กะเหรี่ยงอพยพ : 62 องค์กรขอไทยช่วยเหลือผู้ลี้ภัย ขณะกองทัพขอเป็นตัวกลางมอบสิ่งของให้กะเหรี่ยง

ที่มาของภาพ, BBC Thai stringer
องค์กรภาคประชาชนไทย 62 องค์กร ออกแถลงการณ์ขอให้รัฐไทยช่วยเหลือผู้ลี้ภัยจากเมียนมา ขณะกองทัพไทยระบุส่งอาหารให้ผู้ลี้ภัยได้แต่ต้องให้ทหารเป็นผู้ประสานงาน
มูลนิธิเพื่อนไร้พรมแดน (Friends Without Borders Foundation) เผยแพร่แถลงการณ์ร่วมโดยองค์กรภาคประชาชน ผ่านเพจเฟซบุ๊ก จนถึงช่วงเช้าของ 6 เม.ย. มี 62 องค์กร และบุคคลอย่างน้อย 308 คน ร่วมลงชื่อ โดยตั้งข้อสังเกตว่า
- เป็นการละเมิดหลักมนุษยธรรมที่จะผลักดันผู้ลี้ภัยกลับประเทศขณะยังมีรายงานการโจมตีทั้งวันทั้งคืนในพื้นที่จังหวัดที่ผู้ลี้ภัยเดินทางมา
- การรับผู้ลี้ภัยไว้แต่ไม่ให้หน่วยงานที่เชี่ยวชาญด้านการดูแลผู้ลี้ภัยเข้าไปดูแลทำให้ภาระตกอยู่กับหน่วยทหารพรานซึ่งขาดกำลังคน งบประมาณ และศักยภาพ ทำให้ไม่สามารถดูแลผู้ลี้ภัยได้ตามมาตรฐานด้านมนุษยธรรมและสิทธิมนุษยชน
ที่มาของภาพ, Stringer
- การปิดกั้นความช่วยเหลือจากภาคประชาสังคมไทยโดยอ้างความมั่นคงและสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ก่อให้เกิดวิกฤตทางมนุษยธรรม
- หากสถานการณ์ในเมียนมายังไม่ดีขึ้น ผู้ลี้ภัยอาจหนีมาอยู่ในความคุ้มครองของกลุ่มชาติพันธุ์บริเวณชายแดนติดกับไทยมากขึ้น และมีแนวโน้มว่ากองทัพเมียนมาจะหันมาโจมตีกลุ่มคนเหล่านี้ และส่งผลให้อาจมีผู้ลี้ภัยเข้ามาในไทยมากขึ้นเรื่อย ๆ
- รัฐประหารเมียนมา: ชะตากรรมผู้ลี้ภัยชาวกะเหรี่ยง
- รัฐประหารเมียนมา: เคเอ็นยูเผยมีผู้พลัดถิ่นกว่า 12,000 คน ในช่วง 1 สัปดาห์หลังถูกโจมตีทางอากาศ
- รัฐประหารเมียนมา: 2 เดือนหลังทำลายประชาธิปไตย กับจุดยืนประเทศไทย
ผู้คนในรัฐกะเหรี่ยงต้องหนีตายและกลายเป็นคนพลัดถิ่นกว่า 12,000 คน ในรอบหนึ่งสัปดาห์หลังทหารเมียนมาปฏิบัติการโจมตีทางอากาศในรัฐกะเหรี่ยง โดยกองกำลังสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง หรือ เคเอ็นยู บอกว่าทหารเมียนมาได้มีการโจมตีทางอากาศอย่างต่อเนื่อง
กลุ่มองค์กรเหล่านี้จึงเรียกร้องให้รัฐบาลไทย
- ไม่ปฏิเสธการขอเข้าลี้ภัย โดยหน่วยงานความมั่นคงจะต้องเปิดให้ผู้หนีภัยสงครามและการประหัตประหาร ให้เข้าพักหลบภัยในประเทศไทยตามหลักมนุษยธรรมและสิทธิมนุษยชน ในพื้นที่พักพิงชั่วคราวที่รัฐได้จัดไว้ให้ตามที่ได้มีการแถลงข่าวแก่สื่อมวลชนไว้ก่อนหน้า
- มอบความรับผิดชอบในการจัดการดูแลให้ความคุ้มครองแก่กระทรวงมหาดไทยระดับอำเภอ และจังหวัด ซึ่งจะได้ประสานกับหน่วยงานสาธารณสุขท้องถิ่นให้มีบทบาทนำในด้านงานควบคุมโรค และองค์กรมนุษยธรรมซึ่งมีประสบการณ์และความพร้อมในด้านงบประมาณให้ดำเนินการสนับสนุน
- รัฐจะต้องไม่ปิดกั้น หากควรอำนวยความสะดวกให้แก่ภาคประชาชนไทยที่ประสงค์จะช่วยเหลือผู้ลี้ภัย ซึ่งเป็นประชาชนจากประเทศเพื่อนบ้านหรือเครือญาติของตน ทั้งนี้ การสนับสนุนความสัมพันธ์ระหว่างภาคประชาชนของทั้งสองประเทศ คือการส่งเสริมความมั่นคงของประเทศในระยะยาว
- ในกรณีที่มีการหลั่งไหลเข้ามาของกลุ่มผู้ลี้ภัยจากพื้นที่ที่เชื่อได้ว่า จะมีผู้หลบหนีการประหัตประหารจากในเมืองรวมอยู่ด้วย รัฐควรอนุญาตให้สำนักข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) สามารถเข้าถึงผู้ลี้ภัยกลุ่มดังกล่าว และสามารถใช้กลไกคณะกรรมการพิจารณาคัดกรองผู้ได้รับความคุ้มครอง ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการคัดกรองคนต่างด้าวที่เข้ามาในราชอาณาจักรและไม่สามารถเดินทางกลับประเทศอันเป็นภูมิลำเนาได้ พ.ศ. 2562 เพื่อคัดกรองผู้ที่ต้องการความคุ้มครองเป็นการเฉพาะ เนื่องจากบุคคลเหล่านี้อาจยังไม่สามารถกลับคืนถิ่นฐานพร้อมกับชาวบ้านที่อยู่ในชุมชนชายแดนได้
- การตัดสินใจที่จะอำนวยความสะดวกให้ผู้ลี้ภัยกลุ่มใดหรือบุคคลใดกลับคืนถิ่นฐาน จะต้องเป็นบทบาทร่วมของหน่วยงานที่ให้ความคุ้มครองดูแลผู้ลี้ภัย มิใช่บทบาทของฝ่ายความมั่นคงแต่เพียงฝ่ายเดียว
ทหารขอเป็นตัวกลางส่งความช่วยเหลือ
พล.ท. อภิเชษฐ์ ซื่อสัตย์ แม่ทัพภาคที่ 3 ให้สัมภาษณ์เมื่อ 5 เม.ย. ว่า อนุญาตให้ส่งอาหารให้ผู้ลี้ภัยได้ แต่ต้องผ่านทหารไปด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัย
พล.ท. อภิเชษฐ์ ระบุว่า หลังจากไม่มีเหตุการณ์รุนแรงหรือส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิต ผู้ลี้ภัยก็ได้ทยอยเดินทางกลับประเทศ โดนตอนนี้เหลือที่ อ.แม่เสรียง จ.แม่ฮ่องสอน ที่เดียวราว 100 คน หลังจากที่ช่วงแรกมีมากถึง 2,000-3,000 คน
ที่มาของภาพ, BBC Thai stringer
อย่างไรก็ดี แม่ทัพภาคที่ 3 ระบุว่า ตอนกลางคืนผู้ลี้ภัยก็จะเดินทางเข้ามาในไทยอีก เนื่องจากกลัวการโจมตีทางอากาศ เช่นเมื่อคืนวันที่ 4 เม.ย. มีผู้เดินทางกลับเข้ามาประมาณ 1,000 คน
ส่วนเรื่องของบริจาค พล.ท. อภิเชษฐ์ ระบุว่า ต้องให้ทหารเป็นผู้ประสานงานเนื่องจากเหตุผลด้านความปลอดภัยและการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยไม่สามารถปล่อยให้มีเรือวิ่งโดยเสรีได้เนื่องจากมีความขัดแย้งระหว่างทหารเมียนมากับกองกำลังสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง หรือ เคเอ็นยู อยู่
แม่ทัพภาคที่ 3 บอกอีกว่า ล่าสุดเมื่อ 10.00 น. ได้เริ่มจัดส่งของให้ผู้ลี้ภัยตามที่ผู้บริจาคประสงค์แล้ว โดยผู้บริจาคสามารถนำสิ่งของไปให้ที่ อ.สบเมย และอ.แม่สะเรียง และจากนั้นทางอำเภอก็จะลำเลียงขนส่งมาให้ อ.แม่สามแลบ และจะนำจัดส่งให้ตามความประสงค์ของผู้บริจาคต่อไป