สาธารณสุข : ร้านขายยาช่วยจ่ายยา จะช่วยแก้ปัญหาความแออัดในโรงพยาบาลได้แค่ไหน
- ธันยพร บัวทอง
- ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย

ที่มาของภาพ, Paris Jitpentom/BBCThai
ภญ.ดร. ศิริรัตน์ ตันปิชาติ นายกสมาคมเภสัชกรรมชุมชนบอกว่า ร้านขายยาเป็นหน่วยบริการที่ช่วยคัดกรองโรคเรื้อรังให้แก่ผู้ป่วยในชุมชนในขั้นแรก
คนไข้เยอะ ไปรอเข้าคิวแต่เช้าตรู่ เมื่อต้องไปหาหมอและรับยาที่โรงพยาบาลรัฐคุณอาจจะใช้เวลาถึงครึ่งวัน แต่ในวันที่ 1 ต.ค. นี้ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง 4 โรค ได้แก่ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง หอบหืด และจิตเวช ที่รับยาต่อเนื่อง กำลังจะมีทางเลือกในการรับยาที่ร้านขายยาที่มีเภสัชกรประจำใกล้บ้าน
กระทรวงสาธารณสุขและสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เริ่มโครงการนี้เพื่อลดความแออัดที่โรงพยาบาล นำร่องในโรงพยาบาล 50 แห่ง และร้านยาที่มีเภสัชกรประจำ 500 ร้าน โดยเป็นโครงการที่ให้ผู้ป่วยเข้าร่วมโดยสมัครใจ
คาดว่าผู้ป่วยที่ใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าหรือบัตรทองใน 4 กลุ่มโรคนี้ มีจำนวนราว 30 ล้านคน ตั้งเป้าว่าจะมีผู้ป่วยร่วมรับยาร้อยละ 10 หรือราว 3 ล้านคน
เริ่มต้นด้วยชื่อ "สามสิบบาทรักษาทุกโรค" "บัตรทอง" มาจนถึง "หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า" ปัจจุบันการรักษาพยาบาลที่รัฐให้บริการอยู่ภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ากำลังก้าวสู่ปีที่ 17 และเรื่องนี้เอง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว. กลาโหม เพิ่งจะนำไปพูดในที่ประชุมสหประชาชาติที่สหรัฐฯ ถึงความสำเร็จของประเทศไทย
หนึ่งวันของผู้ป่วยบัตรทอง
"ถ้าหมอตรวจเสร็จ 10 โมงก็ได้ยาเกือบ 11 โมง บางทีเราหิวข้าว หิวน้ำ ไม่ต้องออกเลย นั่งรอเอายา... วันนั้นไม่ต้องทำอะไร ขายของก็ทิ้งไป 1 วัน"
ที่มาของภาพ, PAris Jitpentom/BBCThai
หากวันไหนต้องไปรับยาที่โรงพยาบาล อัจฉรา เซียงเด่น แม่ค้าขายผลไม้ วัย 49 ปี ต้องเสียเวลาไปทั้งวันจนไม่ได้ขายของ
ประสบการณ์การไปพบแพทย์และรอรับยาที่โรงพยาบาลทุก ๆ 3 เดือน ของอัจฉรา เซียงเด่น แม่ค้าขายผลไม้ วัย 49 ปี ย่านทาวอินทาวน์ เขตบางกะปิ กรุงเทพมหานคร น่าจะเป็นเรื่องที่ผู้ใช้บริการโรงพยาบาลรัฐหลายคนพบเจอไม่ต่างกัน
อัจฉรา เล่าว่า เธอมีโรคประจำตัวเป็นไทรอยด์ เบาหวาน ไขมัน ความดัน หากมีนัดพบแพทย์และต้องเจาะเลือด เธอต้องตื่นตั้งแต่ 5.00 น. เพื่อไปรอรับบัตรคิวเจาะเลือด หลังจากตรวจเสร็จแล้ว ขั้นที่ต้องรอรับยาใช้เวลานาน 1 ชั่วโมง เพราะมีคิวจำนวนมาก วันใดที่มีนัดไปโรงพยาบาลเธอต้องปิดร้านขายของไปเลยทั้งวัน
เธอบอกว่า ถ้าโรงพยาบาลที่ใช้สิทธิอยู่เข้าโครงการนี้น่าจะช่วยให้ไม่เสียเวลานานจนเกินไปสำหรับวันที่ต้องไปโรงพยาบาล
"ถ้าเอาบัตรนัดกับใบเอายาพร้อมกัน หูต้องผึ่งทั้งสองข้างว่าจะไปทางไหนก่อนนั่นล่ะ ไปไม่ถูกเลยแบบนี้"
"ทำอย่างไรให้คนไข้ได้กลับบ้านได้เร็วขึ้น"
ทพ. อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า การไปโรงพยาบาลเสียเวลาสองช่วงใหญ่ ๆ คือ ช่วงเวลารอพบหมอ ผู้ป่วยไปแต่เช้า ส่วนแพทย์เมื่อมาถึงโรงพยาบาลในช่วงเช้าต้องไปตรวจผู้ป่วยในก่อนจึงลงมาตรวจผู้ป่วยนอก เมื่อตรวจเสร็จออกใบสั่งยาส่งไปที่ห้องยา ช่วงที่สองนี้เป็นช่วงที่เกิดคิวสะสม 9-10โมงก็ไปแออัดอยู่ตรงนั้น เลยมีแนวคิดว่าจะกระจายความแออัดของโรงพยาบาลได้อย่างไร
ที่มาของภาพ, Paris Jitpentom/BBCThai
"หมอก็มาทำงานเช้าและต้องตรวจคนไข้ผู้ป่วยในก่อน เราเลยคิดหาทางแก้ไขในช่วงที่สองจะทำอย่างไรให้คนไข้ได้กลับบ้านได้เร็วขึ้น"
รองเลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า ช่วงที่ผ่านมาได้เริ่มทดลองระบบนี้ไปแล้วที่โรงพยาบาลใน จ.ขอนแก่น เชียงใหม่ เชียงราย ชลบุรี ตรัง ซึ่งพบว่ายังไม่มีอะไรขัดข้อง หลังจากเริ่มโครงการในวันที่ 1 ต.ค. จะมีการประเมินว่าเป็นไปตามเป้าหมายหรือไม่ทั้งในแง่ของจำนวนผู้ป่วยที่ร่วมรับยาที่ตั้งเป้าไว้ที่ 3 ล้านคนใน 4 กลุ่มโรค และระบบสารสนเทศที่เชื่อมต่อข้อมูลระหว่างโรงพยาบาลกับร้านยา
ทพ. อรรถพร ให้ข้อมูลว่าร้านยาประเภทที่มีเภสัชกรประจำตลอดเวลา (ข.ย.1) ที่ขึ้นทะเบียนไว้ทั่วประเทศมีทั้งหมด 17,000 ร้าน แต่ในช่วงเริ่มต้นต้องปรับระบบให้คงที่ก่อน แล้วจึงประเมินถึงการขยายพื้นที่ต่อไป
ที่มาของภาพ, PAris Jitpentom/BBCThai
ทพ. อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการ สปสช.
ส่วนการจัดยาให้ผู้ป่วยที่ต้องการรับยาใกล้บ้าน ในระยะแรกโรงพยาบาลจะจัดยารายบุคคลส่งให้ร้านยา นอกจากนี้ยังกำหนดแนวทางการดำเนินการในระยะต่อไป ได้แก่ โรงพยาบาลจัดสำรองยาไว้ที่ร้านยาเป็นเหมือนคลังยาของโรงพยาบาล และรูปแบบร้านยาจัดการยาเอง โดยมีราคายามาตรฐานที่โรงพยาบาลจ่ายให้ร้านยา
"การันตีว่ายาที่ท่านได้รับที่ร้านยา คุณภาพเหมือนกับที่โรงพยาบาล"
ร้านยาใกล้บ้าน ช่วยติดตามการใช้ยาผู้ป่วย
หลายคนอาจไม่ทราบว่าในประเทศไทยมีร้านขายยาที่มีเภสัชกรลงไปเยี่ยมบ้านผู้ป่วยในชุมชนมาแล้วกว่า 10 ปี
ภญ.ดร. ศิริรัตน์ ตันปิชาติ รองเลขาธิการสภาเภสัชกรรมและนายกสมาคมเภสัชกรรมชุมชน ได้ริเริ่มการเยี่ยมบ้านผู้ป่วยติดเตียงในชุมชนใกล้ร้านยาซึ่งเป็นกิจการของครอบครัวในย่านทาวน์อินทาวน์ กรุงเทพฯ มีนักศึกษาเภสัชกรฝึกงานลงเยี่ยมชุมชน ก่อนสานต่อเป็นโครงการเยี่ยมบ้านของร้านยาชุมชนขยายไปในพื้นที่กรุงเทพมหานครหลายแห่ง
ร้านยาที่เป็นหน่วยบริการในลักษณะนี้ช่วยคัดกรองโรคเรื้อรังให้แก่ผู้ป่วยในชุมชนในขั้นแรก ทำให้ผู้มารับบริการเองรู้ความเสี่ยงด้านสุขภาพของตัวเองได้เร็วขึ้น หลังจากร้านยาชุมชนคัดกรองโรคเรื้อรังได้แล้ว ภญ.ดร. ศิริรัตน์ ตันปิชาติ บอกว่า เมื่อคัดกรองแล้วอยากให้ประชาชนได้สิทธิในการรักษาต่อเนื่อง จึงเป็นที่มาของการพัฒนาระบบการรับยาใกล้บ้านที่เชื่อมต่อกับโรงพยาบาลที่ผู้ป่วยใช้สิทธิ
ที่มาของภาพ, PAris Jitpentom/BBCThai
เอกสารที่เภสัชกรใช้บันทึกข้อมูลจากการไปเยี่ยมผู้ป่วยที่บ้าน
"เราจะพบปัญหาการกินยาของผู้ป่วยได้เร็วขึ้น" ภญ.ดร.ศิริรัตน์ กล่าวกับบีบีซีไทย และยกตัวอย่างภาวะเจ็บป่วยของคนไข้ที่พบจากการได้ซักถามพูดคุยอาการ
"ผู้ป่วยบางคนได้รับยาบางตัวแล้วเท้าบวม ตาบวมมา คุณป้าก็ไม่รู้เพราะรับยา 4 เดือนแล้วไปเลย กว่าจะกลับมาหาหมออีกที 4 เดือน เราเห็นเลยว่ามันต้องมีสาเหตุ ถ้าดูประวัติเดิม ก็จะรู้เลยว่าเป็นผลจากยา เราก็รายงานไปที่แพทย์ได้"
ทำไมต้องเบาหวาน ความดัน
ภญ.ดร. ศิริรัตน์ ให้ข้อมูลว่า เหตุผลที่เลือกเบาหวานและความดันก่อน เพราะว่าสองโรคนี้จะทำให้เกิดอีกหลาย ๆ โรค เช่น น้ำตาลหากคุมไม่ดีจะทำให้มีปัญหากับไต ความดันคุมไม่ดีอาจเป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคอัมพฤกษ์ เส้นเลือดแตก เส้นเลือดตีบได้ สำหรับคนไทยโรคเหล่านี้เกิดมากขึ้นเรื่อย ๆ
"คนไข้เบาหวานจะมี criteria (เกณฑ์) ถ้าคนไข้ความดันยังสูงก็ไม่ปล่อยคนไข้มารับยาที่ร้านยา แต่ถ้าคนไข้ที่ความดันอยู่ในเกณฑ์ การลดน้ำตาลอยู่ในเกณฑ์ ก็จะเลือกคนไข้กลุ่มนี้"
อย่างไรก็ตาม นายกสมาคมเภสัชกรรมชุมชนกล่าวว่า ไม่ใช่ว่าในอนาคตจะรับยาที่ร้านยาได้แล้วไม่ไปพบแพทย์เลย เธอบอกว่า ผู้ป่วยยังต้องไปพบแพทย์ เพียงแต่การที่รับยากับเภสัชแถวบ้านจะช่วยปรับทัศนคติในการบริหารยาและดูแลสุขภาพตัวเอง
ที่มาของภาพ, Paris Jitpentom/BBCThai
"ส่วนหนึ่งคือ ไม่เอายาไปเก็บไว้ที่บ้าน บางทีไม่กล้าพูดกับหมอ แต่พูดกับเภสัชได้ ไม่อยากกิน ป้ากินแล้วมันขมคอ มันแบบกินอาหารไม่อร่อย เราก็จะเขียนรีพอร์ตไปที่หมอ ทำให้หมอเข้าใจว่าผู้ป่วยมีข้อกังวลอะไร"
ชลบุรี เริ่มแล้ว "ร้านยาใกล้บ้าน เภสัชกรใกล้ใจ"
แม้จะประกอบวิชาชีพเภสัชกรมาเป็นสิบปี แต่ สุณีรัตน์ กิตติคุณ เภสัชกรหญิง วัย 38 ปี เจ้าของร้านยาสมนึกเภสัชใน จ. ชลบุรี ที่สืบทอดมาจากรุ่นพ่อ บอกว่าไม่มีตอนไหนที่เธอจะรู้สึกตื่นเต้นกับการทำงานเป็นเภสัชกรได้เท่ากับตอนนี้ ร้านยาของเธอกำลังเข้าร่วมโครงการจ่ายยานำร่องที่ช่วยจ่ายยาให้กับคนไข้จากโรงพยาบาลเมืองชลบุรี
จากที่เคยมีชีวิตประจำวันตื่นเช้ามาเปิดร้านขายยาของตัวเอง แต่ตั้งแต่ต้นเดือน ก.ย. สถานที่ทำงานของสุณีรัตน์ในครึ่งเช้าวันจันทร์ถึงศุกร์ เปลี่ยนมาอยู่ที่คลินิกหมอครอบครัวสำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวานและความดันโลหิต โรงพยาบาลเมืองชลบุรี ที่นั่นสุณีรัตน์ตั้งโต๊ะเพื่อรอคนไข้ที่ต้องการรับยาที่ร้านจ่ายยาใกล้บ้าน
สุณีรัตน์ อธิบายขั้นตอนว่า เมื่อคนไข้ไปพบแพทย์ตามนัดที่โรงพยาบาล พยาบาลจะให้คำแนะนำคนไข้ก่อน เมื่อเห็นว่าคนไข้สนใจและมีความเป็นไปได้ที่สามารถรับยาเองได้ที่ร้านยาใกล้บ้าน แพทย์จะตรวจ ซักประวัติและประเมินอาการ หลังจากนั้นจะเข้าสู่ขั้นตอนการสมัครและออกใบสั่งยา
รับยาใกล้บ้าน ต้องทำอย่างไร
- เป็นผู้ใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าหรือสิทธิบัตรทอง ปัจจุบันไปโรงพยาบาล ยื่นบัตรประชาชนใบเดียว
- เป็นผู้ป่วย เบาหวาน ความดันโลหิตสูง หอบหืด และจิตเวช ส่วนมากกลุ่มนี้ต้องไปพบแพทย์และรับยา 3-4 เดือน ครั้งฃ
- ตรวจสอบรายชื่อโรงพยาบาลและร้านยาที่เข้าร่วม หรือสอบถามโรงพยาบาลที่ใช้สิทธิ
- เมื่อสนใจใช้สิทธิ แพทย์จะประเมินผู้ป่วยและออกใบสั่งจ่ายยาให้ เช่น อาการโรคคงที่ ไม่ต้องได้รับการดูแลซับซ้อน หรือการตรวจพิเศษ
- เลือกร้านยาที่ต้องการไปรับยา ผู้ป่วยจะได้รับคำแนะนำการใช้ยาและนัดหมายบริการในขั้นตอนนี้
ผู้ป่วยที่ตัดสินใจรับยาใกล้บ้านตามโครงการนี้ จะได้รับยาจากโรงพยาบาล 1 เดือนในวันที่ไปพบแพทย์ ส่วนยาที่ต้องกินถัดจาก 1 เดือนแรก ผู้ป่วยจะไปรับที่ร้านยาตามที่ตัวเองเลือกไว้
จากประสบการณ์ที่ได้ซักถามและติดตามพฤติกรรมการกินยาของผู้ป่วยในชุมชนใกล้ ๆ สุณีรัตน์บอกว่า การเป็นร้านยาในชุมชนที่ผู้ป่วยคุ้นเคย สะดวกใจที่จะพูดคุยสอบถาม ทำให้เภสัชกรร้านยาสามารถซักถามได้ว่า ผู้ป่วยกินยาชนิดใดร่วมกันอยู่บ้าง การกินยาต่อเนื่องอย่างไร และสามารถติดตามภาวะอาการของโรคได้ เช่น บางกรณีคนไข้กินยาไม่ครบ แต่คุมอาหารได้ดี แปลว่าอาจลดปริมาณยาได้แล้วหรือมีปัญหาการเก็บยา เป็นต้น
ที่มาของภาพ, Paris Jitpentom/BBCThai
ตัวอย่างยาที่เภสัชกรของร้านยาชุมชนลงไปพบขณะเยี่ยมบ้านผู้ป่วย ทำให้ทราบถึงการใช้ยาของผู้ป่วยว่ามีความเสี่ยงอะไรบ้าง
"คุณลุงกินยาไม่ครบมาตลอดเลยเหรอ แปลว่ายาที่โรงพยาบาลจ่ายไป คนไข้เก็บไว้ที่บ้าน ซึ่งคนไข้ไม่กล้าเอายาที่เหลือเยอะ ๆ กลับมาที่โรงพยาบาล เมื่อเราไปเจอพูดคุย ก็ได้ฟีดแบ็กกลับไปที่โรงพยาบาล อาจได้คุยกับหมอว่าต้องปรับยาหรือไม่ต่อไป" เธอเล่าถึงการลงไปพูดคุยสอบถามผู้ป่วยใกล้ร้านยารายหนึ่ง
ธุรกิจคู่กับวิชาชีพ
สำหรับที่อำเภอเมือง จ.ชลบุรี มีร้านยาที่เข้าร่วมในระยะแรก 4 ร้าน และตั้งเป้าให้ได้ 29 ร้าน ในเดือน มี.ค. 2563 ทั้งหมดเป็นร้านยาคุณภาพที่อยู่ในเครือข่ายสมาคมผู้ประกอบการร้านยาและชมรมเภสัชกรในชลบุรี อย่างไรก็ตาม สุณีรัตน์บอกว่า โครงการนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลย หากไม่ได้รับความร่วมมือจากบุคลากรทางการแพทย์ที่โรงพยาบาล
"ทุกคนเหนื่อยหมดแต่ทุกคนอยากทำ ไม่ว่าจะหมอ พยาบาล เภสัชห้องยา"
แม้ร้านยาที่มาร่วมโครงการให้ผู้ป่วยรับยาที่ร้านยา จะได้รับค่าบริการจัดบริการด้านยาและเวชภัณฑ์แบบเหมาจ่ายเป็นรายหัว 70 บาทต่อครั้ง แต่งานที่เพิ่มขึ้นมาก็อาจเป็นภาระงานไม่คุ้มกับต้นทุนสำหรับร้านยาที่เน้นไปที่ธุรกิจและผลกำไร
ที่มาของภาพ, Suneerat Kittikun
สุณีรัตน์ ที่คลินิกหมอครอบครัว โรงพยาบาลชลบุรี ระหว่างลงพื้นที่ให้ข้อมูลเรื่องการรับยาที่ร้านยา
ทว่าในมุมมองของเภสัชกรหญิงที่สืบทอดกิจการร้านยาของรุ่นพ่อที่เปิดมานานกว่า 60 ปี ธุรกิจต้องควบคู่กับวิชาชีพ
"มันอาจจะไม่ได้ทำให้เรารวย เคสละ 70 บาท ใช้เวลา 15 นาที บางร้านอาจขายอาหารเสริมได้มากกว่านี้ แต่ถ้าเราไม่ทำแล้วร้านยาจะอยู่อย่างไร ทำงานตรงนี้มันคงไม่ได้รวย แต่เป็นความภูมิใจมากกว่าที่เราได้ดูแลคนในชุมชนของเรามากขึ้น สิ่งที่เรียนมา เรารอวันนี้แหล่ะที่จะได้ทำงานกับคนไข้ กับคุณหมอที่โรงพยาบาล"