ม.112: ศาลอุทธรณ์ไม่ให้ประกันตัวอานนท์-พริษฐ์-ปฏิวัฒน์-สมยศ เหตุ "อาจหลบหนี"

พริษฐ์กับอานนท์

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

คำบรรยายภาพ,

พริษฐ์ ชิวารักษ์ (ซ้าย) พูดคุยกับอานนท์ นำภา ในวันที่อัยการสั่งฟ้องและถูกส่งตัวเข้าเรือนจำเมื่อ 9 ก.พ.

ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งยืนตามคำสั่งศาลชั้นต้น ไม่ให้ประกันตัวแกนนำและผู้ปราศรัยกลุ่ม "ราษฎร" ทั้ง 4 คนที่ถูกสั่งฟ้องในความผิดฐานหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์และยุยงปลุกปั่น โดยศาลให้เหตุผลว่า หากปล่อยตัวอาจก่อให้เกิดความวุ่นวายและอาจหลบหนี

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเปิดเผยช่วงเย็นวันนี้ (15 ก.พ.) ว่าหลังจากที่ทนายความของนายพริษฐ์ ชิวารักษ์ นายอานนท์ นำภา นายปฏิวัฒน์ สาหร่ายแยม และนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข ยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่อนุญาตปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างพิจารณาคดีนักกิจกรรมทั้ง 4 ที่ถูกอัยการสั่งฟ้องในคดีชุมนุม "19 กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร" และคำสั่งไม่อนุญาตปล่อยตัวชั่วคราวพริษฐ์ในคดี "ม็อบเฟสต์" ไปเมื่อวันที่ 11 ก.พ. วันนี้ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งยืนตามศาลชั้นต้น ไม่ให้ประกันตัวทั้ง 4 คน

ศาลให้เหตุผลที่ไม่ให้ประกันตัวว่า คดีมีอัตราโทษสูง อาจก่อให้เกิดความวุ่นวาย หากปล่อยตัวอาจส่งผลกระทบวงกว้าง อีกทั้งคำปราศรัยยังกระทบกระเทือนจิตใจของชาวไทยผู้จงรักภักดี และหากได้รับการปล่อยตัว อาจหลบหนี

พริษฐ์ อานนท์ ปฏิวัฒน์ และสมยศถูกคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมาตั้งแต่วันที่ 9 ก.พ. หลังจากอัยการสั่งฟ้องพวกเขาในฐานความผิดตามมาตรา 112 มาตรา 116 ของประมวลกฎหมายอาญา และ พ.ร.บ. โบราณสถาน โดยพริษฐ์ถูกสั่งฟ้องมาตรา 112 อีกหนึ่งคดีจากการชุมนุม "ม็อบเฟสต์" ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 14 พ.ย. 2563 โดยศาลให้เหตุผลที่ไม่ให้ประกันตัวว่า "หากอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยอาจไปก่อเหตุลักษณะเดียวกันกับความผิดที่ถูกกล่าวหาอีก"

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

คำบรรยายภาพ,

(จากซ้ายไปขวา) พริษฐ์ อานนท์ และสมยศในวันที่อัยการนำตัวส่งฟ้องและต่อมาศาลไม่ให้ประกันตัว ทั้ง 3 คน รวมทั้งปฏิวัฒน์ หรือ "หมอลำแบงค์" รวมเป็น 4 คน จึงถูกส่งตัวเข้าเรือนจำตั้งแต่วันที่ 9 ก.พ.

เปิดคำสั่งศาลอุทธรณ์

คำสั่งศาลอุทธรณ์ที่ศูนย์ทนายฯ นำมาเผยแพร่ ระบุว่า "คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวนั้นชอบแล้ว" โดยให้เหตุผลดังนี้

  • ความผิดตามฟ้องมีอัตราโทษสูง
  • การกระทำตามฟ้องมีลักษณะเป็นการร่วมกันกระทำความผิดอันอาจก่อให้เกิดความเสียหายหรือวุ่นวายขี้นและส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง
  • จำเลยที่ 1, 2 และ 4 (พริษฐ์, อานนท์และสมยศ) ขึ้นปราศรัยด้วยถ้อยคำที่นำมาซึ่งความเสื่อมเสียสู่สถาบันพระมหากษัตริย์อันเป็นที่เทิดทูนและเคารพสักการะ กระทบกระเทือนจิตใจของปวงชนชาวไทยผู้จงรักภักดีอย่างไม่เกรงกลัวต่อกฎหมาย และมีลักษณะชักนำให้ประชาชนละเมิดกฎหมาย
  • จำเลยที่ 1 และ 2 (พริษฐ์และอานนท์) ถูกกล่าวหาดำเนินคดีในความผิดลักษณะเดียวกันคดีอื่น ๆ อีก
  • จำเลยที่ 4 (สมยศ) เคยต้องโทษตามคำพิพากษาถึงที่สุดว่าได้กระทำความผิดในลักษณะทำนองเดียวกันนี้มาก่อน
  • มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่า หากอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราวในระหว่างพิจารณาแล้ว จำเลยที่ 1, 2 และ 4 อาจจะก่อให้เกิดเหตุอันตรายหรือความเสียหายประการอื่นอีก และเชื่อว่าจำเลยอาจหลบหนี จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว

นักวิชาการลงชื่อเรียกร้องศาลทบทวนคำสั่ง "ไม่ให้ประกันตัว"

ก่อนหน้านี้ในช่วงเช้า กลุ่มนักวิชาการในนามเครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง (คนส.) เดินทางไปที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เพื่ออ่านแถลงการณ์ซึ่งลงชื่อโดยนักวิชาการ 255 คนจากกว่า 30 สถาบันการศึกษาทั่วประเทศ เรียกร้องให้ศาลทบทวนคำสั่งไม่ให้ประกันตัวนักกิจกรรมทั้ง 4 คน

ผศ.ดร. ประจักษ์ ก้องกีรติ รองคณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะตัวแทน คนส. อ่านแถลงการณ์ ซึ่งมีนักวิชาการอาวุโสหลายคนลงนามสนับสนุน เช่น ชาญวิทย์ เกษตรศิริ นิธิ เอียวศรีวงศ์ นักวิชาการ ธงชัย วินิจจะกูล ชยันต์ วรรธนะภูติ และพนัส ทัศนียานนท์ เรียกร้องให้ศาล "คืนสิทธิในการได้รับการประกันตัวระหว่างถูกดำเนินคดีแก่ผู้ถูกสั่งฟ้องจากการชุมนุม" และทบทวนคำสั่งไม่ให้ประกันตัวทั้ง 4 คน โดยให้เหตุผลประกอบข้อเรียกร้อง 4 ข้อ คือ

1. ศาลพึงยึดหลัก "การสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจําเลยที่ถูกกล่าวหานั้นเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าศาลจะมีคําพิพากษาถึงที่สุด" (the principle of presumption of innocence) อันเป็นหลักการทางกฎหมายพื้นฐานที่สําคัญในการดําเนินคดี อีกทั้งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ก็ยังบัญญัติไว้ในมาตรา 29 วรรค 2 ว่า "ในคดีอาญา ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจําเลยไม่มีความผิด และก่อนมีคําพิพากษาอันถึงที่สุดแสดงว่าบุคคลใดได้กระทําความผิด จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทําความผิดมิได้"

"คำสั่งไม่ให้ประกันตัวที่วางอยู่บนการวินิจฉัยว่าจำเลยอาจไปก่อเหตุลักษณะเดียวกันกับที่ถูกกล่าวหา จึงเป็นเสมือนการตัดสินล่วงหน้าว่าการกระทำของผู้ถูกสั่งฟ้องเป็นการกระทำผิด ทั้ง ๆ ที่ กระบวนการไต่สวนยังไมได้เริ่มต้นและยังไม่มีคำพิพากษา เป็นการขัดกับหลักการและบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญข้างต้น"

2. หากภายหลังศาลมีคำพิพากษาว่าผู้ถูกสั่งฟ้องไม่ได้กระทำความผิด สิทธิและเสรีภาพที่ถูกพรากไปจากการถูกจองจำระหว่างดำเนินคดีก็ไม่อาจเรียกคืนกลับมาได้ โดยเฉพาะนายพริษฐ์ ชิวารักษ์ ซึ่งเป็นนักศึกษาอยู่ การถูกจองจำจึงหมายถึงศาลได้ลิดรอนสิทธิในการศึกษาของนายพริษฐ์ไปด้วย

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

คำบรรยายภาพ,

ผศ.ดร. ประจักษ์ ก้องกีรติ ชูหนังสือที่อาจารย์และเพือนนักศึกษาของพริษฐ์ฝากไปให้เขาอ่านในเรือนจำ

3. การฟ้องร้องดำเนินคดีที่เกิดขึ้นจำนวนมากต่อผู้ชุมนุมทางการเมืองในขณะนี้มีรัฐบาลเป็นคู่ขัดแย้งโดยตรง จึงเป็นธรรมดาที่เจ้าหน้าที่รัฐจะใช้มาตรการทางกฎหมายในการดำเนินคดีกับผู้ชุมนุมอย่างเกินกว่าเหตุ ดังนั้น จึงมีความจำเป็นที่สถาบันตุลาการต้องรักษาความเป็นอิสระและสมดุลของการปกป้องหลักสิทธิเสรีภาพของประชาชนตามที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้ เพื่อเป็นที่พึ่งของประชาชน

4. การให้ประกันตัวผู้ชุมนุมในคดีทางการเมืองอย่างที่ผ่านมา ช่วยประคับประคองไม่ให้ความขัดแย้งลุกลามบานปลายได้ค่อนข้างดี ตรงกันข้าม การไม่ให้ประกันตัว มีแนวโน้มที่จะนำไปสู่ความขัดแย้งที่ขยายตัวรุนแรงยิ่งขึ้น

ผศ.ดร.ประจักษ์กล่าวเพิ่มเติมว่า อาจารย์และเพื่อน ๆ ของนายพริษฐ์ ซึ่งเป็นนักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มธ. ได้นำหนังสือและเอกสารประกอบการสอนมาฝากให้นายพริษฐ์อ่านในเรือนจำด้วย เนื่องจากเทอมนี้เขาได้ลงทะเบียนเรียนวิชาต่าง ๆ อยู่

"หวังว่าศาลจะให้ความเมตตาและความยุติธรรมกับผู้ต้องหาทั้ง 4 คนในการที่จะได้รับการประกันตัวระหว่างพิจารณาคดี โดยเฉพาะนายพริษฐ์ที่ยังเป็นนักศึกษาอยู่จะได้มาศึกษาต่อ" ผศ.ดร.ประจักษ์กล่าว

ที่มาของภาพ, Rachaphon Riansiri/BBC Thai

คำบรรยายภาพ,

พริษฐ์ หรือ "เพนกวิ้น" ขึ้นปราศรัยบนเวทีชุมนุม "19 กันยา ทวงอำนาจคืนราษฎร"

แพทยสภาเรียกร้องปกป้องบุคลากร-อาสาสมัครทางการแพทย์

การออกแถลงการณ์ของนักวิชาการ คนส. นับเป็นความเคลื่อนไหวล่าสุดในการเรียกร้องให้ผู้ชุมนุมกลุ่ม "ราษฎร" ทั้ง 4 คนได้รับการประกันตัวระหว่างพิจารณาคดี

หลังจากอัยการมีคำสั่งฟ้องจำเลยทั้ง 4 คน และศาลมีคำสั่งไม่ให้ประกันตัวระหว่างพิจารณาคดี ทำให้พริษฐ์ อานนท์ ปฏิวัฒน์ และสมยศ ถูกส่งตัวเข้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพตั้งแต่วันที่ 9 ก.พ. ได้มีความเคลื่อนไหวเรียกร้องให้ปล่อยตัวทั้ง 4 คนมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งการออกแถลงการณ์ของกลุ่มสิทธิมนุษยชนและนักกฎหมาย รวมทั้งการชุมนุมของกลุ่ม "ราษฎร" ซึ่งล่าสุดได้จัดการชุมนุม "นับ 1 ถึงล้าน คืนอำนาจให้ประชาชน" เมื่อวันที่ 13 ก.พ. ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยก่อนจะเคลื่อนขบวนไปที่ศาลหลักเมือง และเกิดเหตุวุ่นวายขึ้นเมื่อผู้ชุมนุมบางคนไม่พอใจทีแกนนำประกาศยุติการชุมนุม ทำให้มีผู้บาดเจ็บทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจและประชาชน ซึ่งหนึ่งในนั้นเป็นอาสาสมัครทีมแพทย์

วันนี้ (15 ก.พ.) แพทยสภาได้แถลงการณ์แสดงจุดยืนต่อเหตุการณ์วันที่ 13 ก.พ. โดยระบุว่า ไม่เห็นด้วยการยั่วยุและการใช้กำลังเกินกว่าความเหมาะสมของทุกฝ่าย พร้อมทั้งเรียกร้องให้ทุกฝ่ายระวังการสร้างความเสียหายและอันตรายต่อบุคลากร และอาสาสมัครทางการแพทย์ ตลอดจนอุปกรณ์ทางการแพทย์ และรถพยาบาลตามหลักกาชาดสากล

ที่มาของภาพ, Reuters

คำบรรยายภาพ,

ชายสวมเสื้อกั๊กของอาสาสมัครทีมแพทย์นอนอยู่ท่ามกลางตำรวจหลังถูกคุมตัวระหว่างเหตุวุ่นวายบน ถ.ราชดำเนินใน เมื่อวันที่ 13 ก.พ.

ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา อุปนายกแพทยสภา คนที่ 1 ชี้แจงว่า แพทยสภาเป็นองค์กรวิชาชีพ มีหน้าที่หลักคือดูแลสุขภาพของคนไทย ไม่ว่าจะมีความคิดเห็นที่แตกต่างกันอย่างไรก็ตาม

จากนั้น นพ. ประสิทธิ์ประกาศจุดยืนของแพทยสภาใน 4 ประเด็น คือ

  • ไม่เห็นด้วยกับการกระทำที่เป็นการยั่วยุ การละเมิดกฎหมาย และการใช้กำลังที่เกินความเหมาะสมของทุฝ่าย ซึ่งอาจนำไปสู่เหตุการณ์ที่รุนแรงขึ้น ส่งผลต่อสุขภาวะของผู้ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งประชาชนที่อยู่ในบริเวณ หรือสัญจรผ่านพื้นที่ใล้เคียง
  • ขอให้ทุกฝ่ายให้เกียรติและระมัดระวังที่จะไม่ทำให้เกิดอันตราย หรือความเสียหายใด ๆ ต่อบุคลากร และอาสาสมัครทางการแพทย์ ตลอดจนอุปกรณ์ทางการแพทย์ และรถพยาบาลตามหลักกาชาดสากล
  • ขอหน่วยงานที่รับผิดชอบ จัดให้มีระบบการให้การดูแลทางการแพทย์ที่เหมาะสม มีการติดสัญลักษณ์ที่ระบุว่าเป็นบุคลากรหรืออาสาสมัครทางกรแพทย์ที่ชัดเจน เพื่อให้บุคลากรเหล่านี้สามารถปฏิบัติการช่วยเหลือผู้บาดเจ็บได้อย่างปลอดภัยตามหลักสากล ไม่เลือกปฏิบัติและปฏิบัติตามจรรยาบรรณของวิชาชีพอย่างเคร่งครัด
  • ขอชื่นชมบุคลากรและอาสาสมัครทางการแพทย์ที่เสียสละและมีจิตอาสาช่วยเหลือผู้ที่ได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์ชุมนุมต่าง ๆ โดยมิได้หวังผลตอบแทน

นายกฯ ย้อนถามความรุนแรงมาจากใคร

ก่อนเป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรีที่ทำเนียบรัฐบาลวันนี้ (15 ก.พ.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ตอบคำถามสั้น ๆ เกี่ยวกับเหตุรุนแรงในการชุมนุม "นับ 1 ถึงล้าน คืนอำนาจให้ประชาชน" ของกลุ่ม "ราษฎร" เมื่อวันที่ 13 ก.พ.

ผู้สื่อข่าวถามว่าจะดำเนินการอย่างไรกับกลุ่มผู้ชุมนุมที่ปะทะกับตำรวจ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า เป็นไปตามกฎหมาย

เมื่อถามว่าการชุมนุมจะรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ หรือไม่ และนายกฯ เป็นห่วงเรื่องการชุมนุมหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ถามสื่อมวลชนกลับว่า "ไปถามว่าทำไมถึงรุนแรงขึ้น แล้วใครเป็นคนทำล่ะ" และ "คนไทย ห่วงไหมล่ะ"

นายกฯ กล่าวถึงประเด็นนี้อีกครั้งในการแถลงข่าวหลังการประชุม ครม.โดยตอบคำถามสื่อมวลชนที่ถามว่า กังวลหรือไม่ที่มีการจุดกระแสกล่าวอ้างว่าเจ้าหน้าที่ทำร้ายประชาชน จากเหตุการณ์การชุมนุมวันที่ 13 ก.พ.

พล.อ.ประยุทธ์ยืนยันว่า เจ้าหน้าที่ทำงานเต็มที่ภายใต้กฎหมาย และตักเตือนผู้ที่ก่อเหตุวุ่นวายว่าเจ้าหน้าที่มีภาพพร้อมพยานหลักฐาน

"ต้องเห็นใจเจ้าหน้าที่นะครับ ต้องทำงานด้วยความระมัดระวัง เขาก็มีชีวิตจิตใจเหมือนกัน เพราะฉะนั้นถ้าเราใช้ความรุนแรงตอบโต้กันไปกันมา มันรังแต่จะทำให้เกิดความรุนแรงต่อไป" นายกฯ กล่าว

ส่วนกรณีที่มีอาสาสมัครทีมแพทย์ได้รับบาดเจ็บระหว่างถูกเจ้าหน้าที่เข้าจับกุมนั้น นายกฯ กล่าวว่าขณะนี้อยู่ระหว่างการสืบสวนว่าบุคคลดังกล่าวเป็นเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์จริงหรือไม่ และย้ำว่าเหตุการณ์ในวันที่ 13 ก.พ. มีการทำร้ายเจ้าหน้าที่ด้วยเช่นกัน

สำหรับความคืบหน้าการจับกุมผู้ก่อเหตุวุ่นวายจำนวน 8 คนจากการชุมนุมวันที่ 13 ก.พ. วันนี้ (15 ก.พ.) ศาลได้อนุญาตให้ปล่อยตัวผู้ต้องหาทั้ง 8 คนระหว่างการสอบสวนจนถึงชั้นพิจารณา โดยมีเงินประกันในวงเงินคนละ 35,000 บาท