ร่าง พ.ร.บ. ข้าว : ทำไมสนช.ยอมถอย ถอนร่างกฎหมาย ปัดมีใบสั่งจากนายกฯ

พรบ ข้าว

ที่มาของภาพ, Reuters

สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ถอนวาระการพิจารณาร่าง พ.ร.บ. ข้าว ออกไปอย่างไม่มีกำหนด นั่นหมายความว่าจะไม่มีกฎหมายฉบับนี้คลอดออกมาภายในวาระของรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)

นายกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ สมาชิก สนช. เจ้าของร่างกฎหมายนี้ กล่าวว่า การถอนร่าง พ.ร.บ. เป็นไปเพื่อให้เกิดความชัดเจนกับทุกฝ่ายที่ยังมีความเห็นไม่ตรงกัน

"อยากฝากสื่ออย่าไปโยงถึงท่านนายกฯ ท่านนายกฯ ไม่ได้เกี่ยว ไม่ได้สั่ง ไม่ได้มีซิก (สัญญาณ) อะไรทั้งนั้น... อยากให้สื่อเข้าใจตรงกันว่าเราก็รักประเทศ เมื่อยังเห็นว่ายังมีความไม่เข้าใจ ยังมีความขัดเแย้ง เราจึงเสนอให้เลื่อนวาระเลื่อน พ.ร.บ. ข้าวไปอย่างไม่มีกำหนด" นายกิตติศักดิ์ กล่าวที่รัฐสภาเมื่อช่วงสายที่ผ่านมา

ก่อนหน้านี้ สนช. ได้บรรจุร่าง พ.ร.บ. ข้าว เป็นวาระพิจารณา "เรื่องด่วนที่ 1" ซึ่งเลื่อนมาจากการประชุม สนช. วันที่ 22 ก.พ. แต่ทันทีที่เปิดประชุม นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. ได้แจ้งสมาชิกว่าขอเลื่อนร่าง พ.ร.บ. ข้าวไปพิจารณาเป็น "เรื่องด่วนที่ 2" แล้วสลับนำร่างกฎหมายที่อยู่ในวาระที่ 2 ขึ้นมาพิจารณาแทน

แต่ระหว่างนั้นได้มีการประชุมตัวแทน 3 ฝ่าย ประกอบด้วย ประธาน สนช., กมธ. พิจารณาร่าง พ.ร.บ. ข้าว และคณะกรรมการกรรมาธิการสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (วิป สนช.) ก่อนที่นายกิตติศักดิ์ จะออกมาเปิดเผยเรื่องนี้ และยืนยันขอถอนร่างกฎหมายออกจากการพิจารณาในวาระ 2-3 อย่างไม่มีกำหนด ทั้ง ๆ ที่วานนี้ (25 ก.พ.) นายสมชาย แสวงการ เลขานุการ วิป สนช. เพิ่งยืนยันนำร่างกฎหมายที่ปรับแก้แล้วเข้าสู่การพิจารณาของ สนช. ภายหลังวิป สนช. กับรัฐบาลหารือร่วมกัน เพราะ "หากถอนออกไปอาจเสียดายโอกาส"

ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา ภาควิชาการและภาคประชาสังคมได้ออกมาวิจารณ์เนื้อหาของร่าง พ.ร.บ. ข้าว ในหลายประเด็น อาทิ การซื้อขายเมล็ดพันธุ์ข้าวของชาวนา และการให้อำนาจกรมการข้าวในการควบคุมและลงโทษผู้เกี่ยวข้อง ซึ่ง สนช. ได้ปรับแก้ร่างใหม่และบรรจุเข้าวาระ 2-3 ก่อนที่จะยอมถอนร่างออกจากการพิจารณา

นอกจากนี้การเร่งพิจารณากฎหมายหลายฉบับของ สนช. ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ทำให้ภาคประชาชน กดดันให้ สนช. ยุติพิจารณาร่างกฎหมายทุกฉบับทันที โดยชี้ว่าเป็นกระบวนการพิจารณากฎหมายที่เร่งรีบ ไม่รอบคอบ อีกทั้งหลายฉบับไม่มีการรับฟังความเห็นของประชาชน โดยวันนี้มีร่างกฎหมายรวม 7 ฉบับที่เข้าสู่การพิจารณาของ สนช. ซึ่งรวมทั้งร่าง พ.ร.บ. การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์

ย้อนดู พ.ร.บ. ข้าว ฉบับแก้ร่าง ตัดมาตราที่เป็นปัญหาออก แต่ยังมีโทษจำคุก

ร่าง พ.ร.บ. ข้าว ฉบับที่ปรับแก้ร่างใหม่ ปรับปรุงเมื่อวันที่ 25 ก.พ. 2562 มีการตัดมาตราที่กำหนดโทษจำคุกและโทษปรับแก่ผู้ที่จำหน่ายเมล็ดพันธุ์ข้าวเสื่อมคุณภาพ หรือเมล็ดข้าวปลอมปน (มาตรา 29-31) ออกไป และมีการปรับลดอัตราโทษปรับบางมาตรา

อย่างไรก็ตามยังพบว่ามีการกำหนดโทษจำคุกและปรับ แก่ผู้ที่ออกใบรับซื้อข้าวเปลือกอันเป็นเท็จ ผู้ประกอบธุรกิจจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ ผู้ตรวจสอบคุณภาพเมล็ดพันธุ์ข้าว ที่กระทำการผิดกฎหมาย (มาตรา 32-33/5)

นอกจากนี้มาตราที่ระบุเกี่ยวกับการควบคุมพันธุ์ข้าวและการจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ข้าว (มาตรา 22-27) ก็ถูกตัดออก แต่ยังมีความในมาตรา 27/1-27/5 ซึ่ง พล.อ. มารุต ปัชโชตะสิงห์ ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติข้าว แถลงวานนี้ (25 ก.พ.) ว่า เป็นการดูแลสนับสนุนส่งเสริมในเรื่องคุณภาพมาตรฐานเมล็ดพันธุ์ข้าว โดยให้กรมการข้าวตรวจสอบและรับรองว่าพันธุ์ข้าวนั้นเป็นพันธุ์ข้าวที่มีคุณภาพแต่ไม่บังคับแก่พันธุ์ข้าวพื้นเมืองเฉพาะถิ่น พันธุ์ข้าวพื้นเมืองทั่วไป พันธุ์ข้าวใหม่ที่ชาวนาเป็นผู้ปลูกเองหรือให้ผู้อื่นใช้เพาะปลูกและไม่ได้ตัดสิทธิ์ส่วนบุคคลที่จะยื่นคำขอให้เป็นพันธุ์ข้าวรับรองโดยสมัครใจ

ก่อนหน้านี้ ดร. นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ ผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายเกษตรและชนบท สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ระบุว่าในร่างแรกของกฎหมายก่อนผ่านวาระ 1 "เน้นเรื่องให้อำนาจแก่กรมการข้าวในการควบคุมและลงโทษผู้ที่เกี่ยวข้องกับการค้าข้าว เสมือนหนึ่งประเทศไทยยังอยู่ในยุคด้อยพัฒนา..."

ทว่าเมื่อผ่านวาระ 1 ของ สนช. มาแล้วเมื่อวันที่ 30 ม.ค. ที่ผ่านมา ก็ยังคงมีมาตราสำคัญบางมาตราที่เป็นอันตรายต่อการพัฒนาคุณภาพข้าวไทย อีกทั้งยังไม่มีมาตราชัดเจนเรื่องการพัฒนาอาชีพทำนาที่มั่นคง และการส่งเสริมการพัฒนาห่วงโซ่การผลิตข้าว

"หากสภานิติบัญญัติแห่งชาติผ่านกฎหมายดังกล่าว จะเกิดความเสียหายใหญ่หลวงต่อวงการข้าวไทย โดยเฉพาะการซื้อขายเมล็ดพันธุ์ข้าว" ดร. นิพนธ์แสดงความเห็นไว้ในบทความชื่อ ร่าง พ.ร.บ.ข้าว : เพื่อชาวนาจริง หรือ ? บนเว็บไซต์ทีดีอาร์ไอ

ไอลอว์ชี้ พ.ร.บ. มั่นคงไซเบอร์ จนท. รัฐสอดส่องข้อมูลได้แบบเรียลไทม์

ร่าง พ.ร.บ. การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ถูกบรรจุอยู่ในวาระการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในวาระ 2-3 วันนี้เช่นกัน

โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (ไอลอว์) ระบุว่า "ร่างฉบับนี้จะถูกปรับแก้ไปแล้วหลายต่อหลายรอบ แต่ก็ยังคงมีปัญหาที่เสี่ยงจะถูกนำมาใช้ละเมิดสิทธิของประชาชนอยู่เหมือนเดิม"

ไอลอว์ยังระบุ ถึงประเด็นน่ากังวลของกฎหมายฉบับนี้บนเฟซบุ๊ก ในหลายประเด็น อาทิ การเปิดทางให้ตีความขยายความหมายของภัยคุกคามไซเบอร์ให้กว้างขึ้น เช่น อันกระทบหรืออาจกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชนหรือเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐ เจ้าหน้าที่รัฐสามารถขอข้อมูลจากใครก็ได้เพื่อประโยชน์ในการทำงาน ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ ยึดค้น ทำสำเนาคอมพิวเตอร์ ระบบคอมพิวเตอร์ และข้อมูลคอมพิวเตอร์ และเมื่อมีภัยคุกคามไซเบอร์ร้ายแรงขึ้นไป เจ้าหน้าที่รัฐสามารถสอดส่องข้อมูลได้แบบเรียลไทม์

ที่มาของภาพ, สภานิติบัญญัติแห่งชาติ

คำบรรยายภาพ,

รายละเอียดประเด็นการให้อำนาจเจ้าหน้าที่รัฐขอข้อมูลที่เป็นปัจจุบันและต่อเนื่อง และผู้นั้นต้องให้ความร่วมมือโดยเร็ว

เดือนเดียว สนช. ผ่านกฎหมาย 66 ฉบับ

ไอลอว์ระบุว่า นับตั้งแต่วันที่ 18 ม.ค.-18 ก.พ. 2562 สนช. ผ่านกฎหมายไปแล้วถึง 66 ฉบับ เมื่อเข้าสู่ต้นปี 2562 แม้จะมีการกำหนดวันเลือกตั้ง และประเทศกำลังเดินหน้าเข้าสู่การเลือกตั้ง แต่ สนช. ยังมีอำนาจออกกฎหมายไปจนถึงวันที่มีการเรียกประชุมสภาหลังการเลือกตั้ง

เมื่อรวมกฎหมายที่ผ่านความเห็นชอบจาก สนช. ตั้งแต่ถูกแต่งตั้งมา มีจำนวน 412 ฉบับ

นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) กล่าวกับผู้สื่อข่าวสายรัฐสภาเมื่อปลายปี 2561 ว่า ผลงานของสนช.ในรอบกว่า 4 ปีที่ผ่านมาในด้านปริมาณของกฎหมายดำเนินการมากกว่าสภาปกติ ที่มี ส.ส.และ ส.ว. เพราะสภาปกติใช้เวลาในการพิจาณากฎหมายเพิ่มมากขึ้น

พร้อมยอมรับว่า สนช. มีการตรวจสอบที่น้อยกว่าสภาปกติที่มีฝ่ายค้านคอยตรวจสอบรัฐบาล และให้คะแนนการทำงาน สนช. 80 เปอร์เซ็นต์

ประธาน สนช. ประเมินไว้ว่าทั้งกฎหมายเก่าและใหม่ที่ค้างอยู่กว่า 70 ฉบับ คาดว่าจะทำเสร็จใน สนช.ชุดนี้ประมาณ 40 - 50 ฉบับ

อย่างไรก็ตาม จากวาระการพิจารณากฎหมายหลายฉบับในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ทำให้ภาคประชาสังคมอย่างคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป. อพช.) ส่งจดหมายพร้อมด้วยรายชื่อองค์กรพัฒนาเอกชน 160 องค์กร กดดันให้ สนช.ยุติพิจารณากฎหมายทุกฉบับทันที โดยให้เป็นการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรและรัฐบาลใหม่ที่จะได้มาหลังการเลือกตั้ง

นอกจากนี้ ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม P-move ยังนัดหมายแต่งชุดดำที่บริเวณหน้ารัฐสภาในวันพรุ่งนี้ (27 ก.พ.) เวลา 9.00 น. เพื่อแสดงจุดยืนให้ สนช. ยุติผ่านกฎหมายเช่นกัน