โควิด-19 : ยกเลิกเคอร์ฟิว ศบค.เห็นชอบและผ่อนปรนมาตรการระยะ 4 เริ่ม 15 มิ.ย.

ที่มาของภาพ, Thai News Pix
ศูนย์บริหารสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 (ศบค.) เห็นชอบให้ยกเลิกประกาศห้ามประชาชนออกนอกเคหสถานหรือเคอร์ฟิว ซึ่งบังคับใช้มานานกว่า 2 เดือน และอนุญาตให้กิจการและกิจกรรมที่มีความเสี่ยงสูงกลับมาดำเนินการได้ในการผ่อนปรนมาตรการระยะที่ 4 ตั้งแต่วันที่ 15 มิ.ย.เป็นต้นไป
รัฐบาลประกาศเคอร์ฟิวในเวลา 22.00-04.00 น. ตั้งแต่วันที่ 3 เม.ย.เพื่อควบคุมการระบาดของโควิด-19 ซึ่งขณะนั้นไทยพบผู้ป่วยรายใหม่วันละกว่า 100 ราย ต่อมาวันที่ 17 พ.ค. ได้ปรับลดเวลาเคอร์ฟิวลงเป็นเวลา 23.00-04.00 น. และในวันที่ 1 มิ.ย. ปรับเวลาเคอร์ฟิวอีกครั้งเป็น 23.00-03:00 น.
นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค.กล่าวว่าที่ประชุม ศบค.ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นประธานวันนี้ (12 มิ.ย.) มีมติให้ยกเลิกเคอร์ฟิว แต่ยังควบคุมการเดินทางเข้าราชอาณาจักรทั้งทางบก ทางน้ำและทางอากาศ พร้อมกับอนุมัติการผ่อนปรนมาตรการระยะที่ 4 ตั้งแต่วันที่ 15 มิ.ย.นี้
สำหรับผู้ป่วยรายใหม่ในรอบ 24 ชั่วโมง โฆษก ศบค. รายงานว่ามีผู้ป่วยเพิ่ม 4 ราย ทั้งหมดเป็นคนไทยที่เดินทางมาจากประเทศอินเดียและพักอยู่ในสถานกักกันโรคที่รัฐจัดให้ ซึ่งถือว่าเป็นผู้ติดเชื้อ "นำเข้า" ไม่ใช่การติดเชื้อภายในประเทศ โดยขณะนี้ไทยไม่พบผู้ป่วยจากการติดเชื้อในประเทศมา 18 วันแล้ว
ข้อมูล ณ วันที่ 12 มิ.ย. ไทยมีผู้ป่วยสะสม 3,129 ราย รักษาหายแล้ว 2,987 ราย เสียชีวิต 58 ราย
- โควิด-19 : ผ่อนปรนระยะ 3 เริ่ม 1 มิ.ย.กิจการและกิจกรรมเสี่ยงปานกลาง-สูงกลับมาเปิดบริการได้
- โควิด-19 : นิวซีแลนด์ประกาศปลอดไวรัส-เลิกข้อจำกัดคุมการระบาดเกือบทั้งหมด
- โควิด-19 : เหตุใดไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่จะไม่ใช่การระบาดครั้งสุดท้าย
- สำรวจที่มา “ยาแรง” ก่อน ประยุทธ์-วิษณุ แถลงชี้แจงใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน สกัดโควิด-19
ผ่อนปรนระยะที่ 4 มีอะไรทำได้บ้าง
นพ.ทวีศิลป์อธิบายว่าการผ่อนปรนในระยะที่ 4 เป็นการอนุญาตให้กิจการและกิจกรรมที่ถูกจัดว่ามีความเสี่ยงสูงต่อการติดต่อของโรคให้กลับมาเปิดบริการได้ ดังนั้นทั้งผู้ให้บริการและผู้ใช้บริการจึงต้องปฏิบัติตามมาตรการควบคุมโรคที่กำหนดอย่างเคร่งครัด เพราะมีความเป็นไปได้ว่า "การระบาดระลอก 2" อาจเกิดขึ้น
สำหรับกิจการและกิจกรรมที่ได้รับอนุญาตให้ทำและดำเนินการได้ตั้งแต่วันที่ 15 มิ.ย.เป็นต้นไป ได้แก่
- โรงเรียนนานาชาติ สถาบันการศึกษานอกระบบ สถาบันกวดวิชา โรงเรียนขนาดเล็กที่มีนักเรียนไม่เกิน 120 คน
- สถานรับเลี้ยงเด็ก ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเด็กก่อนวัยเรียน สถานดูแลผู้สูงอายุ สถานสงเคราะห์อื่น ๆ สามารถเปิดให้บริการแบบค้างคืนได้
- การประชุม อบรม สัมมนาของหน่วยงานราชการและในโรงแรม
- การจัดนิทรรศการ งานพิธี การจัดเลี้ยง การแสดงดนตรี คอนเสิร์ต งานอีเวนต์ เปิดตัวสินค้าในสถานที่ต่าง ๆ เช่น โรงแรม โรงภาพยนตร์ โรงมหรสพ ศูนย์ประชุม ศูนย์แสดงสินค้า แต่ต้องจัดสถานที่ให้ผู้ร่วมงานมีระยะห่างกันอย่างน้อย 1 เมตร หรือมีพื้นที่ 5 ตารางเมตรต่อคน และต้องเป็นไปอย่างมีระเบียบ
- ร้านอาหาร ภัตตาคาร โรงแรม สามารถขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ แต่ผับ บาร์ คาราโอเกะ โรงเบียร์ยังไม่ได้รับอนุญาตให้กลับมาเปิดบริการ
- ศูนย์วิทยาศาสตร์ อุทยานวิทยาศาสตร์ ท้องฟ้าจำลอง เปิดให้บริการได้แต่ต้องจัดให้เข้าชมเป็นกลุ่มเล็ก ๆ และแบ่งเป็นรอบ ๆ
- กองถ่ายทำภาพยนตร์ รายการโทรทัศน์ ต้องมีทีมงานทั้งหมดไม่เกิน 150 คน หากมีผู้ชมต้องไม่เกิน 50 คน
- สถานบริการอบตัว อบสมุนไพร สปา นวดแผนไทยเปิดให้บริการได้ แต่ควรให้บริการแบบแยกห้องเดี่ยว หรือหากเป็นห้องรวม ต้องจำกัดจำนวนคน และมีพื้นที่ 5 ตารางเมตรต่อคน แต่อาบอบนวดยังปิดให้บริการ
- สนามกีฬา สถานที่ฝึกสอนกีฬา สถานที่ออกกำลังกายและการออกกำลังกายแบบกลุ่มในที่สาธารณะ ไม่ควรมีผู้เข้าร่วมเกิน 50 คน
- จัดการแข่งขันกีฬาได้ ถ่ายทอดทางโทรทัศน์ได้ แต่ต้องไม่มีผู้ชมอยู่ในสนาม
- สวนน้ำ สนามเด็กเล่น สวนสนุก ยกเว้นกิจกรรมที่เสี่ยงต่อการติดโรคเพราะมีพื้นผิวสัมผัสร่วมกันมาก เช่น บ้านบอล บ้านลม
- ตู้เกม เครื่องเล่นยอดเหรียญ
- การเดินทางโดยเครื่องบิน สายการบินสามารถให้บริการได้ทุกที่นั่ง แต่ผู้โดยสารทุกคนต้องใส่หน้ากากอนามัย
- รถโดยสารสาธารณะ ให้บริการได้ 70 % ของที่นั่งทั้งหมด และผู้โดยสารต้องลงทะเบียนเพื่อการติดตามตัว
อะไรที่ยังห้ามและยังปิดอยู่บ้าง
- การเดินทางเข้าราชอาณาจักรไทยทั้งทางบก ทางอากาศและทางน้ำ
- สถานบันเทิง ผับ บาร์ โรงเบียร์ คาราโอเกะ
- สถานบริการอาบอบนวด
- โรงเรียนภายใต้การกำกับของกระทรวงศึกษาธิการ เปิดการเรียนการสอนในวันที่ 1 ก.ค.