"
ในการสัมภาษณ์ผู้รอดชีวิตในหนที่สองนี้ก็เช่นกัน คณะกรรมการสื่อสารสรรค์ได้การคัดกรองคำถาม โดยให้สื่อมวลชนทั้งไทยและต่างประเทศลงทะเบียน และส่งคำถามโดยละเอียดล่วงหน้า ก่อนคัดให้เหลือคำถามที่เหมาะสม

ที่มาของภาพ, PANUPONG CHANGCHAI/BBC THAI
น.พ. ยงยุทธ ซึ่งเป็นกรรมการคัดครองคำถาม ได้ยกตัวอย่างคำถามที่ถูกคัดออกซึ่งเป็นเพียงส่วนน้อย เช่น เรื่องการออกสื่อว่าจะไปออกหรือไม่ หรือจะไปต่างประเทศหรือไม่หากได้รับคำเชิญ เนื่องจากเรื่องเหล่านี้ไม่ใช่ความสามารถของเด็กที่จะตัดสินใจและให้สัมภาษณ์ได้
เขายังเผยแนวทางปฏิบัติตามหลักสุขภาพจิตหลังเด็กพ้นช่วงวิกฤต ดังนี้
- 1 เดือนแรก : ช่วงปกป้องเด็กอย่างเข้มงวด
- 3 เดือน ซึ่งจะสิ้นสุดในวันที่ 10 ต.ค. : ความเข้มงวดจะคลายลง
- หลัง 3 เดือน : ช่วงเฝ้าระวัง ซึ่งต้องเตรียมตัวเด็กเพื่อป้องกันความผิดปกติทางจิตใจ (trauma)
ขณะนี้กรมสุขภาพจิตกำลังนัดจัดประชุมเชิงปฏิบัติการกับเด็กและผู้ปกครองเกี่ยวกับการให้สัมภาษณ์ในอนาคตว่าจะต้องเจอกับคำถามอะไรบ้าง และไม่ให้สัมภาษณ์เป็นรายบุคคลเพื่อป้องกันความผิดปกติทางใจ อีกทั้งเด็กจะต้องรู้สิทธิของตัวเองว่าสามารถที่จะปฏิเสธได้
"เขาไม่ใช่ตุ๊กตาที่ใครจะทำอะไรก็ได้ เขามีสิทธิที่จะปฏิเสธในสิ่งที่ไม่เหมาะสม" น.พ.ยงยุทธ กล่าว

ที่มาของภาพ, PANUMAS SANGUANWONG/BBC THAI
นอกจากนี้กระทรวงวัฒนธรรมอยู่ในระหว่างเตรียมจัดตั้งกองทุนเพื่อดูแลผลประโยชน์ของทีมหมูป่าให้เป็นธรรมและโปร่งใส โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ในระยะยาวและผลประโยชน์ของสังคมในภาพรวม เช่น ในอนาคตหากมีการสร้างสารคดี ก็จะมีการจ่ายเงินเข้ากองทุน ซึ่งจะมีตัวแทนครอบครัวและชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม
"ถ้าเราดูกรณีที่เราออกมาจากเหมือง มีการ abuse (ละเมิด) มากมาย มีการพากันเดินสายให้เงินให้ทอง เป็นผลเสียกับเขาระยะยาว... เราต้องพยายามป้องกันเด็ก ไม่ให้เอาเงินฟาดหัว หรือใช้วิธีพาไปเดินสาย" น.พ. ยงยุทธกล่าวและว่า "นี่จะเป็นโชว์เคส (กรณีศึกษา) ให้โลกว่าการจัดการกับผู้รอดชีวิตต้องคุ้มครองสิทธิของเขา ขณะเดียวกันดูผลประโยชน์ให้เขา ไม่ให้ใช้อย่างผิดทาง"

เมื่อทีมหมูป่าต้องเข้าถ้ำ(จำลอง) อีกครั้ง
ครั้งแรกกับการพบหน้ากันระหว่างสมาชิกทีมหมูป่าอะคาเดมี กับบางส่วนของทีมกู้ภัยชุด "รวมดาราโลก" ในงานเลี้ยงขอบคุณทีมงาน