เวียดนามอพยพ: อนาคตมืดมนของ มองตานญาด ชนกลุ่มน้อยนับถือคริสต์หนีตายมาอยู่อย่างไร้สถานะในไทย

สองเดือนหลังจากที่ซิว (นามสมมุติ) หนีคำขู่ฆ่าจากตำรวจเวียดนามมายังประเทศไทย เพื่อนร่วมชะตากรรมกว่า 130 คนที่เป็นชนกลุ่มน้อยนับถือศาสนาคริสต์ในเวียดนาม และอาศัยอยู่ในชุมชนเดียวกับเธอ ถูกจับกุมที่ อ.บางใหญ่ จ.นนทบุรี โทษฐานเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย
ซิวเป็นชาวมองตานญาด (Montagnard) ซึ่งเป็นคำที่ใช้เรียกกลุ่มชาติพันธุ์หลายกลุ่มที่นับถือศาสนาคริสต์ ที่อาศัยอยู่ในที่ราบสูงตอนกลางของเวียดนามและกัมพูชา เธอขอให้สงวนชื่อจริง เนื่องจากกลัวการคุกคามจากรัฐบาลไทยและเวียดนาม เช่นเดียวกับชาวมองตานญาดคนอื่น ๆ ที่บีบีซีไทยสัมภาษณ์ในบทความนี้
- ลูกหลานผู้แสวงหาที่ลี้ภัยเสี่ยงถูกกักกันในไทย
- "บ็อกเซอร์" 1 ในชาวปากีสถานคริสเตียนกว่า 800 คน ที่หนีภัยศาสนาสู่มุมอับในไทย
- โรงเรียน "ใต้ดิน" ใน กทม. ต่อความหวังให้เด็กปากีสถานคริสเตียนผู้รอลี้ภัย
แม้เธอจะรอดจากการจับกุมเนื่องจากออกไปข้างนอกในตอนนั้น แต่เหตุการณ์นั้นทำให้เธอต้องย้ายไปอยู่ที่อื่น และนอนรวมกับเพื่อนร่วมชาติของเธออีกกว่า 20 คนในห้องเดียวกัน
หญิงวัย 53 ปี เดินทางมาพบกับบีบีซีไทยพร้อมกับหมวกคู่ใจของเธอ ที่ต้องสวมตลอดเวลาที่เธอออกไปกลางแจ้ง เพื่อปกป้องหนังศีรษะจากความแสบเมื่อถูกไอร้อนของแสงอาทิตย์
ตาของเธอ นอกจากจะปวดแล้วยังมองไม่ชัด และมีน้ำตาไหลออกอยู่เรื่อย ๆ ทำให้เธอต้องพกผ้าเช็ดหน้าเพื่อซับน้ำตาอยู่เป็นประจำ

"ในตัวของฉันมีความเจ็บปวดหลายอย่าง" เธอกล่าวกับบีบีซีไทยผ่านล่ามเป็นภาษาจราย ซึ่งเป็นชนเผ่าหนึ่งในกลุ่มมองตานญาด
แผลกายและแผลใจที่มีอยู่นับไม่ถ้วนในร่างกายของเธอ เกิดขึ้นเพียงเพราะเธอนับถือศาสนาคริสต์ และเป็นชนกลุ่มน้อยที่มีประวัติศาสตร์อันร้าวฉานกับรัฐบาลคอมมิวนิสต์
เหตุการณ์นั้นเพิ่งผ่านไปแค่ปีเดียว และยังคงฝังอยู่ในใจของเธอไม่รู้ลืม
ถ้าต่อสู้ จะโดนฆ่าเหมือนสามี
ข้อมูลของสำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชน แห่งสหประชาชาติเมื่อปี 2014 ระบุว่า เวียดนามมีประชากรราว 90 ล้านคน ราว 3/4 ของประชากรไม่ได้นับถือศาสนา แต่ปฏิบัติพิธีกรรมตามความเชื่อท้องถิ่นดั้งเดิม ที่เหลือแแบ่งเป็นชาวพุทธ 11 ล้านคน , ชาวคาลอลิก 6.2 ล้านคน, โปรแตสแตนท์ 1.4 ล้านคน และมุสลิม 7.5 หมื่นคน กลุ่มทางศาสนาต้องมีการจดทะเบียนภายใต้รัฐบาล ซึ่งจะผ่านการรับรองหรือไม่ขึ้นอยู่กับกรมศาสนา และกิจกรรมทางศาสนาจะถูกควบคุมโดยรัฐ
นิโคลัส เบเคลัง ผู้อำนวยการสำนักงานภูมิภาคเอเชียตะวันออกและตะวันออกเฉียงใต้ ของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวกับบีบีซีไทยว่า รัฐบาลเวียดนามปกติแล้วจะปราบปรามเฉพาะกลุ่มทางศาสนาที่มีความคิดที่แตกต่างจากคอมมิวนิสต์ หรือมีความขัดแย้งในอดีตกับรัฐบาล ซึ่งนั่นก็รวมไปถึงชาวมองตานญาด
"ส่วนมากแล้วชาวมองตานญาดไม่อยากจะจดทะเบียน เพราะเมื่อจดทะเบียนกับรัฐบาล คุณก็จะต้องถูกติดตามและดูแลโดยรัฐ" เขากล่าว
ย้อนกลับไปเมื่อปี 2543 ที่บ้านหลังเล็ก ๆ ของซิว เคยเป็นที่ ๆ เพื่อนบ้านราว 50 คน มารวมตัวกันเพื่อประกอบพิธีทางศาสนาคริสต์ในวันอาทิตย์
แต่สามปีให้หลัง บ้านที่คล้ายโบสถ์เล็ก ๆ แห่งนั้นต้องปิดตัวลงเมื่อสามีของเธอถูกเจ้าหน้าที่รัฐจับกุม ช่วงนั้นเองเป็นช่วงที่ซิวถูกสั่งให้ไปรายงานตัวที่สถานีตำรวจบ่อยครั้ง
บีบีซีไทยได้เห็นคำสั่งให้มารายงานตัวจากสถานีตำรวจ ที่ส่งไปยังบ้านของซิว ทั้งหมด 30 ใบ ตั้งแต่ปี 2544-2560 โดยมีการระบุเป็นภาษาเวียดนามว่า "ให้มาทำงาน" โดยไม่ระบุฐานความผิดอะไร
ซิวอ้างว่า ในแต่ละครั้งที่เธอไปที่สถานีตำรวจ เธอจะถูกสอบสวน ข่มขู่ และซ้อมทรมาน
"รัฐบาลเวียดนามเป็นคอมมิวนิสต์ ทุกครั้งที่มาที่บ้านจะบอกว่าไม่ให้นับถือศาสนาคริสต์ เพราะกลัวว่าจะเสียความเชื่อในรัฐบาล" เธอกล่าว
สถานทูตเวียดนามประจำประเทศไทยปฏิเสธที่จะให้สัมภาษณ์บีบีซีไทยประกอบบทความนี้ โดยระบุว่า เอกอัครราชทูตไม่ว่างที่จะให้สัมภาษณ์ในประเด็นดังกล่าว
ถูกบังคับให้เปลี่ยนศาสนา
ซิวอ้างว่าสามีของเธอซึ่งเป็นบาทหลวง เสียชีวิตเมื่อเดือน มิ.ย. ปีที่แล้ว เป็นการ "วิสามัญฆาตกรรม" จากตำรวจในท้องถิ่นโดนใช้ยาพิษใส่ลงไปในอาหาร ไม่นานนักก็ถึงคราวของเธอ
"ตำรวจบอกว่าจะฆ่าเราเหมือนตอนที่บอกว่าจะฆ่าสามี ตอนนั้นกลัวมาก" ซิว เล่าย้อนไปถึงตอนที่ตำรวจได้มาพบเธอที่บ้าน
วันหนึ่งซิวถูกคุมตัวไว้ที่สถานีตำรวจเป็นเวลา 7 โมงเช้าถึงตี 1 และถูกบังคับให้เซ็นเอกสารเพื่อเลิกนับถือศาสนาคริสต์ แต่เธอขัดขืน
ในขณะที่ถูกใส่กุญแจมือ เธออ้างว่าถูกเตะด้วยรองเท้าสีดำและตีด้วยกุญแจมือที่ซี่โครงและหลัง และใช้มือจิกผมพร้อมกับเอาหัวปากกาจิ้มเข้าที่หัวหลายครั้งจนเลือดไหล
สิ่งที่เกิดขึ้นกับซิวและสามี เป็นสิ่งที่ชนกลุ่มน้อยมองตานญาดหลาย ๆ คนประสบกับตัวเอง และสอดคล้องกับรายงานว่าด้วยเสรีภาพทางศาสนานานาชาติ ประจำปี 2561 ของรัฐบาลสหรัฐฯ ที่กำหนดให้เวียดนามอยู่ในกลุ่มประเทศเฝ้าระวัง
รายงานดังกล่าวระบุว่า กลุ่มมองตานญาดเป็นหนึ่งในหลายกลุ่มที่ถูกคุกคามทางศาสนา ซึ่งรวมไปถึงการห้ามไม่ให้ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา เรียกให้พบเจ้าหน้าที่ กดดันให้ยุติความเชื่อ ยึดที่ดิน และขู่ว่าจับกุมและซ้อมทรมาน ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวได้เกิดขึ้นใน จ.ดั๊กลัก จ่าวิญ บิ่ญเฟื้อก และกอนตูม
เบเคลัง จากแอมเนสตี้ฯ กล่าวว่า มีสองเหตุผลที่ทำให้รัฐบาลปราบปรามชาวมองตานญาด คือ เหตุผลทางด้านศาสนา และเหตุผลทางด้านประวัติความขัดแย้งทางการเมืองกับรัฐบาลคอมมิวนิสต์
ในช่วงสงครามเวียดนาม ระหว่างที่เวียดนามตกเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศส ฝรั่งเศสได้ให้สิทธิ์แก่ชาวมองตานญาดในที่ราบตอนกลางในการปกครองตนเอง
แต่เมื่อฝรั่งเศสแพ้สงครามและเวียดนามได้รับอิสรภาพ รัฐบาลเวียดนามใต้ก็ได้ถอนสิทธิ์การปกครองตนเองแก่ชาวมองตานญาด ทำให้พวกเขาต้องต่อสู้เพื่ออิสรภาพของตนเองอีกครั้ง
ต่อมาพวกเขาได้ร่วมมือกับกองทัพของสหรัฐฯ เพื่อต่อสู้กับกองทัพทางเวียดนามเหนือ ในช่วงเวลานั้นเองที่ศาสนาคริสต์นิกายโปรแตสแตนท์เริ่มแผ่ขยายเข้ามาในเขตที่ราบสูงตอนกลางของเวียดนาม
รัฐบาลเวียดนามยังมีแนวคิดเชิงลบกับศาสนาคริสต์โดยรวม เนื่องจากมองว่าเชื่อมโยงกับแนวคิดของชาติตะวันตก และอิทธิพลจากสหรัฐฯ
"ปัจจัยทางด้านศาสนาและประวัติศาสตร์เหล่านี้เป็นสิ่งที่ทำให้ชาวมองตานญาดดูไม่ดีมาก ๆ ในสายตาของรัฐบาล" เบเคลัง กล่าว
นอกจากนั้นยังมีชาวม้งและเขมรใต้ ที่ตกอยู่ภายใต้สถานการณ์ที่คล้ายคลึงกับชาวมองตานญาด
หนีมาไทย
ในวันที่ 2 ก.ค. ซิวเดินทางมาถึงประเทศไทยพร้อมกับหลานชาย
ที่ไทย เธอได้ลงทะเบียนกับสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ หรือ UNHCR เป็น "บุคคลในความห่วงใย" ซึ่งเป็นบุคคลที่อยู่ในกระบวนการตัดสินของ UNHCR ว่าควรจะได้รับสถานะผู้ลี้ภัย (refugee) หรือไม่
"เราคิดว่าถ้ามาไทยเราจะปลอดภัยและจะได้ไม่กลัวตำรวจจะมาที่บ้าน ไม่กลัวการติดคุกจากรัฐบาลอีกแล้ว" เธอกล่าว
ในหลายปีที่ผ่านมา ชาวคริสเตียนมองตานญาดหลายคนหนีภัยศาสนาจากเวียดนาม ส่วนมากผ่านทางประเทศกัมพูชา
ข้อมูลจาก UNHCR ระบุว่า ในปีที่แล้ว UNHCR ในไทยได้รับรองสถานะผู้ลี้ภัยที่มาจากเวียดนามทั้งหมด 450 คน และมีอีก 471 คนที่ยังรอการรับรองสถานะอยู่
แม้ว่า UNHCR จะไม่จำแนกผู้ลี้ภัยในแง่ของศาสนาหรือเชื้อชาติ แต่ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า เกือบทั้งหมดที่อยู่ในไทยเป็นชาวมองตานญาด
ซิว หวังว่าเธอจะได้รับสถานะผู้ลี้ภัย และได้ไปอยู่อาศัยในประเทศที่สาม เธอเคยได้ยินว่า มีคนมองตานญาดได้ไปสหรัฐฯ และแคนาดา
เจม เป็นหนึ่งในมองตานญาดชนเผ่าเอเด ที่ได้รับรองสถานะผู้ลี้ภัยจาก UNHCR เมื่อเดือน ก.ย. ปีที่แล้ว หลังจากที่มาประเทศไทยเดือน ม.ค. ปี 2558 ตั้งแต่อายุ 15 ปี
ปัจจุบันเขาอายุ 19 ปี และอยู่ในระหว่างรอคำตัดสินการถูกส่งตัวไปยังประเทศที่สาม
ที่ไทย เจมได้เรียนภาษาอังกฤษ ภาษาไทย และเรื่องสิทธิมนุษยชน
"ตอนที่เจมเรียนอยู่ รัฐบาลบอกว่า ถ้านับถือศาสนาคริสต์ เรียนจบจะไม่มีงานทำ เพราะเขาจะมองว่าทำงานให้ประเทศอเมริกา" เจมกล่าวกับบีบีซีไทยเป็นภาษาไทย "แต่เราคิดว่าศาสนาช่วยให้ชีวิตดีขึ้น เรามีความหวังในอนาคต ได้เรียนรู้พระธรรมจากพระเจ้า…เราไม่มีความคิดเรื่องการเมือง หรือทำอะไรไม่ดีกับรัฐบาล"
อยู่อย่างหวาดกลัว
หลังจากที่คนในชุมชนของซิวถูกจับกุมที่ อ.บางใหญ่เมื่อเดือน ส.ค. ตำรวจก็ได้ลงพื้นที่มากขึ้น และเข้าไปสำรวจในสถานที่ต่าง ๆ เช่น บริเวณโบสถ์และโรงเรียน ทำให้เธอและเพื่อนคนอื่น ๆ ต้องย้ายไปอยู่สถานที่แห่งใหม่
ที่พักแห่งใหม่ของเธอ มีผู้พักอาศัยร่วมห้อง 25 คน ที่อยู่ด้วยความหวาดกลัวว่าจะถูกจับกุม และท้ายที่สุดจะถูกส่งกลับไปยังประเทศเวียดนาม
ฮานนา แมคโดนัลด์ เจ้าหน้าที่ประสานงานองค์กร UNHCR ประจำประเทศไทย กล่าวว่า ผู้แสวงหาที่ลี้ภัยที่ถูกจับกุมเมื่อเดือน ส.ค. ที่ผ่านมา ส่วนมากเป็นบุคคลในความห่วงใย และหนึ่งในสามเป็นเด็ก
ปัจจุบันประเทศไทยไม่มีกฎหมายระดับประเทศที่เกี่ยวข้องกับผู้ลี้ภัย ดังนั้น ผู้แสวงหาที่ลี้ภัยและผู้ลี้ภัย ตกอยู่ภายใต้กฎหมายเข้าเมือง หากพวกเขาไม่มีวีซ่าที่ถูกต้อง เขาอาจจะถูกมองว่าเป็น "คนต่างด้าวที่ผิดกฎหมาย" (illegal aliens) และอาจถูกกักกันโดยสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง หาก UNHCR ได้รับการแจ้งว่ามีผู้ที่ถูกจับกุม จะพยายามเข้ามาแทรกแซงเพื่อป้องกันการจับกุม
บุษฎี สันติพิทักษ์ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ เคยให้สัมภาษณ์บีบีซีไทยเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า แม้ไทยไม่ได้เป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัย ค.ศ. 1951 แต่ไทยยึดมั่นในการให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมแก่บุคคลเหล่านี้มาโดยตลอด ทั้งนี้ รัฐบาลไทยอยู่ระหว่างพิจารณาเรื่องการเป็นภาคีอนุสัญญาฯ ดังกล่าว
"ประเทศไทยจำเป็นต้องดูความสมดุลระหว่างการบังคับใช้กฎหมายเพื่อป้องกันผล กระทบเชิงลบจากการเคลื่อนย้ายถิ่นฐานที่ไม่ปกติกับการรักษาหลักการด้านมนุษยธรรมที่ไทยยึดถือมาโดยตลอด โดยเฉพาะในช่วงหลังที่มีผู้โยกย้ายถิ่นฐานทั้งถูกกฎหมายและผิดกฎหมายจำนวนมากมายื่นขอแสวงหาที่พักพิงกับ UNHCR ที่กรุงเทพฯ" เธอกล่าวกับบีบีซีไทย
นอกจากนี้เธอยังกล่าวว่า ทางการไทยจับกุมผู้แสวงหาแหล่งพักพิงที่เข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย โดยชอบธรรมและเท่าเทียม และได้ให้การดูแลโดยคำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชนตามหลักสากล โดยยึดหลักการไม่ส่งกลับ (non-refoulement) อีกทั้งยังให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม โดยพยายามให้การดูแลแก่ผู้ที่ถูกกักตัวในห้องกักของสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองอย่างดีที่สุด นอกจากนี้ ยังอนุญาตให้เอ็นจีโอสามารถประกันตัวผู้ถูกกักได้
ปัจจุบัน ชาวมองตานญาด 85 คนถูกส่งไปยังสถานกักกันของสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ไม่นับรวมผู้หญิงสี่คนที่ได้รับการปล่อยตัวให้ไปอยู่กับลูกเล็กที่บ้านพักของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ที่ ๆ มีเด็กชาวมองตานญาดอีก 47 คน
ชุมชนมองตานญาดที่อื่นที่บีบีซีไทยได้ลงพื้นที่ไปสำรวจ ต่างก็อยู่อาศัยด้วยความหวาดกลัว
เนื่องจากไม่มีรายได้ พวกเขาอยู่ได้จากการรับข้าวสารและอาหารแห้งจากโบสถ์ และได้รับความอนุเคราะห์จากมูลนิธิต่าง ๆ เรื่องค่าที่พัก
ส่วนเจม แม้ว่าจะได้การรับรองสถานะผู้ลี้ภัยจาก UNHCR แล้ว แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าสถานะของเขาในไทยจะถูกกฎหมาย เนื่องจากยังไม่มีกฎหมายไทยตัวไหนที่รับรองสถานะการอยู่ในราชอาณาจักรอย่างถูกกฎหมายของบุคคลในความคุ้มครองของ UNHCR อีกทั้งการย้ายไปอยู่ประเทศที่สามก็อยู่ในดุลยพินิจของประเทศนั้น ๆ ซึ่งเจมบอกว่า "คงจะมีโอกาสน้อยมาก"
"เจมเองคิดว่าถ้าไปประเทศที่สามไม่ได้ ก็จะอยู่ไทย รอจนกว่าประเทศเจมเปลี่ยน ถึงกลับได้" เขากล่าว "เราอยากจะใช้ชีวิตต่อไปอย่างมนุษย์ เราไม่อยากจะมีชีวิตเหมือนทาสอย่างที่เราเคยเป็นที่เวียดนาม"