หน้าหนาวแล้วไม่หนาว ทำไมไทยหนาวน้อยลง

บรรยากาศหน้าหนาวที่คนไทยใฝ่หา

ที่มาของภาพ, Busaba Sivasomboon/BBC Thai

คำบรรยายภาพ,

ความหนาวของภาคเหนือกลายเป็นสิ่งดึงดูดให้คนไทยไปท่องเที่ยว

กรมอุตุนิยมวิทยาประกาศให้ประเทศไทยเข้าสู่ฤดูหนาวอย่างเป็นทางการมาตั้งแต่ 27 ต.ค. ที่ผ่านมา ขณะที่อุณหภูมิทั่วประเทศเริ่มลดลง แต่คนไทยไม่น้อยรู้สึกว่าช่วงเวลาสัมผัสอากาศหนาวนั้นน้อยลงกว่าแต่ก่อนมาก ขณะที่นักวิชาการบอกว่าอุณหภูมิต่ำสุดของไทยขยับขึ้นเรื่อย ๆ มาทุกปี

ประกาศของกรมอุตุนิยมวิทยาระบุว่าในวันนี้ ทางภาคเหนือของประเทศอุณหภูมิจะลดลงอีก 2-4 องศา ส่วนภาคกลางของประเทศในช่วงวันที่ 30 ต.ค. - 2 พ.ย. อากาศเย็นกับมีลมแรง อุณหภูมิจะลดลง 2-4 องศาเซลเซียสเช่นกัน โดยที่อุณหภูมิต่ำสุดอยู่ที่ 18-22 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุดอยู่ที่ 30-32 องศาเซลเซียส

แต่คนจำนวนมากรู้สึกว่าความหนาวในประเทศไทย โดยเฉพาะในเมืองใหญ่อย่างกทม. เป็นสิ่งที่ยากจะสัมผัสได้ บีบีซีไทยสำรวจข้อมูลความหนาวว่าลดน้อยลงไปจริงหรือ

ที่มาของภาพ, AFP/Getty Images

คำบรรยายภาพ,

เมื่อวันที่ 24-25 มกราคม ปี 2559 อุณหภูมิลดลงต่ำกว่า 20 องศาเซลเซียส ทำให้ผู้คนในกทม. เอาเสื้อหนาวออกมาใส่กัน

อุณหภูมิต่ำสุดเฉลี่ยเพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

ในรายงานของศูนย์ยุทธศาสตร์การวิจัยเพื่อการเปลี่ยนแปลงทางอากาศชี้ว่า อุณหภูมิในประเทศไทยในรอบ 55 ปีที่ผ่านมา (พ.ศ. 2498 - 2552) เพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสําคัญ โดยค่าเฉลี่ยรายปีของอุณหภูมิต่ำสุดเพิ่มขึ้น 1.45 องศาเซลเซียส ส่วนอุณหภูมิสูงสุดเพิ่มขึ้น 0.86 ในขณะที่อุณหภูมิเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 0.95 องศาเซลเซียส

ส่วนอัตราการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิต่อทศวรรษของไทยอยู่ที่ 0.174 องศาเซลเซียสต่อทศวรรษ ซึ่งมีอัตราการเพิ่มขึ้นสูงกว่าค่าเฉลี่ยของโลกที่อยู่ที่ 0.126 องศาเซลเซียสต่อทศวรรษ นอกจากนี้การศึกษาก็ยังพบว่าอุณหภูมิผิวน้ำทะเลเฉลี่ยในอ่าวไทยและทะเลอันดามันมีแนวโน้มสูงขึ้นประมาณ 0.1 องศาเซลเซียสต่อทศวรรษ ในรอบ 50 ปี (พ.ศ.2510 - 2549)

นักอุตุวิเคราะห์ของกรมอุตุนิยมวิทยาที่ให้สัมภาษณ์กับบีบีซีไทยทางโทรศัพท์ระบุว่านับตั้งแต่ที่มีการเก็บข้อมูลอุณหภูมิของไทยมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2494 จนปัจจุบันพบว่าอุณหภูมิต่ำสุดของทั้งประเทศในแต่ละปีนั้นเพิ่มสูงขึ้นทีละน้อยมาตลอด

ที่มาของภาพ, Kidanan Suchinai Ngamdeevilaisak

คำบรรยายภาพ,

สภาพการเป็นเกาะความร้อนเมือง ทำให้คนกทม.มีโอกาสรับความหนาวน้อยลง

"อุณหภูมิต่ำสุดของวันที่เฉลี่ยทั้งปีซึ่งเพิ่มขึ้นมาตลอด และทำให้เรารู้สึกว่าเวลาอากาศไม่เย็นหรือหนาวมากเท่ากับแต่ก่อน นอกจากนี้อุณหภูมิของประเทศก็ยังมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นอนาคตอีกด้วย" นักอุตุวิเคราะห์ซึ่งขอไม่ให้ชื่อกล่าว และระบุด้วยว่าในเขตเมืองใหญ่อย่างเช่น กทม. ผู้คนอาจจะรู้สึกถึงความหนาวที่น้อยลงอย่างชัดเจน เพราะปรากฎการณ์ที่เรียกว่า เกาะความร้อนเมือง หรือ urban heat island

กรุงเทพกับ "เกาะความร้อนเมือง"

เกาะความร้อนเมือง คือ การเติบโตของเมืองที่มีการก่อสร้างอาคารและโครงการต่าง ๆ เพื่อรองรับประชากรที่เพิ่มมากขึ้น อาคารบ้านเรือนและตึกสูง ๆ มีวัสดุที่คอยดูดซับความร้อนโดยตรงจากแสงอาทิตย์อยู่มากมาย รวมไปถึงความร้อนที่เกิดขึ้นจากการเผาผลาญพลังงานเชื้อเพลิง ไอเสียที่มาจากรถยนต์มลพิษต่าง ๆ ทำให้เกิดปรากฏการณ์เรือนกระจกเฉพาะบริเวณได้ ฝุ่นที่แขวนลอยอยู่ในอากาศก็เป็นตัวดูดซับความร้อนไว้เพิ่มมากขึ้น

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ,

สภาพหมอกควันเหนือกรุงเทพ ฯ เห็นได้ชัดเจนเมื่อพระอาทิตย์ตก

ขณะที่ต้นไม้ที่เคยทำหน้าที่คอยดูดซับรังสีของดวงอาทิตย์แล้วเปลี่ยนไปเป็นพลังงานในกระบวนการสังเคราะห์แสงมีน้อยลง จึงทำให้แสงอาทิตย์ที่ส่องลงมาถึงวัตถุเต็มๆความร้อนก็จะถูกดูดซับไว้และทำให้อากาศร้อนขึ้น

ความร้อนที่ปล่อยออกจากเครื่องปรับอากาศของอาคาร โรงงาน อุตสาหกรรมและแหล่งก่อความร้อนอื่นๆในเมือง ต่างมีส่วนทำให้เกิดปรากฏการณ์เกาะความร้อนได้เช่นกัน

ผลกระทบที่ตามมาที่สังเกตเห็นได้จากการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิ รวมทั้งความรู้สึกของผู้อาศัยในเมืองที่ร้อนขึ้นในแต่ละฤดูกาล ซึ่งกรม ฯระบุว่าระหว่างปีพ.ศ. 2553 -2556 พบว่า กทม. มีอากาศร้อนถึงร้อนจัดมาอย่างต่อเนื่อง วันที่ร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์ของกทม.คือวันที่ 26 มีนาคม 2556 โดยมีอุณหภูมิ 40.1 องศาเซลเซียส

แม้ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา อุณหภูมิที่ร้อนที่สุดจะลดลง แต่วันที่ถือว่าเป็นวันที่มีความร้อนสูง ตามนิยามของกรมอุตุนิยมวิทยา คือ เกิน 35 องศาเซลเซียสในกทม. มีอยู่ราว 120 กว่าวันในหนึ่งปี หรือเกือบ 4 เดือน