กราดยิงโคราช : ยากแค่ไหนหากคนไทยอยากมีปืนถูกกฎหมาย เปิดขั้นตอนขออนุญาต หลัง ผบ.ทบ.เผย ผู้ก่อเหตุมีถึง 5 กระบอก

ที่มาของภาพ, AFP/Getty Images
การออกมาเปิดเผยของ พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ว่าอาวุธตั้งต้นที่มือกราดยิงโคราชใช้ก่อเหตุ เป็นอาวุธปืนส่วนตัวที่มีใบอนุญาตถูกต้อง 5 กระบอก ทำให้เกิดคำถามว่าทำไมนายจ่าทหารรายนี้ถึงมีปืนมากมาย และคนไทยทั่วไปสามารถมีอาวุธปืนในครอบครองมากน้อยแค่ไหน
พล.อ.อภิรัชต์ ระบุเมื่อ 11 ก.พ. ว่า ปืนในครอบครองของ จ.ส.อ.จักรพันธ์ ถมมา ผู้ก่อเหตุกราดยิงเจ้าหน้าที่และประชาชนเสียชีวิต 29 ราย เป็นปืนที่มาจากโครงการสวัสดิการจากหน่วยงานอื่น
"ผู้ก่อเหตุมีปืน 5 กระบอก ราคาแพง มีไว้เพื่ออะไร" และ "ทหารไม่จำเป็นต้องมีปืนส่วนตัว เพราะมีปืนหลวง" พล.อ.อภิรัชต์กล่าว
ผบ.ทบ. เปิดเผยว่า ได้ลงนามยกเลิกการจัดซื้อปืนสวัสดิการทุกชนิดของกองทัพบก เมื่อ 4 ก.พ. ต่อไปนี้ใครจะซื้อปืนสวัสดิการภายนอกจากหน่วยงานใดก็ตาม ผู้บังคับบัญชาชั้นนายพล ต้องทำคำสั่งผ่านเสนาธิการทหารบก (เสธ.ทบ.) เพื่อให้ออกคำสั่งเท่านั้น จากเดิมให้นายทหารชั้นนายพัน เป็นผู้ลงนาม ซึ่งเปิดโอกาสให้กำลังพลและพ่อค้าซื้อขายอาวุธกันได้ง่าย
สำรวจราคาปืนส่วนตัวของ "มือกราดยิงโคราช"
สำหรับปืนส่วนตัวของ จ.ส.อ.จักรพันธ์ ที่ถูกนำมาใช้ก่อเหตุในชั้นต้น ทั้งสังหารผู้บังคับบัญชาและแม่ยาย ณ บ้านพักของคู่กรณี และยิงขู่พลทหารประจำป้อมรักษาการณ์ในค่ายสุรธรรมพิทักษ์เพื่อให้ส่งมอบอาวุธปืนให้ตัวเอง มีดังนี้
ที่มา : บีบีซีสรุปชนิดปืนจากคำแถลงข่าวของ ผบ.ทบ. เมื่อ 11 ก.พ. และตรวจสอบราคาปืนจากเว็บไซต์ผู้ผลิตปืน
ขั้นตอนการขอมีและใช้อาวุธปืน
บีบีซีไทยตรวจสอบกฎหมายที่เกี่ยวข้องของขั้นตอนการขออนุญาตครอบครองและพกพาอาวุธปืน ได้ข้อสรุป ดังนี้
- ผู้ขอยื่นคำร้องต่อนายทะเบียนเพื่อขออนุญาตให้มีอาวุธปืนและเครื่องกระสุน (ใบ ป.1) พร้อมระบุชนิดปืน ขนาด จำนวนเครื่องกระสุน จะซื้อจากร้านใดในท้องที่ใด เพื่อวัตถุประสงค์ใด ทั้งนี้ชาวกรุงเทพฯ ยื่นที่ศูนย์บริการประชาชนวังไชยา ส่วนต่างจังหวัดยื่นที่ที่ว่าการอำเภอที่พักอาศัยตามทะเบียนราษฏร
- นายทะเบียนออกใบอนุญาตให้ซื้ออาวุธปืน (ใบ ป.3) ให้
- ผู้ขอนำใบ ป.3 ไปแสดงต่อร้านจำหน่ายปืนเพื่อซื้อปืน
- ผู้ขอส่งคืนใบ ป.3 พร้อมนำอาวุธปืนไปให้นายทะเบียนตรวจสอบ โดยนายทะเบียนจะออกใบคู่มือประจำปืนให้ร้านจำหน่ายปืน
- นายทะเบียนออกทะเบียนปืน โดยระบุชื่อผู้ครอบครอง (ใบ ป.4)
- ผู้ขอยื่นคำร้องต่อ ผบ.ตร. ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ขออนุญาตพกพกอาวุธปืน (ใบ ป.12)
ที่มาของภาพ, AFP/Getty Images
ในการยื่นคำขออนุญาตให้มีอาวุธปืนและเครื่องกระสุน ต้องใช้เอกสาร 7 รายการ ในจำนวนนี้คือ "หนังสือรับรองความประพฤติ และเหตุผลความจำเป็นที่ขออนุญาต" ลงนามโดยผู้บังคับบัญชาโดยตรงยศตั้งแต่ "พันเอก/พันตำรวจเอก" สำหรับทหารหรือตำรวจต้องการมี "ปืนส่วนตัว" ไว้ในครอบครอง จุดนี้เองที่ ผบ.ทบ.ประกาศ "รื้อใหญ่-สร้างกติกาใหม่" ภายใน ทบ.
ส่วนข้าราชการกลุ่มอื่น ๆ และประชาชน ถูกกำหนดให้มีลายเซ็นของ "ผู้รับรอง" แตกต่างกันไป ดังนี้
- ข้าราชการพลเรือน >> ผอ.กอง
- ข้าราชการองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) >> หัวหน้า อปท.
- ลูกจ้างเอกชนที่ปฏิบัติหน้าที่ รปภ. ส่วนบุคคล >> เจ้าของกิจการ/กรรมการผู้จัดการ
- บุคคลทั่วไป >> ข้าราชการระดับ 6 ขึ้นไปรับรองในกรุงเทพฯ และนายอำเภอ/ปลัดอำเภอ/กำนัน/ผู้ใหญ่บ้าน รับรองในต่างจังหวัด
- ต่างประเทศ >> เอกอัครราชทูต/กงสุลใหญ่
บ้านอยู่ที่เปลี่ยวไหม-เป็นคนฉุนเฉียวไหม บางคุณสมบัติเพื่อคัดกรอง "คนอยากมีปืน"
คู่มือปฎิบัติงานอาวุธ จัดทำโดยกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย สรุปไว้ว่าผู้ประสงค์จะมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองต้องผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติ 26 ข้อจากเจ้าหน้าที่ โดยมีทั้งคุณสมบัติพื้นฐาน เช่น ไม่เป็นผู้ต้องโทษจำคุก, ไม่วิกลจริตหรือจิตฟั่นเฟือน, ไม่ประพฤติผิดร้ายแรง, ไม่เป็นผู้พิการหรือทุพพลภาพ, บรรลุนิติภาวะแล้ว, มีอาชีพและรายได้, มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง, มีชื่อในทะเบียนบ้านไม่น้อยกว่า 6 เดือน
นอกจากนี้ยังมีคุณสมบัติที่ต้องตรวจสอบแบบเจาะลึก เช่น บ้านอยู่ในที่เปลี่ยวหรือไม่, ความประพฤติโดยปกติเป็นอย่างไร, เกี่ยวข้องกับพวกคนพาลหรือนักเลงหรือไม่, เป็นคนมีนิสัยฉุนเฉียวหรือเกะกะระรานเพื่อนบ้านใกล้เคียงหรือผู้อื่นในบ้านหรือไม่ ฯลฯ
ขณะเดียวกัน "คนอยากมีปืน" ต้องแจ้งวัตถุประสงค์ให้ชัด ซึ่งมี 5 กรณีตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้ไฟ และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 ได้แก่ 1. เพื่อป้องกันตัวหรือทรัพย์สิน 2. เพื่อการกีฬา 3. เพื่อการล่าสัตว์ ซึ่งปัจจุบันเหลือเพียงการยิงสัตว์ขนาดเล็กที่เป็นศัตรูของเกษตรกร 4. เพื่อเก็บไว้เป็นที่ระลึก 5. เพื่อพกพาชั่วคราว (นักการทูตและผู้ติดตาม)
ที่มาของภาพ, wasawat lukharang/BBC Thai
แม้กรมการปกครองระบุว่า ในการกลั่นกรองอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืน คนหนึ่งคนควรมีเพียง 2 กระบอกคือ ปืนสั้น 1 กระบอก และปืนยาว 1 กระบอก แต่ขึ้นกับความจำเป็นแต่ละบุคคล ทว่ามือกราดยิงโคราชเพียงคนเดียวมีอาวุธปืนส่วนตัวถึง 5 กระบอก
ปืน 5 ชนิดที่คนทั่วไปจะมีได้
ปืนที่นายทะเบียนจะอนุญาตให้มีได้มี 5 ชนิดตามกฎกระทรวง ฉบับ 11 ออกตามความใน พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ
- ปืนชนิดลำกล้องมีเกลียว ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางปากลำกล้องไม่เกิน 11.44 มม.
- ปืนชนิดลำกล้องไม่มีเกลียว ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางปากลำกล้องไม่เกิน 20 มม., ปืนบรรจุปาก, ปืนลูกซอง และปืนพลุสัญญาณ
- ปืนชนิดที่เครื่องกลไก ขนาดความยาวลำกล้องไม่เกิน 160 มม., ปืนลูกซอง, ปืนลูกกรด ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางปากลำกล้องไม่เกิน 5.6 มม.
- ปืนชนิดไม่มีเครื่องบังคับเสียงให้เบาผิดปกติ
- ปืนชนิดไม่ใช้กระสุนเป็นที่บรรจุวัตถุเคมีที่ทำให้เกิดอันตรายหรือเป็นพิษ
ค่าธรรมเนียม
1. ใบอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืน
- ปืนยาวประจุปาก ปืนอัดลม ฉบับละ 100 บาท
- ปืนอื่นๆ ฉบับละ 500 บาท
2. ใบอนุญาตให้มีอาวุธปืนติดตัว ฉบับละ 1,000 บาท
3. ใบอนุญาตให้ซื้ออาวุธปืน กระบอกละ 5 บาท
4. ใบอนุญาตให้ซื้อกระสุนปืน นอกจากกระสุนอัดลมร้อยละหรือเศษของร้อย 1 บาท
ที่มาของภาพ, AFP/Getty Images
กราดยิงโคราช : ผบ.ทบ. ปาดน้ำตา อย่าด่ากองทัพบก-ทหาร "ให้ด่า พล.อ.อภิรัชต์" แต่ไม่ลาออก
การแถลงข่าวของ ผบ.ทบ. เริ่มต้นด้วยการเอ่ยคำ "ขอโทษ" ก่อนลงท้ายด้วยบทเพลงพระราชนิพนธ์