แก้ไขกฎหมายทำแท้ง ความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในรอบ 60 ปีที่หลายฝ่ายยังมีข้อกังวล

  • ชัยยศ ยงค์เจริญชัย
  • ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย
Abortion

ที่มาของภาพ, Getty Images

ทันทีที่แอน (นามสมมุติ) รู้ตัวว่าตั้งครรภ์ได้เดือนกว่า ๆ เธอคิดถึงความเป็นไปได้ที่จะเลี้ยงดูลูกที่อยู่ในครรภ์ของเธอ และได้ข้อสรุปว่านี่เป็นการตั้งครรภ์โดยไม่พร้อม

"แค่อนาคตตัวเองเรายังมองไม่เห็นเลย เราไม่อยากให้ลูกออกมาเป็นเหมือนเรา แม้กระทั่งค่าเทอมเรายังไม่รู้เลยว่าจะไปหาที่ไหน...เราอยากให้เขามีสังคมที่ดีกว่านี้ ชีวิตดีกว่านี้ ถ้าเราต้องทำงานหาเงินจนเลือดตาแทบกระเด็นจนไม่มีเวลาให้ลูก มันก็ถือเป็นความไม่พร้อมอยู่ดี" เธอเล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อ 2 ปีก่อน

แอนตัดสินใจยุติการตั้งครรภ์หรือทำแท้งที่สถานพยาบาลแห่งหนึ่ง ซึ่งตามกฎหมายแล้วนี่ถือว่าเป็นความผิดอาญา

แต่หลังจากพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญาฉบับที่ 28 ที่แก้ไขมาตราว่าด้วยการทำแท้งมีผลบังคับใช้ในวันที่ 7 ก.พ. หรือหนึ่งวันหลังจากประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 6 ก.พ. ตามที่กฎหมายกำหนด ผู้หญิงที่ทำแท้งอาจไม่ได้มีความผิดตามกฎหมายอาญาเสมอไป

ผู้ที่ศึกษาประวัติศาสตร์ของกฎหมายเกี่ยวกับการทำแท้งให้ข้อมูลว่า ประมวลกฎหมายอาญามาตรามาตรา 301-305 ที่ว่าด้วยการทำแท้งนี้มีผลบังคับใช้มาแล้ว 60 ปี ดังนั้น พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญาว่าด้วยการทำแท้งฉบับนี้จึงถือเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งแรกในรอบ 60 ปี และเป็นสิ่งที่ภาคประชาสังคมเรียกร้องให้เกิดขึ้นผ่านการเคลื่อนไหวต่าง ๆ มาอย่างต่อเนื่อง

ก้าวไปอีกขั้น แต่ยังมีข้อกังวล

สาระสำคัญของ พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญามาตรา 301 และ 305 ที่ว่าด้วยการทำแท้งฉบับนี้คือ จากเดิมที่การทำแท้งในเกือบทุกกรณีเป็นความผิด มีโทษจำคุกและปรับ เปลี่ยนมาเป็นการทำแท้งช่วงที่อายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ ไม่มีความผิด หากอายุครรภ์เกิน 12 สัปดาห์สามารถทำแท้งได้ภายใต้ 3 เงื่อนไข และหากอายุครรภ์เกิน 12 สัปดาห์แต่ไม่เกิน 20 สัปดาห์ ทำแท้งได้ภายใต้ 1 เงื่อนไข การทำแท้งที่ไม่เป็นไปตามเงื่อนไขนี้ผู้ทำจะมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือนหรือปรับไม่เกิน 10,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับแต่เนื้อหาของกฎหมายที่แก้ไขเป็นไปตามความคาดหวังของผู้ที่ทำงานด้านอนามัยเจริญพันธุ์และสิทธิสตรีหรือไม่ และยังมีประเด็นอะไรที่น่ากังวล บีบีซีไทยรวบรวมความเห็นจากผู้เกี่ยวข้องรอบด้าน ทั้งนักกฎหมาย แพทย์อาสา และองค์กรภาคประชาสังคม

เปิด พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 28)

พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 28) ที่ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ในวันที่ 6 ก.พ. และ มีผลบังคับใช้ในวันที่ 7 ก.พ. เป็นต้นไป มีทั้งหมด 4 มาตรา ดังนี้

มาตรา 1 พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า "พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมาย อาญา (ฉบับที่ 28) พ.ศ.2564 "

มาตรา 2 พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นต้นไป

มาตรา 3 ให้ยกเลิกความในมาตรา 301 แห่งประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติม โดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๒๖) พ.ศ. 2560 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

"มาตรา 301 หญิงใดทำให้ตนเองแท้งลูกหรือยอมให้ผู้อื่นทำให้ตนแท้งลูกขณะมีอายุครรภ์เกิน 12 สัปดาห์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ"

มาตรา 4 ให้ยกเลิกความในมาตรา 305 แห่งประมวลกฎหมายอาญา และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

"มาตรา 305 ถ้าการกระทำความผิดตามมาตรา 301 หรือมาตรา 302 เป็นการกระทำของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมและตามหลักเกณฑ์ของแพทยสภาในกรณีดังต่อไปนี้ ผู้กระทำไม่มีความผิด

(1) จำเป็นต้องกระทำเนื่องจากหากหญิงตั้งครรภ์ต่อไปจะเสี่ยงต่อการได้รับอันตราย ต่อสุขภาพทางกายหรือจิตใจของหญิงนั้น

(2) จำเป็นต้องกระทำเนื่องจากมีความเสี่ยงอย่างมากหรือมีเหตุผลทางการแพทย์ อันควรเชื่อได้ว่าหากทารกคลอดออกมาจะมีความผิดปกติถึงขนาดทุพพลภาพอย่างร้ายแรง

(3) หญิงยืนยันต่อผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมว่าตนมีครรภ์เนื่องจากมีการกระทำความผิดเกี่ยวกับเพศ

(4) หญิงซึ่งมีอายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ยืนยันที่จะยุติการตั้งครรภ์

(5) หญิงซึ่งมีอายุครรภ์เกิน 12 สัปดาห์ แต่ไม่เกิน 20 สัปดาห์ ยืนยันที่จะยุติการตั้งครรภ์ ภายหลังการตรวจและรับคำปรึกษาทางเลือกจากผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมและผู้ประกอบวิชาชีพอื่น ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขประกาศกำหนดโดยคำแนะนำของแพทยสภาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น

ผศ.ดร. รณกรณ์ บุญมี อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เห็นว่าภาพรวมของกฎหมาย "ดีขึ้นมาก" จากจุดที่ผู้หญิงไม่มีอำนาจตัดสินใจในร่างกายของตัวเองเลย กลับมามีสิทธิในการตัดสินใจเพิ่มขึ้น

"แค่ผู้หญิงสามารถมีส่วนในการตัดสินใจในเรื่องร่างกายตัวเองได้ก็ถือว่าเป็นชัยชนะแล้ว ถือว่าเป็นความก้าวหน้าของแนวคิดเสรีนิยม การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ เป็นชัยชนะที่เราไม่คาดหวังว่าจะเห็นด้วยซ้ำ ไม่คิดว่าเมืองไทยจะขยับมาได้เร็วขนาดนี้" ผศ.ดร. รณกรณ์กล่าว

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ,

กิจกรรมรณรงค์สนับสนุนการแก้กฎหมายอาญาเกี่ยวกับการทำแท้งเกิดขึ้นเป็นระยะ ๆ ในสังคมไทย

ธารารัตน์ ปัญญา นักรณรงค์ด้านสิทธิสตรีซึ่งเป็นหนึ่งในคณะกรรมาธิการพิจารณากฎหมายฉบับนี้เห็นด้วยว่าเป็นการ "ขยับไปอีกก้าว" ของสิทธิผู้หญิง แต่ก็ยังไปไม่ไกลถึงจุดที่เธอคาดหวัง

"เราไม่สามารถยกเลิกความผิดของผู้หญิงออกไปเลยในเวลานี้ ถือว่ายังต้องค่อยเป็นค่อยไป เรารู้สึกว่าจากประเทศที่ไม่อนุญาตให้ผู้หญิงทำแท้งได้ ขยับมาเป็นวันนี้ก็นับว่าดี แต่การต่อสู้ก็ยังไม่จบ" ธารารัตน์กล่าว

จริง ๆ แล้วในชั้นกรรมาธิการพิจารณาร่างกฎหมาย มีการเสนอให้ยกเลิกมาตรา 301 ที่กำหนดบทลงโทษผู้หญิงที่ทำให้ตัวเองแท้งลูกหรือยอมให้ผู้อื่นทำให้ตนแท้งลูก จำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แต่ข้อเสนอนี้ไม่ได้รับการสนับสนุน เพียงแต่มีการลดโทษให้น้อยลงเหลือจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ธารารัตน์ขยายความถึงการต่อสู้ในระยะต่อไปว่า จะเสนอให้แยกกฎหมายการทำแท้งออกมาจากประมวลกฎหมายอาญา เพื่อที่จะไม่ให้กำหนดความผิดของผู้หญิงที่ตั้งครรภ์

ที่มาของภาพ, Thararat Panya

คำบรรยายภาพ,

ธารารัตน์ ปัญญา เป็นหนึ่งในคณะกรรมาธิการพิจารณาร่างแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญามาตราที่เกี่ยวข้องกับการทำแท้ง

กฎเกณฑ์ที่ซับซ้อนและกระบวนการที่ใช้เวลานาน

นอกจากมาตรา 301 ของประมวลกฎหมายอาญาแล้ว อีกมาตราหนึ่งที่เกี่ยวกับการทำแท้งคือมาตรา 305 ส่วนที่ว่าด้วยการยกเว้นการรับโทษของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมและตามหลักเกณฑ์ของแพทยสภา

มาตรา 305 อนุ 5 ระบุว่าหญิงอายุครรภ์เกิน 12 สัปดาห์ แต่ไม่เกิน 20 สัปดาห์ (3-5 เดือน) ยืนยันยุติตั้งครรภ์ภายหลังการตรวจและรับคำปรึกษาทางเลือกจากผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมและผู้ประกอบวิชาชีพอื่นตามหลักเกณฑ์และวิธีที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขประกาศโดยคำแนะนำของแพทยสภาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น

ผศ.ดร. รณกรณ์กล่าวว่าการผูกข้อกฎหมายเข้ากับหลักเกณฑ์ของแพทยสภาเป็นสิ่งที่น่ากังวลเนื่องจากข้อบังคับของแพทยสภาออกโดยคนกลุ่มเดียวโดยไม่ต้องผ่านความเห็นของผู้แทนราษฎร อีกทั้งจะเปลี่ยนแปลงเมื่อไหร่ก็ได้ หรือเมื่อมีการเปลี่ยนกรรมการ แนวคิดหรือข้อกำหนดต่าง ๆ จะเปลี่ยนตามหรือไม่

"ตอนนี้ยังไม่มีข้อบังคับออกมา ข้อบังคับแทพยสภาที่ออกมาเมื่อปี 2548 มีแค่พูดถึงเรื่องของสุขภาพจิตกับเรื่องการถูกข่มขืน...แต่เมื่อไหร่ที่แพทยสภาออกข้อกำหนดในเรื่องนี้ออกมา ก็ต้องมาลุ้นกัน ผมคิดว่ารัฐสภาไม่ควรเอาข้อบังคับของแพทย์สภาเข้ามาอยู่ในมาตรา 305 เลย" นักวิชาการด้านนิติศาสตร์ระบุ

นอกจากนี้ "หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น" ที่กฎหมายระบุนั้นก็มีไม่ต่ำกว่า 5 หน่วยงานซึ่งมีกฎเกณฑ์และกระบวนการทำงานที่ต่างกัน อาจทำให้หญิงตั้งครรภ์ที่ขอรับคำปรึกษาประสบปัญหาและต้องใช้เวลานาน

ด้านสุมาลี โตกทอง สมาชิกเครือข่ายสนับสนุนทางเลือกของผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อมเห็นด้วยว่าภาคประชาสังคมต้องมีส่วนร่วมในการออกข้อกำหนดและกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องของหน่วยงานต่าง ๆ หลังจากนี้ และกังวลว่าระยะเวลาและกระบวนการที่ใช้ในการพิจารณาเพื่ออนุมัติการยุติการตั้งครรภ์ของแต่ละหน่วยงานตามที่กฎหมายระบุอาจทำให้เกิดความล่าช้าจนทำให้หญิงตั้งครรภ์หมดโอกาสที่จะทำแท้ง

"ถ้าหญิงที่อายุครรภ์ยังไม่มากนักก็อาจจะมีเวลามากพอ (ที่จะรอกระบวนการพิจารณา) แต่ถ้าคนที่อายุครรภ์มากจนใกล้จะเกินกำหนด (ที่กฎหมายอนุญาตให้ทำแท้ง) ถ้าต้องทำตามกฎเกณฑ์ที่ซับซ้อนวุ่นวายมาก ๆ ก็มีสิทธิที่จะเกินเวลา ตรงนี้เรายังไม่มีความชัดเจนว่าจะมีการตีความข้อกฎหมายให้สิทธิกับผู้หญิงมากน้อยแค่ไหน" สุมาลีกล่าว

ที่มาของภาพ, สุมาลี โตกทอง

คำบรรยายภาพ,

สุมาลี โตกทอง เข้าป่ระชุมนับครั้งไม่ถ้วนเพื่อผลักดันการแก้กฎหมายและให้ข้อเสอนแนะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับการปกป้องสิทธิและดูแลผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ไม่พร้อม

การทำแท้งไม่ใช่อาชญากรรม

เป้าหมายหลักของภาคประชาสังคมที่ทำงานด้านสิทธิสตรีในการผลักดันให้มีการแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับการทำแท้งก็คือ การเปิดโอกาสให้ผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ไม่พร้อมมีทางเลือก ทั้งทางเลือกสำหรับคนที่ต้องการยุติการตั้งครรภ์อย่างปลอดภัย และทางเลือกสำหรับการดูแลแม่และเด็กหากต้องการตั้งครรภ์ต่อ

สุมาลีกล่าวว่าหัวใจสำคัญของกฎหมายคือ ผู้หญิงที่ตัดสินใจทำแท้งไม่ควรถูกตัดสินว่ามีความผิดและต้องรับโทษทางอาญา

"ผู้หญิงต้องเผชิญกับสถานการณ์และบริบทที่มีความซับซ้อนมากมายจึงไม่ควรถูกมองว่าเป็นอาชญากร มันทำให้ดูว่าเป็นคนจิตใจอำมหิต" สุมาลีกล่าว

เธอบอกว่าการแก้ไขกฎหมายในครั้งนี้ช่วยให้ผู้หญิงมีเวลาในการใคร่ครวญและตัดสินใจเรื่องการตั้งท้องของตัวเองได้ แต่สุมาลีก็ตั้งข้อสังเกตถึงการที่กฎหมายกำหนดให้หญิงที่มีอายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ถึงจะทำแท้งได้โดยไม่มีความผิด เนื่องจากการทำงานที่ผ่านมาพบว่ามีผู้หญิงจำนวนไม่น้อยที่เข้าถึงบริการทางการแพทย์เมื่ออายุครรภ์เกิน 12 สัปดาห์ไปแล้ว เพราะไม่รู้ตัวว่าท้องเนื่องจากประจำเดือนมาไม่ปกติอยู่แล้ว หรือยุ่งมากจนไม่มีเวลา

ที่สำคัญก็คือกฎหมายฉบับแก้ไขนี้ ยังมีกการเอาผิดและกำหนดบทลงโทษผู้หญิงที่ทำแท้งอยู่

"สิ่งที่เราเรียกร้องคือการมีบริการที่ปลอดภัยและถูกกฎหมาย ผู้หญิงจะต้องไม่ถูกมองว่าเป็นอาชญากร ก็คือมันต้องไม่มีการระบุว่าเป็นการทำความผิด" สุมาลีอธิบาย

"การตั้งท้องไม่พร้อมเป็นปัญหาในเรื่องโครงสร้าง เชิงวัฒนธรรม แต่ผู้หญิงกลายเป็นจำเลยว่าเป็นเรื่องของพฤติกรรมส่วนตัว"

สุมาลีย้ำว่ากฎหมายไม่ควรตัดสินว่าหญิงที่ท้องไม่พร้อมและทำแท้งเป็นคนที่กระทำความผิด เป็นผู้ที่ฆ่าเด็ก และเราไม่มีพื้นที่ให้เขาได้ฟื้นตัวเองเพื่อที่ให้กลับมาใช้ชีวิตต่อได้ ในทางกลับกันต้องมีกระบวนการเยียวยาสภาพจิตใจของผู้หญิงเหล่านี้ด้วย

"บริการให้คำปรึกษาแก่ผู้หญิงที่ผ่านการยุติการตั้งครรภ์จะนำไปสู่การเข้าถึงการบริการด้านการคุมกำเนิดได้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น" สุมาลีกล่าว

ความเห็นจากหญิงที่ผ่านการทำแท้ง

สำหรับ "แอน" ซึ่งเคยมีประสบการณ์ตั้งครรภ์ไม่พร้อมและผ่านการทำแท้งมาแล้ว เธอเห็นด้วยการแก้ไขกฎหมายเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้หญิงมีโอกาสตัดสินใจและเลือกยุติการตั้งครรภ์

ข้อมูลของกรมอนามัยระบุว่าในแต่ละปีมีผู้หญิงที่ทำแท้งทั่วประเทศประมาณ 300,000 คน ในจำนวนมีผู้หญิงที่เข้ารับบริการอย่างถูกกฎหมายเพียงราว ๆ 15,000 คนเท่านั้น แอนเป็นหนึ่งในหญิงตั้งครรภ์ที่ไม่ได้รับบริการอย่างถูกกฎหมาย

แอนรู้ตัวว่าตั้งท้องเมื่ออายุครรภ์ได้เดือนกว่า ๆ แต่จากความกังวล ความไม่แน่ใจ ความกลัว ใช้เวลาหาข้อมูลและอีกหลาย ๆ อย่าง ทำให้กว่าที่เธอจะตัดสินใจทำแท้งอายุครรภ์ของเธอก็มากขึ้นแล้ว

ที่มาของภาพ, Getty Images

"นี่คือปัญหา พอมันเป็นเรื่องที่ไม่ถูกกฎหมาย การเข้าถึงข้อมูลมันยุ่งยาก และพอเจอข้อมูลแล้วก็ต้องมาชั่งใจอีกว่าข้อมูลที่เราเจอกับสถานที่ที่เราจะไปใช้บริการเชื่อถือได้หรือไม่ กว่าจะหาข้อมูลจนตัดสินใจทำได้ก็ท้องได้ 5 เดือนแล้ว" แอนเล่าประสบการณ์

ด้วยความที่การทำแท้งเป็นเรื่องผิดกฎหมาย ทุกขั้นตอนจึงต้องเป็นไปอย่างปิดลับ แม้แต่ตอนที่เข้าไปใช้บริการทำแท้ง เธอก็ถูกห้ามนำโทรศัพท์มือถือติดตัวไป จึงไม่สามารถติดต่อแฟนหรือคนที่ไว้ใจได้ ทำให้แอนยิ่งเครียดและกังวลมากขึ้นเนื่องจากรู้ว่ากำลังทำในสิ่งที่ผิดกฎหมาย

แม้เธอจะผ่านการยุติการตั้งครรภ์มาได้อย่างปลอดภัย แต่ผลกระทบทางจิตใจที่ได้รับจากเหตุการณ์นั้นยังยากที่จะเยียวยา

"เราถูกสอนมาว่ามันเป็นบาป ผิดกฎหมาย รู้สึกผิด แต่จริง ๆ แล้วไม่ควรมีใครต้องรู้สึกแบบนี้ถ้าเรามีความเข้าใจเรื่องการตั้งครรภ์ เข้าใจว่าอายุครรภ์เท่าไหร่ถึงจะเรียกว่าเป็นทารกที่มีชีวิต" แอนอธิบาย

แอนเห็นด้วยว่าการกำหนดให้ผู้หญิงที่อายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ถึงจะทำแท้งได้โดยไม่ผิดกฎหมายนั้นเป็นจุดอ่อน

"บางคนมีประจำเดือนมาไม่ปรกติ 4-5 เดือนมาทีก็มี ซึ่งมันมีหลายมิติมาก ๆ มันเป็นการลิดรอนสิทธิของคนที่มีมดลูกจริง ๆ เรามองว่ามันเป็นใบเบิกทางที่ดีแต่ว่ามันไปได้อีก และถ้าเข้าใจในเรื่องของสิทธิในเนื้อตัวร่างกาย มันจะไปได้ไกลมากกว่านี้"

ที่มาของภาพ, Getty Images

สิทธิที่ผู้หญิงไม่ค่อยรู้

ภาคประชาสังคมด้านสิทธิสตรีและอนามัยแม่และเด็กเห็นว่าสิ่งที่หน่วยงานของรัฐและทุกภาคส่วนต้องช่วยกันทำหลังจาก พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญาฉบับนี้มีผลบังคับใช้คือ การให้ข้อมูล ให้ความรู้และคำแนะนำแก่ผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ ภาครัฐมีหน้าที่สำคัญในการประชาสัมพันธ์และสร้างการรับรู้ให้ประชาชนว่ากฎหมายมีผลบังคับใช้แล้ว หากต้องการใช้บริการหรือเข้ากระบวนการต้องติดต่อหน่วยงานไหน อย่างไรบ้าง

สุมาลีกล่าวว่าที่จริงประเทศไทยมีระบบการดูแลผู้หญิงตั้งครรภ์ไม่พร้อมในระดับหนึ่ง แต่ผู้หญิงเข้าไม่ถึงเนื่องจากภาครัฐไม่ค่อยมีการประชาสัมพันธ์ เช่น หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ามีสิทธิประโยชน์ให้ผู้หญิงที่ยังไม่พร้อมที่จะมีลูก

เธอเชื่อว่ามีกฎหมายนี้มีผลบังคับใช้และเปิดช่องให้มีการทำแท้งได้หากเข้าเงื่อนไขที่กำหนด ความรับรู้และความคิดของคนในสังคมเกี่ยวกับการทำแท้งจะค่อย ๆ เปลี่ยนแปลงไปด้วย และในอนาคตกฎหมายของไทยอาจจะไปไกลถึงจุดที่ยกเลิกความผิดและบทลงโทษผู้หญิงที่ทำแท้งได้

"พญ. ศรีสมัย เชื้อชาติ" กับจุดเริ่มต้นแก้กฎหมายทำแท้ง

พญ.ศรีสมัย เชื้อชาติ แพทย์อาสาของเครือข่ายอาสาเพื่อการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย กรมอนามัย เป็นบุคคลที่มีส่วนอย่างมากในการผลักดันให้เกิดแก้กฎหมายทำแท้งในประเทศไทย

เรื่องราวของ พญ. ศรีสมัยกลายเป็นข่าวดังเมื่อต้นปี 2561 หลังเกิดเหตุพนักงานเก็บขยะเทศบาลเมืองหัวหิน พบซากทารกอยู่ในถุงดำที่นำมาทิ้งในถังขยะข้างร้านสะดวกซื้อ ต่อมาตำรวจพร้อมด้วยเจ้าหน้าที่สาธารณสุขได้นำหมายเข้าตรวจค้นคลินิกศรีสมัยการแพทย์และบ้านพักของ พญ. ศรีสมัย ที่เป็นเจ้าของคลินิก

พนักงานสอบสวนสอบปากคำ พญ. ศรีสมัย ตลอดจนพยานปากต่าง ๆ รวมทั้งหญิงที่มาทำแท้ง และการรวบรวมพยานหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ จนนำไปสู่การขออนุมัติศาลจังหวัดหัวหินออกหมายจับ พญ. ศรีสมัย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 302 ในข้อหาผู้ใดทำให้หญิงแท้งลูก โดยหญิงนั้นยินยอม ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

พญ.ศรีสมัยได้ยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญ และศาลได้รับคำร้องในเดือน พ.ย. ในปีเดียวกัน โดยสื่อหลายสำนักรายงานคำพูดของเธอว่า "การแก้กฎหมายทำแท้งที่ไม่เป็นธรรมสำเร็จได้ในบางประเทศ เกิดจากการที่มีหมอถูกดำเนินคดี ถ้าหมอจะต้องเป็นคนคนนั้น หมอก็ยินดี.."

เธอใช้เวลากว่าสองปีกับการต่อสู้คดีจนวันที่ 19 ก.พ. 2563 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมากวินิจฉัยชี้ขาดว่า ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 301 ที่กำหนดว่าหญิงที่ทำแท้งเป็นความผิดอาญานั้น ขัดต่อรัฐธรรมนูญ และต่อมาเมื่อวันที่ 11 พ.ย. 2563 ศาลจังหวัดหัวหินมีคำพิพากษายกฟ้อง พญ.ศรีสมัย ในข้อกล่าวหาทำแท้งผิดกฎหมาย ส่งผลให้ผู้หญิงที่เป็นคนไข้ของเธอเป็นผู้ไร้มลทินทุกคน จากจุดนั้นก็นำมาสู่การแก้กฎหมายในเวลาไม่ถึง 1 ปี

คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ พญ. ศรีสมัยเป็นผู้ร้อง ได้รับการบันทึกไว้ท้าย พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 28) ไว้ด้วยว่า "เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยที่ 4/2563 ลงวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2563 วินิจฉัยว่า บทบัญญัติความผิดฐานหญิงทำให้ตนเองแท้งลูกหรือยอมให้ผู้อื่นทำให้ตนแท้งลูก ตามมาตรา 301 แห่งประมวลกฎหมายอาญา ขัดหรือแย้งต่อมาตรา 28 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย...นอกจากนี้ศาลรัฐธรรมนูญยังได้ให้ข้อเสนอแนะด้วยว่าประมวลกฎหมายอาญาและกฎหมายที่เกี่ยวข้องเรื่องการทำแท้งสมควรได้รับการปรับปรุงแก้ไขเพื่อให้สอดคล้องกับสภาพการณ์ในปัจจุบัน"

ที่มาของภาพ, Getty Creative

บีบีซีไทยได้ติดต่อขอสัมภาษณ์ พญ.ศรีสมัย จากกรณีดังกล่าว แต่เธอกล่าวว่าเธอยังไม่สะดวกให้สัมภาษณ์ เราจึงได้ต่อ นพ. วรชาติ มีวาสนา เพื่อนร่วมงานของเธอในเครือข่ายอาสาเพื่อการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย

นพ. วรชาติกล่าวว่าแพทย์อาสาในเครือข่ายฯ ทำงานโดยคำนึงถึงสิทธิเสรีภาพในร่างกายของบุคคลเป็นหลัก

"เราไม่เคยเถียงเรื่องบาปบุญคุณโทษนะ เพราะว่ามันเถียงกันไม่จบ แต่ประเด็นคือเรื่องสิทธิ เสรีภาพบเนื้อตัวร่างกายของคน ๆ หนึ่ง ถ้าเป็นเราเองเราจะทำยังไง เพราะฉะนั้นเราเลยให้สิทธิกับเขามากกว่า เราเชื่อว่าไม่มีใครตั้งใจท้องเพื่อยุติการตั้งครรภ์ เราเข้าใจว่าแต่ละคนมีความจำเป็นที่ต่างกัน" นพ. วรชาติกล่าว

เขายอมรับว่าสังคม รวมทั้งแพทย์เองก็ยังมีความเห็นที่แตกต่างกันในเรื่องการยุติการตั้งครรภ์

"แต่ละคนมีความเชื่อไม่เหมือนกันซึ่งไม่เป็นไร ผมก็แค่อยากช่วย คน (หมอ) ที่ไม่ทำ (ยุติการตั้งครรภ์) ก็ไม่เป็นไร ก็ส่งมาให้คนที่พร้อมจะทำ"