ลอกเปลือก สมบัติ บุญงามอนงค์ มองทะลุแก่นคิดในปฏิบัติ “เกียน”

  • เรื่องโดย หทัยกาญจน์ ตรีสุวรรณ ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย
  • วิดีโอโดย พริสม์ จิตเป็นธม ผู้สื่อข่าววิดีโอบีบีซีไทย
คำบรรยายวิดีโอ,

“ปาร์ตี้” และ “คอสเพลย์” สะท้อนชุดความคิดทางการเมืองของ สมบัติ บุญงามอนงค์ อย่างไร

"ชุดแต่งกาย" ไม่ใช่แค่อาภรณ์ห่อหุ้มกาย แต่สะท้อน "ชุดความคิด" ของ สมบัติ บุญงามอนงค์ ที่ต้องการฉีกออกจากขนบการเมืองเก่า

"คนอาจรู้สึกว่าผมบ้าบอ เพียงเพราะว่าผมมีพร็อพ (อุปกรณ์ประกอบฉาก)" สมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ "บก. ลายจุด" ตระหนักรู้ต่อสายตามหาชนที่จับจ้องมายังตัวเขา หลังประกาศเป็น "ผู้นำความบันเทิงสู่การเมืองไทย"

จากเคยเป็นนักเคลื่อนไหวในนามภาคประชาชน เป็นนักกิจกรรมการเมืองที่ชูธงต่อสู้แนวสันติวิธี-ขับเคลื่อนผ่านสัญลักษณ์ต่าง ๆ เขากระโจนสู่การเมืองเต็มรูปในวัย "ครึ่งร้อย" เมื่อร่วมก่อตั้งพรรคเกียน ตั้งเป้าหมายเป็นพรรคมวลชน (Mass Party) พรรคแรกของประเทศไทย

ด้วยจังหวะคิดที่ผิดแผก-แหวกขนบ ทำให้จังหวะก้าวทางการเมืองของสมบัติแตกต่าง หรืออาจถึงขั้น "กลับหัวกลับหาง" จากคนการเมืองทั่วไป

เกือบทุกครั้งของการปรากฏตัว เขามักถูกสื่อมวลชนตั้งคำถามล่วงหน้าว่า "พรุ่งนี้จะใส่ชุดอะไร" จนครั้งหนึ่งเขาต้องระบายความในใจผ่านกระดานข้อความส่วนตัวทางสื่อสังคมออนไลน์ว่าโปรดสนใจนโยบายและข้อเสนอทางการเมืองของพรรคเกียนบ้างนอกเหนือจากอาภรณ์ห่อกาย

ที่มาของภาพ, Hataikarn Treesuwan/BBC Thai

คำบรรยายภาพ,

การยื่นขอจัดตั้งพรรคเมื่อ 21 มี.ค. เกิดขึ้นภายใต้คำขวัญ "ไม่หาเสียง หาแต่เรื่อง" โดยนโยบายแรกที่ชูคือ "เรื่องหมาต้องมาก่อน" หลังปลัดกระทรวงสาธารณสุขเผยแนวคิด "เซ็ตซีโร่สุนัขจรจัด"

7 เดือนนับจากลุยทำพรรคการเมืองเมื่อเดือน มี.ค. สมบัติบอกกับบีบีซีไทยว่า เขาปรากฎกายด้วยเครื่องแต่งกาย 3.5 ชุดเพื่อสื่อสารทางการเมือง โดยชุดที่ "ทรงพลังที่สุด" ในทัศนะของผู้ส่งสารรายนี้หนีไม่พ้น "ชุดซ่อมแซมประเทศ" และหมวกโจรสลัด เขาจึงเลือกชุดนี้มาสวมใส่ก่อนเปิดฉากสนทนากับเรา โดยมีเด็ก ๆ 3-4 คนในมูลนิธิกระจกเงา ซึ่งเขาเคยเป็นประธานมูลนิธิ ร่วมเป็นผู้ชมกิตติมศักดิ์

"หนู ๆ รู้ไหมว่าลุงเป็นใคร" เขาถามขึ้น

"โจรสลัด" เด็กน้อยประสานเสียงตอบเจื้อยแจ้ว สร้างความพึงใจให้แก่ "ชายชุดส้ม"

สื่อประเด็นที่เป็นสาระผ่านชุดแต่งกาย

ในขณะที่เด็กวัย "ต่ำสิบ" เข้าใจภาพที่สมบัติกำลังนำเสนอ เจ้าตัวบ่นเสียดายที่เจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ไม่เข้าใจ และหาว่าเขาแต่งกายไม่สุภาพ จึงไม่อนุญาตให้เข้าร่วมประชุมพรรคการเมือง เมื่อ 28 ก.ย.

"ผมแค่มานำเสนอว่าผมเป็นพรรคการเมืองหรือนักการเมืองที่จะมาซ่อมประเทศ เพราะตอนนั้นมีเพจสนับสนุน พล.อ. ประยุทธ์ (จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี) ขึ้นข้อความว่า '4 ปีซ่อม 4 ปีสร้าง' ที่เขาแซวกันอยู่ แสดงว่า พล.อ. ประยุทธ์ก็ยอมรับว่าประเทศนี้เสียหาย จะด้วยฝีมือใครก็แล้วแต่ ดังนั้นพรรคเกียนจึงเสนอตัวมาซ่อมประเทศ คิดแค่นี้เป็นเรื่องเลย"

ที่มาของภาพ, Hataikarn Treesuwan/BBC Thai

คำบรรยายภาพ,

สมบัติได้โชว์ลีลา "แจกใบแดง กกต." เมื่อ 28 ก.ย. หลังไม่ยอมรับรองการจดจัดตั้งพรรคของเขา ทั้งนี้เขาเผยว่าพรรคโจรสลัดในแถบยุโรปคือตัวจุดประกายให้คิดทำพรรคการเมือง

1 ต.ค. สมบัติและเพื่อนเดินทางไปสำนักงาน กกต. เพื่อรับหนังสือรับรองการจดจัดตั้งพรรคเกียน หลังต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งชื่อพรรคนาน 192 วัน (21 มี.ค.-30 ก.ย.)

ครั้งแรก เขาประกาศรวมพลการเมืองในนาม "พรรคเกรียน" แต่ กกต. ไม่อนุญาตให้ใช้ชื่อนี้ จึงหันไปใช้คำพ้องเสียงว่า "พรรคเกียน" ซึ่งแปลว่าอ่าว หรือทะเล แทน

คราวนี้เขาเลือกชุดไทยประยุกต์มาสวมใส่-แปลงกายเป็น "หมื่นสมบัติ" เพื่อล้อกับกระแสละครดัง "บุพเพสันนิวาส" พร้อมระบุว่า "ชุดนี้สุภาพที่สุดแล้ว ใครไปติดต่อราชการก็แต่งชุดไทยกันเยอะแยะ"

ก่อนปรากฎตัวต่อสาธารณะในชุดต่าง ๆ สมบัติจะทำการบ้านอย่างละเอียด ตั้งแต่กางปฏิทินกิจกรรมการเมือง พิจารณาว่าสารสำคัญที่เขาต้องการสื่อคืออะไร แล้วจึงเลือกเครื่องแต่งกายที่สื่อถึงธีมวันนั้น เพื่อ "ทำให้ประเด็นของวันนั้นเกี่ยวพันกับชุดแต่งกาย"

"ในการนำเสนอมันจะประกอบด้วยเนื้อหากับรูปแบบ การแต่งกายเป็นรูปแบบหนึ่งในการนำเสนอ" นักกิจกรรมทางสังคมและการเมืองผู้มีประสบการณ์ 30 ปีกล่าว

ที่มาของภาพ, Sombat Boonngamanong

คำบรรยายภาพ,

นอกจาก "หมื่นสมบัติ" ยังมีชายอีก 2 คนปรากฏกายเป็น "ออเจ้า" เคียงข้างเขา เมื่อ 1 ต.ค.

สร้างร่องคิดใหม่ให้สังคม-สร้างความสนุกทางการเมือง

บ่อยครั้งที่นักเคลื่อนไหวทางการเมืองใช้เครื่องแต่งกายเป็นเครื่องสะท้อนความคิด เช่น กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมหรือสิทธิสัตว์ แต่งตัวเป็นหมี สิงโต เสือดำ แต่พอนักการเมืองลุกมาทำแบบเดียวกันอาจเป็นภาพไม่คุ้นชิน-ไม่เข้าใจ การทำงานการเมืองของพรรคเกียนจึงมาพร้อมกับการ "สร้างร่องคิดใหม่ให้สังคม"

"พอเป็นนักการเมืองมาแต่งตัวแบบนี้ คนก็คิดว่าไม่ได้ เพราะนักการเมืองต้องวางฟอร์ม วางมาด เป็นผู้ทรงภูมิฐานอะไรประมาณนี้"

เขาเชื่อว่า หลังประชุมใหญ่ของพรรคเกียน วันที่ 3 พ.ย. ซึ่งประกาศ "จัดใหญ่-จัดเต็ม" เชิญชวนสมาชิกพรรคสวมชุดแฟนซีคอสเพลย์เข้าร่วมการประชุม สังคมจะค่อย ๆ รู้ว่าทำไมพรรคถึงเลือกทำแบบนี้ และพรรคส่งสารผ่านชุดแต่งกายอย่างไร

"นี่เป็นเรื่องที่ต้องค่อย ๆ เรียนรู้กันทั้ง 2 ฝ่าย สมาชิกพรรคเกียนต้องหาชุดที่มันสามารถสื่อความหมายได้ และเมื่อนำเสนอไปแล้ว สังคมก็จะค่อย ๆ เข้าใจรูปแบบ ก็ต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง แต่อย่างหนึ่งแน่นอนคือมันให้ความบันเทิง มันไม่เป็นพิษเป็นภัย มันยิ้มมุมปาก แล้วก็อาจจะขบคิดนิดหน่อย พวกนี้มันเล่นอะไร แปลว่าอะไร มันทำให้การเมืองสนุกขึ้น" สมบัติระบุ

ที่มาของภาพ, Paris Jitpentom/BBC Thai

คำบรรยายภาพ,

เขาเรียกชุดนี้ว่า "ชุดถังแตก" ซึ่งออกแบบกระเป๋าให้ยาวเป็นพิเศษหลังถูก คสช. อายัดเงินในบัญชีธนาคารนับจากรัฐประหารปี 2557

เพราะ "ชุดแต่งกาย" ไม่ใช่แค่อาภรณ์ห่อหุ้มกาย แต่สะท้อน "ชุดความคิด" ในทางการเมืองของสมบัติ ผู้เชื่อว่ามีคนจำนวนหนึ่งเบื่อ-อึดอัดกับการเมือง เขาจึงลุกขึ้นมาสร้างการเมืองที่สนุก

"สมมุติผมมีพรรคการเมืองตั้งชื่อว่า 'เพื่อประชาชน' หรือ 'อนาคตเก่า' แล้วมันยังไงล่ะ คนมันก็เบื่อเหมือนเดิม ผมไม่สามารถทำให้เขารู้สึกได้ แต่การมีพรรคเกียน ผมสัมผัสได้ว่าคนมันรู้สึก แม้จะรู้สึกแปลก ๆ (หัวเราะเล็ก ๆ) แต่เราหวังว่าสักพักหนึ่งเขาจะชอบ เริ่มคุ้นเคยกับความสนุกทางการเมืองแบบนี้"

ที่มาของภาพ, Sombat Boonngamanong

คำบรรยายภาพ,

สมบัติบุกไปหน้าทำเนียบฯ เมื่อ 17 ต.ค. ในชุด "พนักงานออฟฟิศ" เพื่อสมัครเป็นแอดมินเพจ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่เพิ่งเปิดตัว 3 วันก่อนหน้านั้น โดยเรียกร้อง คสช. ให้ยกเลิกการอายัดบัญชีของตน

หลังเปิดแนวรบทางวัฒนธรรมผ่าน "ปฏิบัติเกียน" เขาได้บุคคลที่ "ตื่นตัวทางการเมืองเป็นพิเศษ" มาเป็นแนวร่วมทางการเมือง ซึ่งล้วนแต่เป็นคนที่ต้องการเป็นมากกว่าสมาชิกพรรคธรรมดา แต่อยากลงมือทำเอง และเป็นคนที่สนใจศิลปะ มีทัศนะ (ในทาง) ศิลป์ในระดับหนึ่งจึงมองออกว่า นี่เป็นรูปแบบที่น่าสนใจ

"เกียนปาร์ตี้" ฉีกขนบพิธีกรรมการเมืองแบบ "ลิเก"

"ปาร์ตี้" (Party) ในทัศนะของสมบัติคือผู้คนที่ร่วมปฏิสังสรรค์กัน ส่วนปาร์ตี้อันหมายถึงพรรคการเมืองคือปาร์ตี้ที่มาขบคิดเรื่องบ้านเมือง กำหนดวาระขับเคลื่อนทางสังคม โดยใช้ความเป็นพรรคการเมืองในการรวมกลุ่มคน

"เวลาคนไทยพูดถึงปาร์ตี้ เขาไม่ได้พูดถึงพรรคการเมือง มันจะมีปาร์ตี้ 2 ปาร์ตี้อยู่ในพรรคเกียน ปาร์ตี้ที่เป็นพรรค กับปาร์ตี้ที่เรามาร่วมกันสนุก มามันกัน ผมคิดว่าผมกำลังทำสิ่งนี้รวมเข้าไปในพรรคเกียน เกียนปาร์ตี้"

พิธีกรรมในการประชุมพรรคการเมืองไทยคือสิ่งที่ "บก. ลายจุด" บอกว่าน่าเบื่อแบบสุด ๆ เขาจึงต้องการ "ฉีกออกไปจากขนบแบบเดิม ๆ"

"ไอ้ที่มันประชุมพรรคการเมืองต่าง ๆ เลือกหัวหน้าพรรค กรรมการบริหารพรรค ไอ้นี่มันพิธีกรรมนะ คือทุกคนรู้มาก่อนว่าต้องเลือกใคร อะไรอย่างไร แล้วเราต้องมาเช่าโรงแรมจัดงาน ทำพรีเซนเทชันอย่างแจ่มเลย ทำอย่างกับไม่รู้ว่าใครจะมาเป็นหัวหน้า เป็นกรรมการบริหาร ทำกันอย่างแกรนด์ (ยิ่งใหญ่) โอ้โห! ทางการ ไม่รู้สิ ผมคิดว่าไอ้อย่างนั้นมันลิเกนะ มันเป็นการแสดงประเภทหนึ่ง แต่มันเป็นการแสดงที่เชย ไหน ๆ เราต้องเสียเวล่ำเวลาผู้คนมาร่วมกิจกรรมกันขนาดนี้ ทำไมเราไม่ทำอะไรที่มัน บันเทิง ได้มอบความสุขให้คนที่เสียเวลามานั่งอ่านข่าวเราล่ะ"

สำหรับใครที่ติดตามข่าวสารของพรรคเกียนแล้วรู้สึกว่า "ไร้สาระ" นั่นอาจเป็นเพราะยัง "อ่านไม่ออก-จับสาระไม่ได้" แต่ผู้ก่อตั้งพรรคเกียนยืนยันว่าในทุกการกระทำเป็นการ "ตั้งคำถาม" และ "ท้าทาย" ต่อการเมืองแบบเก่า ๆ ตั้งแต่ตั้งชื่อพรรค, จัดทำนโยบายสาธารณะ, ประชุมพรรค ฯลฯ

"ถ้าคุณจับสาระอะไรไม่ได้ คุณได้ความบันเทิงไง ผมมีมินิมั่ม (ขั้นต่ำ) ให้คุณนะ ยังไงคุณได้ความบันเทิงไป ผมคิดว่านี่มันเป็นความยุติธรรมที่ผมจะตอบแทนและมอบให้คุณ"

ไม่ตั้ง "กฎการแต่งกาย" แต่อาจลอง "แก้ผ้าเพื่อแก้ รธน."

สมบัติไม่เพียงเป็นนักเคลื่อนไหว-นักกิจกรรมทางการเมือง เขายังเป็นศิลปินผู้มีผลงานการแสดงหนังโฆษณาหลายชิ้นที่จำเป็นต้องใช้นักแสดงที่ "เล่นใหญ่" รวมถึงเป็นอาจารย์พิเศษวิชาละครใบ้ เมื่อต้องลงมือสร้างสรรค์ "การเมืองใหม่" เขาจึงไม่ลืมนำกฎศิลปะมาปรับใช้เป็นกติกาทำงานการเมืองเพื่อให้เกิดสุนทรีย์

"เวลาทำงานศิลปะจะมีหลักคิดอย่างหนึ่งคือทำลายกฎเกณฑ์ที่มีอยู่ ผมเป็นคนละคร ดังนั้นเวลาผมคิด จะคิดเรื่องการออกจากกฎเกณฑ์เดิมทั้งในเชิงรูปแบบและวิธีบางอย่าง เพื่อออกจากธรรมเนียมปฏิบัติที่มันมีอยู่"

ส่วน "กฎในการแต่งกาย" เขาไม่ได้กำหนดไว้อย่างจริงจังว่าต้องใส่-ไม่ใส่อะไร เพียงแต่คำนึงถึงความพอดีกับประเด็นที่จะเล่นในวันนั้น ทว่ามีบางชุดที่สมบัติเคยคิดถึง แต่ยังไม่กล้าลอง

"ตอนแก้รัฐธรรมนูญปี 2550 ผมเคยคิดว่าจะแอคชั่นอย่างไรให้แรงพอ การเปลือยกายก็เข้ามาในหัวผม แต่เอาจริง ๆ ผมยังไม่กล้าพอ แต่ถ้ามันเวิร์ค มีอิมแพคพอ ในฐานะนักแสดงและนักเคลื่อนไหวก็มีราคาที่ทำได้ถ้ามันได้ผล แต่ถ้ามันไม่ได้ผลแล้วผมไปทำ มันไม่เวิร์คหรอก การเปลือยกายไม่ไช่จู่ ๆ มาทำ แต่ต้องมีเงื่อนไข มีความซับซ้อน มีความพอดีในสถานการณ์นั้น" เขาเผยแผน "แก้ผ้าเพื่อแก้รัฐธรรมนูญ" ซึ่งเคยผ่านมาเป็นแว่บความคิดหนึ่ง

เผยแรงบันดาลใจจาก ชาร์ลี แชปลิน ยอมเป็น "ตัวตลกทางการเมือง"

บางคนอาจนินทา-ติเตียนสมบัติว่า "เพี้ยน" "ป่วน" หรือเป็น "ตัวตลกทางการเมือง" ทว่าเขาไม่ยี่หระ และ "รับได้" เพราะคิดว่ามีโอกาสในการเรียนรู้กันเนื่องจากพรรคเกียนจะ "อยู่ยาวทางการเมือง"

"เราจะเล่นการเมืองแบบนี้ แล้ววันหนึ่งคุณจะเข้าใจ แต่มันต้องเริ่มจากการที่คุณสนใจก่อน ต่อให้ความสนใจของคุณนั้นเป็นความสนใจที่มองว่าเราเป็นนักการเมืองแบบบ้าบอ แต่นั่นก็เป็นความสนใจที่คุณมอบให้แล้ว แล้วก็เป็นพื้นที่ทางการเมืองประเภทหนึ่ง วันหนึ่งก็เป็นหน้าที่ของผมที่จะทำบิ๊กเซอร์ไพร์สให้ผู้ที่ติดตามผม"

ที่มาของภาพ, Sombat Boonngamanong

คำบรรยายภาพ,

สมบัติตัดต่อภาพในกิจกรรม "จ๊ะเอ๋ประยุทธ์" พร้อมระบุว่านายกฯ กับเขาเป็นคนประเภทใกล้เคียงกันคือ "นิยมในความตลก" เพียงแต่มีจุดยืนทางการเมืองแตกต่าง และคาดว่า พล.อ.ประยุทธ์จะขำกับภาพนี้

ประสบการณ์ในอดีตเมื่อครั้งร่วมดูหนังกลางแปลงกับชาวบ้านยังแจ่มชัดในสมองของเขา ชาวบ้านหัวร่อตัวงอเมื่อเห็นลีลาการแสดงของ ชาร์ลี แชปลิน เพราะคิดว่าคนที่เล่นอยู่นั้นบ้าเสียสติ แต่แท้จริงใคร ๆ ก็รู้ว่าชาร์ลีคือสุดยอดของศิลปินที่นำเสนอเรื่องราวเสียดสีสังคม-แฝงด้วยนัยมากมาย

"จริง ๆ ชาร์ลีกำลังเล่าเรื่องที่เศร้ามาก ๆ ผู้คนหิวโหยไม่มีอะไรจะกินในยุคสงคราม สิ่งที่ทำได้คือเอารองเท้าที่ใส่ไปต้มกิน มันดูตลก แต่จริง ๆ เขาจะสื่อสารปัญหาสังคมที่มี ผมชอบอะไรแบบนั้น และให้เวลาคนได้เรียนรู้ ได้ตีความเกี่ยวกับเรา เพราะในงานศิลปะจะมีกฎข้อหนึ่งว่าเรามีหน้าที่สร้างสรรค์งาน ส่วนการตีความเป็นหน้าที่ของผู้ชม"

เหตุ "พฤษภา 53" ทำ "ผู้นำความบันเทิง" ขำไม่ออก

แม้คำขวัญประจำตัวของผู้นำพรรคเกียนคือ "ผู้นำความบันเทิงสู่การเมืองไทย" แต่ลึก ๆ ในใจ สมบัติเคยผ่าน-พบเหตุการณ์ทางการเมืองที่ทำให้เขา "ขำไม่ออก" นั่นคือเหตุกระชับพื้นที่ผู้ชุมนุมเสื้อแดงเมื่อปี 2553 เขาหยุดคิด-ทบทวนยาวนานหลายวินาที ก่อนพูดถึงมัน..

"ตอนที่มีการใช้ความรุนแรงจริง ๆ ผมขำไม่ออกนะ แล้วก็โกรธ เครียด ต้องการตอบโต้ แต่เมื่อผมตั้งหลักได้ สิ่งที่ผมทำคือใช้ความขำ เพราะผมไม่สามารถตอบโต้ความรุนแรงด้วยความรุนแรงได้ ดั้งนั้นวิธีการตอบโต้ของผมจึงทำผ่านกิจกรรมที่มีอารมณ์ขันแฝงอยู่ตรงนั้น"

นี่คือ "Do & Don't" หรือสิ่งที่ "ควรทำและไม่ควรทำ" ซึ่งสมบัติกำหนดเป็นกรอบในการเคลื่อนไหวทางการเมืองของตน จึงไม่แปลกหากจะเห็นสมบัติผู้ถูกเรียกขานอีกชื่อว่า "แกนนอนกลุ่มวันอาทิตย์สีแดง" อยู่ใน "ชุดคนธรรมดา" สวมเสื้อยืด-กางเกงขาสั้น ไปจัดกิจกรรมปล่อยลูกโป่ง, ผูกผ้าแดง, เต้นแอโรบิก, แต่งชุดผีเพื่อบอกว่า "ที่นี่มีคนตาย" บริเวณสี่แยกราชประสงค์ ในช่วงดังกล่าว

เขายอมรับว่านี่อาจดู "ไม่ตลก" มาก เพราะสิ่งที่เขาต้องการจริง ๆ คือ "ลดความกลัว" ในจิตใจของผู้มีอำนาจว่าเขาเป็นมือยิงเอ็ม 79 เพื่อให้การแสดงออกในเชิงสัญลักษณ์เกิดขึ้น-ไปต่อได้

ที่มาของภาพ, Paris Jitpentom/BBC Thai

ท้ายที่สุดเมื่อนึกถึงสมบัติในฐานะผู้ก่อตั้งพรรคเกียน ภาพที่เขาอยากให้คนไทยจดจำคือคนธรรมดาที่มารวมตัวกัน พยายามทำพรรคการเมืองที่สร้างสรรค์ สนุก แปลกใหม่ และออกไปจากการเมืองเก่าโดยเฉพาะการจัดทำนโยบายที่เขาระบุว่าใกล้เคียงกับพรรคการเมืองใหญ่

"วันใดเราเสนอนโยบายแล้วไปเบียดพรรคใหญ่ ๆ ได้ คนจะมองข้ามเครื่องแต่งกาย แล้วไปมองเราที่ข้อเสนอ แล้วมันจะสนุกมากเลย ผมรอวันนั้น" เขากล่าวทิ้งท้าย

คุณผู้อ่านสามารถติดตามความเคลื่อนไหว สัมภาษณ์พิเศษ บทวิเคราะห์ พร้อมทั้งทำความรู้จักกับ การเลือกตั้ง 2562 โดยทีมงานบีบีซีไทยได้ที่เว็บไซต์ www.bbc.com/thai/election2019 พร้อมทั้งสื่อสังคมออนไลน์บีบีซีไทยผ่านทาง เฟซบุ๊ก, อินสตาแกรม และ ยูทิวบ์ รวมทั้ง #ThaiElection2019 หรือ #เลือกตั้ง2562