ชนาธิป จักรวาฬ จากเด็กติดเกมและถูกบูลลี่ สู่การเป็นนักบาสเกตบอลอาชีพ

  • วสวัตติ์ ลุขะรัง
  • ผู้สื่อข่าววิดีโอ
ชนาธิป จักรวาฬ โอม บาสเกตบอล ไฮเทค

ที่มาของภาพ, Wasawat lukharang/bbc thai

ชื่อของ "โอม" ชนาธิป จักรวาฬ เซ็นเตอร์วัย 24 ปี กำลังจะถูกบันทึกไว้ในหน้าประวัติศาสตร์ของวงการบาสเกตบอลไทย เมื่อเขากำลังจะย้ายไปเล่นในรูปแบบยืมตัวทีม "นิว ไทเป ซีทีบีซี ดีอีเอ" สโมสรบาสเกตบอลอาชีพในลีกไต้หวัน ทำให้เขาเป็นนักบาสไทยคนแรกที่ได้ไปเล่นในลีกต่างประเทศอย่างเป็นทางการ

แต่กว่าจะก้าวมาถึงวันนี้ได้ ใครเลยจะรู้ว่านักกีฬารูปร่างสูงใหญ่คนนี้เคยเป็นเด็กมีปัญหาติดเกมอย่างหนัก จนถึงขั้นไม่ยอมกลับบ้าน อีกทั้งส่วนสูงที่มากกว่าเพื่อนรุ่นเดียวกันยังทำให้เขาตกเป็นเหยื่อของการถูกล้อหรือบูลลี่

ทว่าเขาเปลี่ยนตัวเอง ก้าวข้ามอุปสรรคและมุ่งมั่นต่อสู้เพื่อความฝันใหม่ หลังได้พบเจอกับบาสเกตบอล

เด็กติดเกม ถูกเพื่อนล้อ

ติดเกมและการถูกเพื่อนล้อ เป็นสองความทรงจำวัยเยาว์ที่ชนาธิปเล่าให้บีบีซีไทยฟัง

เขาเกิดและเติบโตที่ลำปาง คุณพ่อรับราชการตำรวจ แม่เป็นผู้ช่วยพยาบาลซึ่งเลี้ยงดูเขามาเพียงลำพังตั้งแต่พ่อเสียชีวิตไปเมื่อชนาธิปอายุได้เพียง 4 ขวบ

ในวัยเด็กเขาก็เหมือนกับเด็กผู้ชายทั่วไปที่ชอบเล่นฟุตบอล เล่นดนตรี โดยมีความใฝ่ฝันแรกคือการรับราชการตำรวจอย่างพ่อ พอย่างเข้า 10 ขวบ เขาเริ่มรู้จักกับเกมออนไลน์ และเริ่มที่จะแวะไปเล่นเกมเป็นประจำที่ร้านแถวบ้าน จนเรียกได้ว่าเป็นเด็กติดเกม เล่นไม่ยอมกลับบ้าน จนถูกแม่และยายบ่นอยู่เป็นประจำ

"บางครั้งก็อยู่ร้านเกมทั้งวันทั้งคืนเลย" ชนาธิปเล่า "เคยไปรับจ็อบเป็นเด็กเสิร์ฟที่ร้านอาหาร ได้เงินมาก็ไปเล่นเกมหมด"

ที่มาของภาพ, ชนาธิป จักรวาฬ

คำบรรยายภาพ,

ชนาธิป (คนขวาสุด) เมื่อครั้งเป็นนักดนตรีในวงโยธวาทิต

นอกเหนือจากการเล่นเกมแล้ว อีกหนึ่งสิ่งที่เขาหลงใหลในช่วงวัยเยาว์คือการเล่นดนตรี เขาเป็นหนึ่งในสมาชิกวงโยธวาทิตของโรงเรียน ทำให้กิจวัตรประจำวันของเขาในช่วงนั้นคือการซ้อมดนตรีในช่วงเช้า และเล่นเกมที่ร้านหลังเลิกเรียน

แต่หลังจากได้รู้จักกับกีฬาบาสเกตบอล เขาก็เริ่มเล่นเกมน้อยลง

ขณะที่เรื่องของส่วนสูงที่กลายมาเป็นจุดเด่นของเขาในฐานะนักกีฬาบาสเกตบอล ชนาธิปบอกว่าก่อนหน้านี้มันเคยเป็นปมที่ทำให้เขาถูกเพื่อนล้อมานานหลายปี

ชนาธิปซึ่งสูงถึง 203 ซม. ในปัจจุบัน บอกว่าตั้งแต่จำความได้เขาก็เป็นคนที่สูงสุดในชั้นเรียนมาตลอดตั้งแต่อนุบาล

"ก็โดนล้อมาตั้งแต่เด็ก เพราะว่าสูงมาตั้งแต่เด็กอยู่แล้ว"

หนึ่งในฉายาวัยเด็กที่เพื่อนเรียกคือ "ไอ้เปรต"

ในช่วงแรกเขาก็รู้สึกไม่ชอบใจที่โดนเพื่อนหรือคนอื่นพูดล้อเลียนเรื่องความสูงของเขา แต่ถึงจุดหนึ่งเขาก็เลือกที่จะไม่ใส่ใจกับคำพูดของคนอื่น

เพื่อนช่วนเล่นบาสเกตบอล

ชนาธิปเริ่มเล่นกีฬาบาสเกตบอลครั้งแรกตอนอยู่ชั้น ม.3 จากการชักชวนของเพื่อนที่เห็นว่าเขามีความสูงเป็นข้อได้เปรียบ แต่ช่วงแรกเขาปฏิเสธคำชวนของเพื่อนเพราะคิดว่าตัวเองเล่นไม่เป็น กลัวโดนเพื่อนว่า แต่เมื่อเพื่อน ๆ เกือบทุกคนในห้องหันไปเล่นบาสกันเกือบหมด ชนาธิปจึงตามไปเล่นด้วยในที่สุด

ที่มาของภาพ, ชนาธิป จักรวาฬ

คำบรรยายภาพ,

บาสเกตบอลกลายเป็นความฝันใหม่ของเขา

ในช่วงแรกของการเริ่มเล่นบาส เขาบอกว่าเป็นการเล่นกับเพื่อนสนุก ๆ ตามประสาเด็ก ไม่ได้จริงจัง บางทีก็แข่งกันหลับตาหรือหันหลังชู้ต จนกระทั่งวันหนึ่งโค้ชบาสเกตบอลของทีมโรงเรียนประชาวิทย์มาเห็นเข้า และประทับใจในความสูงของเขา จึงชักชวนให้เขามาร่วมฝึกซ้อมบาสด้วย ซึ่งเขาก็ตอบตกลงอย่างไม่ลังเล

"ก็ตื่นเต้น จะได้ฝึกซ้อม จะได้มีคนสอนแบบจริงจัง"

เขาเล่าว่าการฝึกซ้อมบาสเป็นอะไรที่แปลกใหม่สำหรับเขาในช่วงนั้น เพราะแต่ก่อนเขาคลุกคลีอยู่แต่กับดนตรีและเกม ไม่นานเขาก็ตกหลุมรักในกีฬาชนิดนี้ถึงขนาดไม่เคยขาดซ้อมและอยู่ซ้อมจนจบไม่ว่าจะเลิกดึกแค่ไหน

"ตั้งแต่รู้จักบาส เช้ามาก็ไปเล่นที่สนามบาส พักกินข้าวกลางวันก็ไปเล่นบาส ตอนเย็นก็เล่นบาส"

เส้นทางสู่นักบาสอาชีพ

หลังจากได้เข้าร่วมทีมโรงเรียนประชาวิทย์ ชนาธิปได้มีโอกาสเดินสายไปแข่งบาสตามที่ต่าง ๆ จนในที่สุดฝีมือและความสูงของเขาก็เป็นที่ประจักษ์ จนได้รับการทาบทามจากโรงเรียนอัสสัมชัญธนบุรีในกรุงเทพฯ ให้เข้าร่วมทีมและย้ายมาเข้าเรียนในโควตานักกีฬา

เขาปฏิเสธไปในคราวแรกเพราะอยากอยู่กับแม่ที่ลำปางและกลัวการต้องไปอยู่ต่างถิ่นคนเดียว แต่เมื่อเวลาผ่านไปเขากลับมาคิดใหม่ว่า การไปเรียนในโควตานักกีฬาจะช่วยแบ่งเบาภาระของแม่เรื่องค่าเล่าเรียนของเขาได้ เพระตอนนั้นแม่ต้องส่งพี่สาวเรียนมหาวิทยาลัยด้วย สุดท้ายแล้วเขาจึงตอบตกลงโดยมีข้อแม้ว่าจะขอพาเพื่อนไปด้วย 1 คน และจะไปลองเข้าแคมป์กับทีมโรงเรียนอัชสัมชัญธนบุรีก่อน 7 วัน

ช่วงเวลา 7 วันของการลองมาอยู่แคมป์ที่อัสสัมชัญธนบุรี ทำให้เขาพบเจอกับเพื่อนใหม่ที่หลงใหลในสิ่งเดียวกัน เขาเริ่มที่จะสนุกและเลิกกลัวที่จะต้องจากบ้านมา จึงตัดสินใจย้ายโรงเรียนมาที่นี่และเป็นนักกีฬาทีมบาสของอัสสัมชัญธนบุรี

ที่มาของภาพ, ชนาธิป จักรวาฬ

คำบรรยายภาพ,

ด้วยความมุ่งมั่นและรูปร่างที่สูงใหญ่ ทำให้เขากลายเป็นนักบาสที่น่าจับตามองตั้งแต่เริ่มแรก

การมาอยู่กับโรงเรียนอัสสัมชัญธนบุรีเหมือนเป็นก้าวแรกสู่ความฝันการเป็นนักบาสอาชีพของชนาธิป เพราะโรงเรียนแห่งนี้เป็นเหมือนอะคาเดมีของสโมสรไฮเทค ซึ่งเป็นสโมสรบาสเกตบอลอาชีพชั้นนำของประเทศ

หลังจากอยู่กับโรงเรียนอัสสัมชัญธนบุรีมาได้สักระยะ เขาเริ่มตั้งคำถามกับตัวเองว่าจะไหวหรือเปล่า เพราะต้องเจอกับการฝึกซ้อมหนักทุกวัน

"ซ้อมหนักมาก ไม่เคยเจออะไรแบบนี้มาก่อนเลย ซ้อมเช้า ซ้อมเย็น วันจันทร์ถึงศุกร์ บางครั้งวันเสาร์ก็ซ้อม ไม่ได้พัก"

"มีโทรไปหาแม่ บอกแม่ว่าซ้อมหนักมากเลย แม่ก็บอกว่าสู้ ๆ"

ด้วยกำลังใจจากแม่และความมุ่งมั่นอดทน สุดท้ายแล้วเขาก็ทำตามเป้าหมายที่วางไว้ได้สำเร็จ เมื่อได้รับมอบสัญญาอาชีพฉบับบแรกจากสโมสรไฮเทคในวัย 18 ปี

นักบาสไทยคนแรกในต่างแดน

หลังจากได้เซ็นสัญญาอาชีพฉบับแรก ชนาธิปก็พัฒนาทักษะและทำผลงานได้ดีจนกลายมาเป็นหนึ่งในนักบาสเกตบอลที่น่าจับตามองทั้งในประเทศและในระดับอาเซียน

เขาผ่านการคว้าแชมป์หลายรายการร่วมกับสโมสรไฮเทค ร่วมถึงสร้างสถิติเป็นผู้เล่นที่อายุน้อยที่สุดของสโมสรที่ได้ลงเล่นในรายการอาเซียน บาสเกตบอล ลีก หรือเอบีแอลในปี 2015 ด้วยวัย 18 ปี

ในนามทีมชาติ ชนาธิปอยู่ในชุดที่พาทีมคว้าเหรียญทองแดงและเหรียญเงินในซีเกมส์ 2 ครั้งหลังสุด

ที่มาของภาพ, Hitech basketball

คำบรรยายภาพ,

เขาประสบความสำเร็จมากมายทั้งในสโมสรและทีมชาติ

ขณะเดียวกันเขาก็กำลังจะบันทึกอีกหนึ่งประวัติศาสตร์ให้กับวงการบาสเกตบอลไทย ด้วยการเป็นนักบาสเกตบอลไทยคนแรกที่ได้ย้ายไปเล่นลีกอาชีพในต่างประเทศ หลังเซ็นสัญญาร่วมทีมนิว ไทเป ซีทีบีซี ดีอีเอ ในลีกไต้หวัน พร้อมรับค่าตอบแทนสูงถึงเดือนละ 10,000 ดอลลาร์สหรัฐ

เมื่อถามว่าอะไรคือสิ่งที่ทำให้เขาก้าวมาสู่จุดนี้ได้ เขาตอบว่าต้องเริ่มจากการตั้งเป้าหมาย และพยายามมุ่งมั่นฝึกซ้อม เพื่อไปให้ถึงเป้าหมายนั้น

"คนเราควรจะมีเป้าหมายเป็นของตัวเอง ถ้าเราทำอะไรแบบไม่มีเป้าหมาย เราก็จะไม่ประสบความสำเร็จ"

ชนาธิปมุ่งมั่นที่จะพิสูจน์ฝีมือกับสโมสรใหม่ และพัฒนาฝีมือเพื่อที่ก้าวไปเล่นในลีกชั้นนำอื่น ๆ ในเอเชียทั้งฟิลิปปินส์และญี่ปุ่น หนึ่งในความฝันของเขาก็คือพาทีมชาติไทยเอาชนะทีมชาติฟิลิปปินส์ให้ได้สักครั้ง

คำบรรยายวิดีโอ,

คนเราควรจะมีเป้าหมายเป็นของตัวเอง ถ้าเราทำอะไรแบบไม่มีเป้าหมาย เราก็จะไม่ประสบความสำเร็จ

อนาคตบาสเกตบอลอาชีพในไทย

ถาวร แสงจรูณ เลขาธิการสมาคมกีฬาบาสเกตบอลอาชีพไทยเชื่อว่าในอนาคตบาสสามารถก้าวขึ้นมาเป็นกีฬาอาชีพได้อย่างเต็มรูปแบบ หากได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐมากกว่านี้ เพื่อเป็นเงินอุดหนุนให้กับทีมที่เข้าร่วมการแข่งขัน และเพิ่มแรงจูงใจให้กับนายทุน

"อนาคตจะไปได้ดีแน่ แต่ทางภาครัฐควรเพิ่มงบให้กับทางเรามากกว่าที่เป็นอยู่"

"เราอยากให้บาสลีกเป็นอะไรที่ยั่งยืน นักกีฬาบาสอาชีพสามารถเลี้ยงตัวเองได้"

ขณะที่ปีหน้าทางสมาคมมีแผนที่จะกลับมาจัดแข่งแบบเหย้าเยือนอีกครั้ง เพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจให้กับชุมชนโดยรอบที่มีการจัดการแข่งขัน และเพื่อเพิ่มฐานแฟนคลับของกีฬาบาสอาชีพ นอกจากนั้นก็ยังมีแผนเพิ่มการแข่งขันขึ้นมาอีกหนึ่งลีก เป็นลีกรอง เพื่อรองรับจำนวนทีมบาสอาชีพในประเทศที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น

ที่มาของภาพ, Wasawat lukharang/bbc thai

คำบรรยายภาพ,

บาสลีกไทยจะไปได้ไกลขนาดไหน ยังคงเป็นคำถาม

การแข่งขันรายการไทยแลนด์ บาสเกตบอล ลีก ที่จัดโดยสมาคมกีฬาบาสเกตบอลอาชีพไทยหรือทีบีเอ เริ่มจัดการแข่งขันครั้งแรกในปี 2555 โดยแต่ละปีจะได้รับเงินสนับสนุนจากกองทุนพัฒนากีฬาแห่งชาติมาใช้ในการจัดการแข่ง

สำหรับการแข่งขันในปีนี้ชิงเงินรางวัลรวมมูลค่า 1.2 ล้านบาท มีทีมเข้าร่วมจำนวน 10 ทีม มีนักบาสอาชีพทั้งไทยและต่างชาติขึ้นทะเบียนอยู่ประมาณ 200 คน โดยตั้งแต่ปีนี้ไปจนถึงปี 2566 แต่ละทีมจะขึ้นทะเบียนผู้เล่นชาวไทยได้ไม่เกิน 18 คน ต่างชาติ 2 คน และส่งรายชื่อผู้เล่นลงแข่งขันในแต่ละฤดูกาลได้ 15 คน

การแข่งขันปีนี้ จะยังคงเป็นการแข่งขันแบบปิด ไม่เปิดให้คนเข้าไปดูภายในสนาม เนื่องจากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 แต่จะมีการถ่ายทอดสดให้ชมกันทุกคู่ในวันที่มีการแข่งขัน ผู้สนใจสามารถรับชมเกมได้ทางเฟซบุ๊ก Thailand Basketball League และช่องยูทิวบ์ TBA BROADCAST

ส่วนเรื่องผลตอบแทนของนักบาสอาชีพในปัจจุบันแต่ละคนจะได้ค่าตอบแทนแตกต่างกันไปตามความสามารถเฉลี่ยตั้งแต่ระดับ 20,000-60,000 บาทต่อเดือนสำหรับนักบาสไทย ไม่รวมเบี้ยเลี้ยง นักบาสต่างชาติจะใช้กฎการดราฟท์ (ทีมที่มีอันดับต่ำจะมีโอกาสได้เลือกนักกีฬาก่อน) และจะถูกจำกัดเพดานค่าเหนื่อยสูงสุดไม่เกิน 2,500 ดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน เพื่อให้ทีมเล็กที่มีเงินทุนน้อยไม่เสียเปรียบสโมสรใหญ่

ทำให้ในหนึ่งฤดูกาลแต่ละสโมสรอาจมีค่าใช้จ่ายการทำทีมแต่ต่างกันไปตั้งแต่หลักล้านบาทไปจนถึง 15 ล้านบาท