โควิด-19: สธ. อ้าง พ.ร.ก. นิรโทษกรรมบุคลากรการแพทย์มีความจำเป็น ปัดปกป้องคนบริหารจัดการวัคซีน

ที่มาของภาพ, Reuters
กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ชี้แจงเหตุผลของการร่าง พ.ร.ก. จำกัดความรับผิดบุคลากรสาธารณสุขในการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 พ.ศ. ... ว่าเป็นไปเพื่อสร้างความมั่นใจและปกป้องบุคลากรทางการแพทย์และผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการโควิด-19 ภายใต้สถานการณ์แพร่ระบาดและทรัพยากรที่มีจำกัด ให้ปฏิบัติงานได้เต็มที่ ไม่ต้องกังวลถูกฟ้องร้อง
ทว่า ประเด็นหลักที่สังคมกำลังตั้งคำถามต่อ ร่าง พ.ร.ก. จำกัดความรับผิดฯ ที่ สธ. กำลังดำเนินการจัดทำและยกร่างอยู่ในขณะนี้คือ มีจุดมุ่งหมายเพื่อ "นิรโทษกรรม" ผู้ที่เกี่ยวข้องในการจัดหาหรือบริหารวัคซีนโควิด-19 ซึ่งเห็นได้ชัดว่ามีจำนวนไม่เพียงพอและจัดหาได้ล่าช้า ไม่ทันต่อสถานการณ์และยังไม่เป็นไปตามเป้าหมาย
เสียงวิจารณ์นี้เกิดขึ้นภายหลังนายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส. พรรคก้าวไกล โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 6 ส.ค. ที่ผ่านมา ตั้งคำถามว่า "ควรแล้วหรือ ที่จะออกกฎหมายนิรโทษกรรมแบบกึ่งเหมาเข่ง ให้กับคณะบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการจัดหาและบริหารวัคซีน" โดยในโพสต์ดังกล่าวได้แนบเอกสารที่ปรากฏชื่อของ นพ. ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพเป็นผู้จัดทำ
- สสจ. นครสวรรค์ยอมรับว่าทำ "ป้ายอนุทินมอบไฟเซอร์" จริง แต่ไม่ได้ใช้งาน
- เปิดสถิติผู้ป่วยโควิด 13 จ. แดงเข้ม หลัง ศบค. ชี้ล็อกดาวน์-เคอร์ฟิว "ไม่ได้ผล"
- เคาะเกณฑ์ใหม่บุคลากรการแพทย์ ให้รับได้ทั้ง 2 เข็ม และเป็นเข็มที่ 2
- ภูมิใจไทยปัดข่าวลือยุบศูนย์ฉีดวัคซีนบางซื่อ กับข่าวจริงฉีดวัคซีนเข็ม 3 ให้ตำรวจบุรีรัมย์
เอกสารดังกล่าวเป็นสไลด์ 8 แผ่น สรุปสาระสำคัญของร่าง พ.ร.ก. จำกัดความรับผิดของบุคลากรสาธารณสุขในการรักษาพยาบาลผู้ป่วยโรคโควิด-19 โดยระบุว่าที่ประชุมศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุขกรณีโรคโควิด-19 ของ สธ. มีมติเมื่อวันที่ 26 ก.ค. ให้กรมสนับสนุนบริการสุขภาพปรับปรุงกฎหมายเพิ่มเติมในประเด็นการคุ้มครองบุคลากรการแพทย์สำหรับปฏิบัติงานตามข้อสั่งการในสถานการณ์ฉุกเฉิน
เอกสารที่นายวิโรจน์นำมาเผยแพร่ยังระบุเงื่อนไขการได้รับความคุ้มครอง "กรณีจัดหาและบริหารวัคซีน" ดังนี้
- เป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามที่ได้รับการแต่งตั้งหรือมอบหมายจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
- ไม่ได้กระทําด้วยความจงใจให้เกิดความเสียหาย เว้นแต่กรณีจําเป็นเพื่อประโยชน์ของทางราชการ
- ไม่ได้กระทําด้วยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง
ในการแถลงข่าววันนี้ (9 ส.ค.) นพ. ธเรศไม่ได้กล่าวถึงเอกสารที่ ส.ส. ก้าวไกลนำมาเปิดเผย แต่ยอมรับว่า สธ. ได้ตั้งคณะกรรมการยกร่างกฎหมายดังกล่าว โดยมอบหมายให้กรมสนับสนุนบริการสุขภาพเป็นหน่วยงานหลัก และมีภาคส่วนต่าง ๆ เช่น ภาควิชาชีพ ภาคกฎหมายมาช่วยกันพิจารณากลไกคุ้มครองผู้ทำงานในช่วงภัยพิบัติโรคระบาดให้ทำหน้าที่ได้เต็มความสามารถโดยไม่ต้องกังวลว่าจะถูกฟ้องร้อง
ที่มาของภาพ, FACEBOOK/กระทรวงสาธารณสุข
"การที่มีภูมิต้านทานสำคัญในการที่จะถูกฟ้องร้อง จะทำให้บุคลากรทางแพทย์มีขวัญกำลังใจในการทำงาน รวมทั้งมีข้อเสนอจากองค์กรวิชาชีพจากสภาวิชาชีพต่าง ๆ และโรงพยาบาลเอกชนได้เสนอให้มีกฎหมายในลักษณะนี้ขึ้น" นพ. ธเรศ กล่าว
อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพอธิบายเพิ่มเติมถึงที่มาของการร่างกฎหมายฉบับนี้ว่า โรคโควิด-19 เป็นโรคติดเชื้ออันตรายใหม่และได้รับการประกาศให้อยู่ในภาวะฉุกเฉิน ประกอบกับการมีข้อจำกัดหลายประการไม่ว่าจะเป็นแนวทางการรักษา เรื่องยารักษาโรค และจำนวนการติดเชื้อที่มากขึ้นจากระบาดหลายครั้งที่ผ่านมา รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์ วัสดุอุปกรณ์และเตียงรักษาผู้ป่วยที่มีจำกัดและไม่เพียงพอ จนต้องไปเปิดโรงพยาบาลสนามและฮอสปิเทล
"ดังนั้น การที่มีภูมิต้านทานสำคัญจากการถูกฟ้องร้อง จะทำให้บุคลากรทางแพทย์มีขวัญกำลังใจในการทำงาน รวมทั้งมีข้อเสนอจากองค์กรวิชาชีพจากสภาวิชาชีพต่าง ๆ และโรงพยาบาลเอกชนได้เสนอให้มีกฎหมายในลักษณะนี้ขึ้น" นพ. ธเรศกล่าว
ร่าง พ.ร.ก. จำกัดความรับผิดฯ คุ้มครองใครบ้าง
นพ. ธเรศเปิดเผยสาระสำคัญของร่าง พ.ร.ก. ฉบับนี้ว่า ผู้ที่จะได้รับความคุ้มครองโดยไม่ต้องรับผิดตามกฎหมาย ซึ่งครอบคลุมความผิดทางแพ่ง ทางอาญา ความรับผิดชอบทางวินัย และความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ ประกอบด้วย
1. บุคลากรทางด้านสาธารณสุข ทั้งผู้ประกอบวิชาชีพ ผู้ประกอบโรคศิลปะในแขนงต่าง ๆ
2. อาสาสมัครสาธารณสุข และอาสาสมัครต่าง ๆ
3. บุคคลหรือคณะบุคคลที่มีส่วนในการจัดหาวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ รวมไปถึงยารักษาโรคและวัคซีน
ที่มาของภาพ, EPA
ทั้งนี้ กฎหมายนี้คาดว่าจะครอบคลุมไปถึงสถานพยาบาลของทั้งรัฐและเอกชน รวมทั้งการปฏิบัติการนอกสถานที่ เช่น โรงพยาบาลสนาม การเดินทางไปรับส่งผู้ป่วย และการดูแลผู้ป่วยในพื้นที่เฉพาะ
"ทั้งหมดนี้จะต้องอยู่ภายใต้กรอบใหญ่คือ การกระทำต้องเป็นไปโดยสุจริต ไม่ประมาทเลินเล่อร้ายแรง" นพ. ธเรศกล่าว
อนุทินป้องร่าง พ.ร.ก. อ้างเพื่อสร้างขวัญกำลังใจให้กับบุคลากรทางแพทย์
ที่มาของภาพ, Thai News Pix
ด้านนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้ออกแถลงการณ์ต่อกรณีการยกร่าง พ.ร.ก. จำกัดความรับผิดฯ ว่า กฎหมายฉบับนี้เป็นการสร้างขวัญกำลังใจให้ผู้ปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับโรคโควิด-19 และร่างกฎหมายดังกล่าวอยู่ในขั้นตอนที่เตรียมรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องต่าง ๆ ยังไม่ได้มีการเสนอต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
"เราต้องการให้แพทย์ พยาบาล มีขวัญกำลังใจเต็มที่จะได้ทุ่มเทในการรักษาพยาบาล วัคซีนก็ต้องจัดหาเข็มสาม เพื่อความปลอดภัยในการไปรักษาคนไข้ มีความกังวลให้น้อยที่สุด สุดท้ายประชาชน คนไข้ก็ได้ประโยชน์" นายอนุทินกล่าว