วัคซีนโควิด: แอสตร้าเซเนก้าชี้แจงเหตุผลเลือกสยามไบโอไซเอนซ์เป็นผู้ผลิต

  • วัชชิรานนท์ ทองเทพ
  • ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย
AstraZeneca logo

ที่มาของภาพ, Reuters

หน่วยงานเกี่ยวข้องกับโครงการจัดหาวัคซีนโควิด -19 ของรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ทยอยออกมาแถลงชี้แจงสังคม หลังข้อสังเกตของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า เกี่ยวกับความล่าช้าและโปร่งใสของโครงการนี้

หลังบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด ซึ่งนายกรัฐมนตรีระบุว่าเป็นบริษัทในพระปรมาภิไธย และคู่สัญญากับบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า จากสหราชอาณาจักร ออกมาชี้แจงเมื่อ 25 ม.ค. ถึงข้อสงสัยบางส่วน เช่น ศักยภาพของโรงงานและการได้รับเงินสนับสนุนจากภาครัฐ

วันนี้ (26 ม.ค.) บริษัท แอสตร้าเซนเนก้า (ประเทศไทย) จำกัด ชี้แจงกับบีบีซีไทยเป็นอีเมลภาษาไทย ใน 5 ประเด็นที่เป็นข้อถกเถียงกัน ดังนี้

1. ทำไมจึงเลือก สยามไบโอไซเอนซ์

แอสตร้าเซนเนก้าอธิบายว่าบริษัทร่วมกับพันธมิตรในหลายประเทศก่อตั้งเครือข่ายความร่วมมือระดับโลกขึ้นเพื่อให้สามารถผลิตวัคซีนกว่า 3 พันล้านโดส ให้ได้มีความปลอดภัยได้สำเร็จภายในระยะเวลาอันรวดเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

ที่มาของภาพ, เว็บไซต์สยามไบโอไซเอนซ์

คำบรรยายภาพ,

โรงงานของสยามไบโอไซเอนซ์ ได้รับการรับรองมาตรฐานสากลหลายรายการ เช่น PIC/S GMP, ISO9001, ISO17025 และ ISO13485

สำหรับประเทศไทย แอสตร้าเซนเนก้าได้รับความร่วมมือจากกระทรวงสาธารณสุข เอสซีจี และสยามไบโอไซเอนซ์ บนหลักการของการต่อยอดการให้ความสำคัญต่อผู้ผลิตระดับประเทศที่มีศักยภาพและความสามารถในการเป็นผู้ผลิตวัคซีนระดับโลก

พันธมิตรผู้ผลิตวัคซีนทุกรายของแอสตร้าเซนเนก้าจะต้องได้รับการรับรองตามหลักเกณฑ์การผลิตที่ดีและเป็นปัจจุบัน (CGMP ) ซึ่งเป็นมาตรฐานสำหรับการผลิตและการควบคุมคุณภาพของยา) รวมถึงการรับรองระบบคุณภาพและได้รับใบอนุญาตการผลิตในภูมิภาคที่ผู้ผลิตนั้นดำเนินการอยู่

2. ความพร้อมของการผลิตวัคซีนในไทย

แอสตร้าเซนเนก้าบอกว่าเริ่มดำเนินการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตวัคซีนกับให้สยามไบโอไซเอนซ์ ตั้งแต่ ต.ค. 2563 และสามารถดำเนินการได้ตามแผนงานที่กำหนดไว้ โดยจะดำเนินการตรวจสอบคุณภาพของวัคซีนในทุกจุดของกระบวนการผลิต รวมถึงการนำวัคซีนที่ได้จากการทดลองผลิตส่งไปยังห้องปฏิบัติการหรือแล็บในเครือข่ายของแอสตร้าเซนเนก้าที่มีเทคโนโลยีและระเบียบวิธีในการตรวจวิเคราะห์วัคซีนได้ตามมาตรฐาน

3. แผนการกระจายวัคซีนไทยในเป็นอย่างไร

สำหรับประเทศไทย วัคซีนป้องกันโควิด-19 ของแอสตร้าเซนเนก้าทั้งหมดจะอยู่ภายใต้ข้อตกลงการจัดซื้อของสถาบันวัคซีนแห่งชาติ โดยมีกรมควบคุมโรคเป็นผู้วางกลยุทธ์และดำเนินงานด้านการกระจายวัคซีนในประเทศ

ที่มาของภาพ, Getty Images

4. ทำไมไทยซื้อ "แพง" กว่าบางประเทศ

แอสตร้าเซนเนก้าตอบว่า บริษัทมุ่งมั่นที่จะส่งมอบวัคซีนโดย "ไม่หวังผลกำไร"ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ไม่ว่าจะผ่านกลไกใดก็ตาม

ทั้งนี้ ราคาต่อโดสที่แต่ละประเทศจ่ายขึ้นอยู่กับต้นทุนในการผลิตและความแตกต่างของห่วงโซ่อุปทาน (supply chain) ซึ่งขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเช่น กำลังการผลิต ค่าแรงและวัตถุดิบในการผลิตซึ่งจะมีต้นทุนต่างกันไป

เว็บไซต์บีบีซีนิวส์รายงานเมื่อ 4 ม.ค. ที่ผ่านมา อ้างอิงข้อมูลจากบริษัทผลิตวัคซีนแต่ละรายและองค์การอนามัยโลก ระบุว่า วัคซีนที่ผลิตโดยแอสตร้าเซนเนก้าและมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด มีราคาต่อโดสประมาณ 4 ดอลลาร์สหรัฐ (120 บาท) ซึ่งถือว่าน้อยที่สุดเมื่อเทียบกับรายอื่น ๆ ขณะที่วัคซีนจากโมเดอร์นาราคาต่อโดสราว 33 ดอลลาร์สหรัฐ (990 บาทต่อโดส) และวัคซีนจากไฟเซอร์ ราคาต่อโดสคือ 20 ดอลลาร์สหรัฐฯ (600 บาทต่อโดส)

5. ข้อดีของวัคซีนจากแอสตร้าเซนเนก้า

แอสตร้าเซนเนก้าบอกว่าการนำวัคซีนแต่ละชนิดมาเปรียบเทียบกันโดยตรงไม่สามารถทำได้ เนื่องจากมีความแตกต่างกันในด้านรูปแบบงานวิจัยและกลุ่มอาสาสมัคร และการผลิตวัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้า AZD1222 มีขึ้นเพื่อต้องการเอาชนะโรคโควิด-19 ไม่ใช่เพื่อการแข่งขันกับผู้ผลิตวัคซีนรายอื่น ๆ

ส่วนในเรื่องประสิทธิผลและความปลอดภัยนั้น จากผลการทดลองในเบื้องต้นโดยมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด พบว่าวัคซีน AZD1222 มีความปลอดภัยและประสิทธิภาพในการป้องกันโควิด-19 และสามารถช่วยป้องกันการอาการติดเชื้อขั้นรุนแรงหรือต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล

ที่มาของภาพ, Reuters

วัคซีนดังกล่าวมีประสิทธิผลโดยรวมในการป้องกันโควิด-19 ที่ระดับ 70.4% (ดัชนีประสิทธิผลอยู่ระหว่าง 54.8% ถึง 80.6%) ภายหลังจากฉีดวัคซีนครบสองโดสเป็นเวลานานมากกว่า 14 วัน โดยวัคซีนมีประสิทธิภาพในการป้องกันอาการติดเชื้อขั้นรุนแรงหรือต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลได้หลังจากการฉีดโดสแรกเป็นเวลานานกว่า 21 วัน

นอกจากนี้ยังสะดวกต่อการใช้งาน เนื่องจากวัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้าสามารถขนส่งและจัดเก็บได้ที่อุณหภูมิ 2-8 องศาเซลเซียสได้เป็นระยะเวลาอย่างน้อย 6 เดือน ซึ่งเป็นระดับอุณหภูมิของตู้แช่เย็นปกติที่มีใช้อยู่เดิมในระบบสาธารณสุข

ยุโรปเตรียมจำกัดการส่งออกวัคซีน

หลังจากสัปดาห์ที่แล้ว แอสตร้าเซนเนก้า แจ้งกับสหภาพยุโรปว่ากระบวนการผลิตวัคซีนโควิด-19 มีปัญหา และไม่สามารถจัดส่งได้ตามเป้า ล่าสุด สหภาพยุโรปออกมาระบุว่าต้องจำกัดการส่งออกวัคซีนที่ผลิตในภูมิภาค

สเตลลา คีเรียคิเดส กรรมาธิการยุโรปด้านสาธารณสุข บอกว่า สหภาพยุโรปจะทำทุกวิถีทางที่จำเป็นเพื่อปกป้องประชาชนในกลุ่มประเทศสมาชิก 27 ประเทศ

เธอบอกว่า บริษัทผู้ผลิตวัคซีนในสหภาพยุโรปต้องแจ้งล่วงหน้าก่อนหากจะส่งออกวัคซีนไปสู่ประเทศที่สาม ซึ่งหมายถึงสหราชอาณาจักรด้วยหลังจากที่ได้ออกจากสหภาพยุโรปไปแล้ว

ด้าน นาดิม ซาฮาวี รัฐมนตรีผู้รับผิดชอบดูแลเกี่ยวกับการใช้วัคซีนโควิด-19 ของสหราชอาณาจักร บอกว่า เขามั่นใจว่าทั้งแอสตร้าเซนเนก้าและไฟเซอร์-ไบออนเทค จะส่งวัคซีนได้ตามเป้าทั้งที่วางไว้สำหรับกลางเดือน ก.พ. และหลังจากนั้น

ก่อนหน้านี้ ไฟเซอร์-ไบออนเทค ก็ออกมาบอกเช่นกันว่าจะผลิตวัคซีนได้น้อยกว่าเป้า ทำให้แผนฉีดวัคซีนให้ประเทศต่าง ๆ ในสหภาพยุโรปต้องล่าช้าไปด้วย

นายซาฮาวี เตือนว่าอาจจะเกิด "ทางตันของวัคซีนจากความคิดชาตินิยม" เขาเสริมอีกว่า "ไม่มีใครปลอดภัยจนกระทั่งคนทั้งโลกปลอดภัย"

ที่มาของภาพ, Reuters

ท่าทีที่เปลี่ยนไปของ อนุทิน

การออกมาตั้งคำถามผ่านการเฟซบุ๊กไลฟ์ และให้สัมภาษณ์พิเศษกับบีบีซีไทย ของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า เกี่ยวกับความล่าช้าและโปร่งใสของโครงการนี้ สร้างความโกรธเคืองต่อรัฐบาล เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา โดย นายอนุทิน ชาญวีรกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า "ไม่ใช่หน้าที่และประเด็นสำคัญ" ที่รัฐบาลต้องเปิดสัญญาจัดซื้อวัคซีนจาก บ.แอสตร้าเซนเนก้าเพื่อความโปร่งใส ตามคำเรียกร้องของนายธนาธร

ทว่าในวันนี้ รมว. สาธารณสุขใช้พื้นที่บนเฟซบุ๊กส่วนตัว ตอบคำถามนายธนาธรในส่วนของกระทรวงสาธารณสุข และสถาบันวัคซีนแห่งชาติ ในหลายประเด็น อาทิ ความล่าช้า ข้อจำกัดในการเจรจาจัดหาวัคซีนและการเปิดเผยข้อมูลสัญญา เหตุผลการสนับสนุนแอสตร้าเซนเนก้าในการตั้งฐานการผลิตในไทย และการจัดหาวัคซีนจำนวน 26 ล้านโดส จากแอสตร้าเซนเนก้า และอีกจำนวน 2 ล้านโดส จากบริษัทไซโนแวค จากจีน และเหตุผลของการยังไม่รวมโครงการวัคซีนของ COVAX facility ขององค์การอนามัยโลก พร้อมกับยืนยันว่าไม่มีการผูกขาดการจัดหาวัคซีนจากผู้ผลิตรายหนึ่งรายใด

ที่มาของภาพ, ScG

คำบรรยายภาพ,

กระทรวงสาธารณสุข สยามไบโอไซเอนซ์ เอสซีจี และแอสตร้าเซนเนก้า บริษัทผู้ผลิตชีวภัณฑ์ชั้นนำสัญชาติอังกฤษ-สวีเดน ร่วมลงนามในหนังสือแสดงเจตจำนง (Letter of Intent) ในการผลิตและจัดสรรวัคซีนวิจัยป้องกันโควิด-19 AZD1222 ที่พัฒนาโดยมหาวิทยาลัยอ็อกซฟอร์ด

นายอนุทินกล่าวว่า การประชุมเตรียมการจัดหาวัคซีนมีมาตั้งแต่ เม.ย. 2563 ใช้เวลามากพอสมควร เมื่อมีความชัดเจนเกิดขึ้น จึงได้แถลงให้ประชาชนทราบอย่างเปิดเผยถึงความร่วมมือระหว่างภาครัฐ และภาคเอกชน ที่มีส่วนร่วมในการทำงานนี้เพื่อการจัดหาวัคซีน มาให้คนไทยทุกคน ด้วยความปลอดภัย และยังสร้างความมั่นคงด้านวัคซีนให้แก่ประเทศไทย ในฐานะผู้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตวัคซีนไวรัสโคโรนา 2019 เพียงประเทศเดียวในภูมิภาคอาเซียน

"เราเจรจากับผู้ผลิตวัคซีนทุกราย ที่ผลิตวัคซีนออกมาจำหน่ายในขณะนี้ การเจรจาจัดหาวัคซีน มีข้อจำกัดมากมายทั้งจากเงื่อนไขของผู้ผลิต และจากระบบกฎหมายไทย และ งบประมาณของประเทศไทยเอง" เขาอธิบาย