อะไรคือ มาตรฐานทางจริยธรรม 7 ประการ ของเจ้าหน้าที่รัฐ

Bangkok officials standing in front of a portrait of Thai King Maha Vajiralongkorn Bodindradebayavarangkun

ที่มาของภาพ, EPA

ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ พระราชบัญญัติมาตรฐานทางจริยธรรม พ.ศ. 2562 ซึ่งมีความว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร มีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า โดยที่เป็นการสมควรมีกฎหมายว่าด้วยมาตรฐานทางจริยธรรม จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติทำหน้าที่รัฐสภา

กฎหมายฉบับนี้มีผลบังคับใช้กับเจ้าหน้าที่ของรัฐในสังกัดกระทรวง ทบวง กรม ส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่นและมีฐานะเป็นกรม ราชการส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน หรือหน่วยงานอื่นของรัฐในฝ่ายบริหาร แต่ไม่รวมถึง หน่วยงานธุรการของรัฐสภา องค์กรอิสระ ศาล และองค์กรอัยการ

พ.ร.บ.ฉบับนี้ ได้กำหนดให้เจ้าหน้าที่ของรัฐต้องประพฤติปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรม 7 ประการ คือ

(1) ยึดมั่นในสถาบันหลักของประเทศ อันได้แก่ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

(2) ซื่อสัตย์สุจริต มีจิตสำนึกที่ดี และรับผิดชอบต่อหน้าที่

(3) กล้าตัดสินใจและกระทำในสิ่งที่ถูกต้องชอบธรรม

(4) คิดถึงประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ส่วนตัว และมีจิตสาธารณะ

(5) มุ่งผลสัมฤทธิ์ของงาน

(6) ปฏิบัติหน้าที่อย่างเป็นธรรมและไม่เลือกปฏิบัติ

(7) ดำรงตนเป็นแบบอย่างที่ดีและรักษาภาพลักษณ์ของทางราชการ

ที่มาของภาพ, Reuters

คำบรรยายภาพ,

นายกรัฐมนตรี หรือรองนายกรัฐมนตรี จะได้รับมอบหมายเป็นประธาน "คณะกรรมการมาตรฐานทางจริยธรรม"

นอกจากนั้น ยังกำหนดให้มี "คณะกรรมการมาตรฐานทางจริยธรรม" (ก.ม.จ.) ประกอบด้วย นายกรัฐมนตรี หรือรองนายกรัฐมนตรี ที่ได้รับมอบหมาย เป็นประธาน ผู้แทนองค์กรกลางบริหารงานบุคคล กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ และเลขาธิการ ก.พ. เป็นกรรมการเลขานุการ

ก.ม.จ. มีอำนาจหน้าที่ เช่น เสนอแนะและให้คำปรึกษาแก่คณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับนโยบายและยุทธศาสตร์การส่งเสริมจริยธรรมภาครัฐ กำหนดหลักเกณฑ์หรือแนวทางการนำจริยธรรมไปใช้ในกระบวนการบริหารทรัพยากรบุคคล ตลอดจนกำกับ ติดตาม และประเมินผลการดำเนินการตามมาตรฐานทางจริยธรรมต่อคณะรัฐมนตรี เป็นต้น

เพื่อประโยชน์ในการรักษาจริยธรรมของเจ้าหน้าที่ของรัฐ มาตรา 19 (3) กำหนดให้หน่วยงานของรัฐ จัดทำรายงานประจำปีตามหลักเกณฑ์ที่ ก.ม.จ. กำหนดเสนอต่อ ก.ม.จ. โดยให้หน่วยงานของรัฐเสนอรายงานประจำปีผ่านองค์กรกลางบริหารงานบุคคลหรือองค์กร ทุกสิ้นปีงบประมาณ

อ่านรายละเอียดทั้งหมดของ พ.ร.บ.ฉบับนี้