จะนะ: ประมวลเหตุการณ์หลังสลายการชุมนุมเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นที่ทำเนียบรัฐบาล

ที่มาของภาพ, Thai News Pix
เจ้าหน้าที่ตำรวจพูดคุยกับชาวบ้านเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นที่มาชุมนุมที่ทำเนียบรัฐบาลช่วงเย็นวันที่ 6 ธ.ค. ก่อนจะเข้าสลายการชุมนุมในคืนวันเดียวกัน
การสลายการชุมนุมของชาวบ้านเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นกลางดึกวานนี้ (6 ธ.ค.) เป็นเหตุให้ทั้งรัฐบาลและตำรวจต้องออกมาชี้แจงหลังจากถูกตั้งคำถามอย่างหนักทั้งจากประชาชน ฝ่ายค้านและสื่อมวลชนถึงปฏิบัติการที่นำไปสู่การจับกุมชาวบ้านเกือบ 40 คน เกือบทั้งหมดเป็นผู้หญิงและมีผู้สูงอายุรวมอยู่ด้วย ขณะที่ตำรวจอ้างการข่าวว่ามีกลุ่มบุคคลที่อาจก่อความไม่สงบเข้าร่วมชุมนุมด้วย จึงต้องเข้าจับกุม
ชาวบ้านเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นเดินทางจาก จ.สงขลา มาชุมนุมที่ทำเนียบรัฐบาลเมื่อเวลาประมาณ 15.00 น. วานนี้เพื่อคัดค้านจัดตั้งเมืองอุตสาหกรรมในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจอำเภอจะนะ จ.สงขลา และเรียกร้องให้รัฐบาลตรวจสอบการดำเนินงานของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ดูแลโครงการนี้ แต่เพียงไม่กี่ชั่วโมงหลังจากปักหลักชุมนุม ตำรวจก็เข้าสลายการชุมนุมเมื่อเวลาประมาณ 21.30 น.
การชุมนุมในครั้งนี้ตรงกับช่วงเวลาครบรอบ 1 ปี การชุมนุมที่ทำเนียบรัฐบาลเมื่อวันที่ 10 ธ.ค. 2563 และยังเป็นการคัดค้านการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเพื่อประกอบการทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการท่าเทียบเรือน้ำลึก โครงการโรงไฟฟ้า และโครงการสวนอุตสาหกรรมของ บริษัท ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นการดำเนินการภายใต้แผนการจัดตั้งเมืองอุตสาหกรรมในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจอำเภอจะนะ โดยเวทีดังกล่าวมีกำหนดจัดขึ้นในวันที่ 13 ธ.ค. นี้
ภาพและคลิปวิดีโอที่มีผู้นำมาเผยแพร่ในโซเชียลมีเดียหลังเหตุสลายการชุมนุมปรากฏภาพตำรวจชุดควบคุมฝูงชนเข้าจับกุมชาวบ้าน บางคนถูกหิ้วขาขึ้นรถขนผู้ต้องหา มีการตรวจค้นกระเป๋าเสื้อผ้า กล่องบรรจุเสบียงอาหารและเข้ารื้อเต็นท์ของผู้ชุมนุม
นอกจากนี้ยังมีสื่อมวลชนรายงานว่าตำรวจใช้วิธีการสาดไฟเข้าใส่ผู้สื่อข่าวและช่างภาพทำให้ไม่สามารถบันทึกภาพหรือรายงานปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ได้
ปฏิบัติการสลายการชุมนุมครั้งนี้ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง ขณะที่ผู้ชุมนุมที่ถูกจับกุมจำนวน 37 คน ถูกนำตัวไปยังกองบัญชาการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด และถูกควบคุมตัวที่นั่นจนกระทั่งได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวเมื่อเวลาประมาณ 14.00 น. วันนี้ (7 ธ.ค.) โดยไม่ต้องวางหลักทรัพย์และกำหนดเงื่อนไขห้ามจัดกิจกรรมอีก ทั้งหมดถูกตั้งข้อหาฝ่าฝืนพระราชกำหนดการบริหาราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน (พ.ร.ก. ฉุกเฉิน) กีดขวางการจราจรและแขวนป้ายกีดขวาง โดยไม่ได้รับอนุญาต และไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเจ้าพนักงาน
ตลอดทั้งวันนี้ (7 ธ.ค.) มีความเคลื่อนไหวจากหลายฝ่ายต่อปฏิบัติการดังกล่าว บีบีซีไทยสรุปไว้ดังนี้
"ลูกสาวจะนะ" แถลงทั้งน้ำตา "ขอใช้ชีวิตเป็นเดิมพัน"
น.ส.ไครียะห์ ระหมันยะ แกนนำเยาวชนเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น แถลงข่าวที่ทำเนียบรัฐบาล กรณีตำรวจควบคุมฝูงชนเข้าสลายการชุมนุมของเครือข่ายฯ ที่ทำเนียบรัฐบาลว่า ชาวบ้านเดินทางมาเพื่อปกป้องบ้านและทรัพยากรที่หล่อเลี้ยงชีวิต โดยต้องการสื่อสารกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีโดยตรงว่าให้รัฐบาลหยุดคุกคามผืนดินจะนะด้วยการสร้างนิคมอุตสาหกรรม แต่กลับถูกสลายการชุมนุม
"เหตุการณ์ในครั้งนี้เป็นบทเรียนสำคัญว่า แผ่นดินของประเทศนี้จะรอด เป็นหน้าที่ของประชาชนที่ปกป้อง รัฐไว้วางใจไม่ได้ คนจะนะมาทำหน้าที่ปกป้องแผ่นดิน แต่คนที่ถืออำนาจรัฐทำหน้าที่ปกป้องกลุ่มทุน..." เธอกล่าวด้วยเสียงสั่นเครือ
ที่มาของภาพ, Thai News PIx
น.ส.ไครียะห์ ระหมันยะ แกนนำเยาวชนเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น
น.ส.ไครียะห์วัย 17 ปี เป็นลูกสาวชาวประมงและมีบ้านอยู่ติดทะเลใน อ.จะนะ ไม่เห็นด้วยกับการสร้างนิคมอุตสาหกรรมและได้ออกมาเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง ทั้งการนั่งประท้วงที่ศาลากลางจังหวัดสงขลา การเขียน "จดหมายน้อยถึงปู่ประยุทธ์" ยื่นหนังสือร้องเรียนต่อรัฐสภา และล่าสุดคือการเดินทางมาชุมนุมทวงสัญญาจากรัฐบาลในครั้งนี้
"หากไม่ได้รับคำตอบเรื่องการยุตินิคมอุตสาหรรมจะนะ เราจะไม่ไปไหน ไม่ว่าเราจะถูกทุบ ถูกทำลายจากลุ่มอำนาจสักกี่ครั้งก็ตาม ถูกจับอีกกี่รอบ เราจะกลับมายังทำเนียบรัฐบาลเหมือนเดิม เราขอยืนยันว่า ครั้งนี้จะใช้ชีวิตเป็นเดิมพัน" น.ส.ไครียะห์หรือที่รู้จักในนาม "ลูกสาวแห่งทะเลจะนะ" กล่าว
เธอให้ข้อมูลเกี่ยวกับชาวบ้านที่ถูกจับกุมไปด้วยว่า ได้มีเจ้าหน้าที่มาเจรจาให้ยุติการเคลื่อนไหวเพื่อแลกกับการไม่ถูกดำเนินคดี แต่ทุกคนพร้อมจะสู้คดีและต่อสู้เพื่อปกป้องจะนะจากนิคมอุตสาหกรรมต่อไป
น.ส.ไครียะห์ยังได้เชิญชวนให้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการของรัฐ ทั้งในภาคใต้และภาคอื่น ๆ ให้ออกมาร่วมเคลื่อนไหวเพื่อแสดงตัวในฐานะผู้ปกป้องแผ่นดิน เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นกับชาวจะนะ "เป็นสัญญาณที่ชัดเจนว่า รัฐบาลเลือกที่จะปกป้องกลุ่มผลประโยชน์แทนประชาชนเจ้าของแผ่นดินขอทุกท่านจงร่วมกันทั้งที่จะขึ้นมายังทำเนียบรัฐบาลและการปฏิบัติการในพื้นที่ โดยในฐานะตัวแทนพี่น้องจะนะ ขอขอบคุณทุกท่านไว้ ณ ที่นี้ที่ช่วยกันปกป้องแผ่นดินของ
โฆษกรัฐบาลปัดนายกฯ สั่งสลายการชุมนุม
ที่รัฐสภา นายสุทิน คลังแสง ประธานวิปฝ่ายค้านให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวว่าเขาเชื่อว่าปฏิบัติการของตำรวจเป็นคำสั่งจากรัฐบาล พร้อมกับเรียกร้องให้รัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี รับฟังข้อเรียกร้องของประชาชนและเคารพสิทธิในการแสดงความคิดเห็นของประชาชน
นายสุทินกล่าวว่า การชุมนุมของกลุ่มจะนะรักษ์ถิ่นเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน ไม่มีอาวุธและไม่ได้ขัดขวางความสงบสุขของสังคม พร้อมกับเตือนว่าการสลายการชุมนุมจะทำให้สถานการณ์ความขัดแย้งในกรณีนี้บานปลาย
เขาเปิดเผยว่าภายในสัปดาห์นี้ฝ่ายค้านจะยื่นกระทู้ถามสุดในประเด็นนี้
การกล่าวหาว่ารัฐบาลเป็นผู้สั่งการสลายการชุมนุม ทำให้นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ออกมาตอบโต้ทันที
ที่มาของภาพ, Thai News Pix
ตำรวจรื้อเต็นท์ของชาวบ้าน
นายธนกรยืนยันว่า พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ได้สั่งการใด ๆ เจ้าหน้าที่ปฏิบัติหน้าที่ตามความรับผิดชอบและตามกฎหมาย
เขาบอกว่า รัฐบาลพร้อมรับฟังข้อเรียกร้องของประชาชนเสมอ แต่ต้องอยู่ในกรอบของกฎหมายด้วย ไม่ใช่มารวมตัวกันตั้งเต็นท์ กางผ้าใบ ทำเป็นหมู่บ้านลูกทะเล จะนะรักษ์ถิ่น ปักหลักค้างคืน ซึ่งไม่ถูกต้อง เพราะขณะนี้รัฐบาลยังคงต้องเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างเข้มงวดอยู่ ซึ่งอาจจะกลายเป็นคลัสเตอร์ใหม่ขึ้นมาได้
นายธนกรกล่าวอีกว่า สำหรับการเข้าจับกุมนั้น ได้รับรายงานว่าตำรวจหญิงหรือ "กองร้อยน้ำหวาน" เป็นผู้เข้าจับกุม เพราะทราบดีว่ามีผู้หญิงรวมอยู่ด้วย ซึ่งแสดงให้เห็นเจตนาว่ารัฐบาลไม่ได้ต้องการใช้ความรุนแรงใด ๆ เลย แต่จำเป็นต้องปฏิบัติหน้าที่ เพราะผู้ชุมนุมฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน
ชาวจะนะ ประยุทธ์ และธรรมนัส
การสลายการชุมนุมของชาวบ้านจะนะ กลายมาเป็นประเด็นที่ พล.อ.ประยุทธ์ หยิบมาเตือน "ใครก็ตาม" ที่ไปเจรจากับประชาชนที่มาชุมนุมว่าอย่าไปรับปากว่าจะทำอะไรถ้าข้อเสนอนั้นยังไม่เข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) หรือรัฐบาล
แม้ไม่ได้เอ่ยชื่อ แต่ค่อนข้างชัดเจนว่า พล.อ.ประยุทธ์หมายถึง ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่เคยเป็นผู้เจรจากับชาวบ้านเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น สมัยที่เขาเป็นประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีดำเนินการขยายผลโครงการ "เมืองต้นแบบ สามเหลี่ยม มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน" ไปสู่ "เมืองต้นแบบ 4 อำเภอ" ของ จ.สงขลา ซึ่งนำมาสู่การคัดค้านของชาวจะนะมาจนถึงปัจจุบัน
"บางทีการไปพบปะเจรจาของใครก็แล้วแต่ เวลาไปพูดไปตกลงกับเขาอย่าลืมว่าไม่ได้ผ่าน ครม. ผมเตือนหลายครั้งแล้วเวลาไปให้รับข้อสังเกตมาให้รัฐบาลแก้ไขปัญหา นั่นคือวิธีการทำงานของรัฐบาลจะต้องรอบคอบ" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
นายกฯ กล่าวว่าหลังจากนี้ เขาจะมอบหมายให้ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) และสำนักนายกรัฐมนตรีไปดูแลและติดตามดูว่าเกิดอะไรขึ้นและควรจะแก้ไขอย่างไร
เมื่อถามว่ากลุ่มผู้ที่ได้รับผลกระทบในพื้นที่ภาคใต้ประกาศว่าจะเดินทางมาที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า "อย่ามาเลย ไปทำกันที่โน่น เดี๋ยวส่งคนไปดูแล ไปรับมาว่าอะไรที่เป็นข้อเท็จจริงและอะไรที่อาจจะถูกบิดเบือน อันไหนอาจจะไม่ใช่สิ่งที่ควรจะทำ อันไหนทำได้เราก็ทำ เพราะเรามุ่งหวังให้ภาคใต้มีเศรษฐกิจที่เจริญเติบโตมากขึ้น ต้องมองในแง่นี้ ส่วนคนทำก็ต้องทำด้วยความรอบคอบ...ต้องรับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่าย"
ที่มาของภาพ, Facebook/ธรรมนัส พรหมเผ่า
ร.อ. ธรรมนัส พรหมเผ่า โพสต์ภาที่เขาไปเจรจากับชาวบ้านจะนะ เมื่อครั้งยังเป็น รมช. เกษตรฯ
หลังจาก พล.อ.ประยุทธ์ให้ความเห็น ร.อ.ธรรมนัส ซึ่งถูกปลดจากตำแหน่ง รมช. เกษตรฯ เมื่อวันที่ 8 ก.ย. ได้โพสต์เฟซบุ๊กอธิบายถึงบทบาทของเขาในการเจรจากับชาวบ้านจะนะว่า
"หลังจากที่ผมพ้นจากการเป็นตำแหน่ง รมช. เกษตรฯ ผมไม่สามารถสานงานต่อเรื่องปัญหาของพี่น้องประชาชนในหลาย ๆ เรื่อง รวมถึงปัญหาของพี่น้องชาวจะนะ ซึ่งคงไม่มีใครรู้และเข้าใจถึงแก่นแท้ของปัญหา ยกเว้นผู้ที่มีส่วนได้เสียกับโครงการนี้
"ผมได้รับการประสานจากเพื่อน ๆ ส.ส. หลายท่านให้เข้ามาช่วยเหลือพี่น้องชาวจะนะเหมือนเดิม แต่ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้นผมไม่สามารถไปก้าวล่วงกับคณะทำงานชุดใหม่ของรัฐบาลได้อีก ผมยังเป็นห่วงพี่น้องชาวจะนะและผมจะใช้ระบบสภาผู้แทนราษฎรเข้ามาช่วยเหลือพี่น้องชาวจะนะต่อไปครับ"
ขณะที่ พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งมีความใกล้ชิดกับ ร.อ.ธรรมนัส กล่าวในทำนองปกป้อง อดีต รมช. เกษตรฯ สังกัดพรรคพลังประชารัฐที่เขาเป็นหัวหน้าพรรคว่า การทำงานของ ร.อ.ธรรมนัสในเรื่องนี้ไม่มีปัญหาอะไร และรัฐบาลกำลังดำเนินการตามที่ตกลงไว้ รวมถึงการทำประชาพิจารณ์ แต่ทั้งหมดต้องใช้เวลาเพราะต้องถามความเห็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย แต่ผู้ชุมมนุมีความรีบร้อน
ตำรวจระบุการข่าวพบมีผู้ก่อความไม่สงบร่วมชุมนุม
พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) แถลงชี้แจงปฏิบัติการควบคุมตัวผู้ชุมนุมของเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นว่า เจ้าหน้าที่ได้ประกาศแจ้งเตือนว่าผู้ชุมนุมกำลังฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และ แต่การชุมนุมยังดำเนินต่อไป จนนำมาสู่ความจำเป็นที่ต้องปฏิบัติการจับกุมผู้ร่วมชุมนุมในเวลา 21.30 น.
พล.ต.ต.จิรสันต์ แก้วแสงเอก โฆษกกองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) ให้ข้อมูลว่าผู้ชุมนุมที่ถูกจับกุมมีทั้งหมด 37 คน เป็นชาย 6 คน และหญิง 31 คน
สำหรับเหตุที่ต้องมีการจับกุมนั้น พล.ต.ต.จิรสันต์ ระบุเหตุผลออกเป็น 5 ข้อ คือ
1. การรวมกลุ่มมีการกีดขวางการจราจรทางเข้าออกของทำเนียบรัฐบาล ตั้งวางสิ่งของบนพื้นผิวจราจร ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้ทำการเจราและแต่ยังฝ่าฝืน
2. เจ้าหน้าที่เกรงว่าจะมีความเสี่ยงต่อการแพร่โรคจึงต้องการเข้าไปตรวจสอบ แต่ไม่ได้รับความยินยอม
3. เจ้าหน้าที่เข้าไปเจรจาหลายครั้ง และจัดเตรียมบริเวณอื่นให้ชุมนุม แต่ผู้ชุมนุมก็ยังฝ่าฝืนปักหลักอยู่ที่เดิม
4. เครือข่ายจะนะฯ เคยดำเนินการเรียกร้องเช่นนี้แล้วเมื่อปี 2563 ซึ่งอยู่ระหว่างการดำเนินการของรัฐบาล และครั้งนั้นก็มีการกระทำผิดเช่นเดียวกัน เมื่อมีการกลับมาชุมนุมครั้งนี้ก็ยังคงฝ่าฝืนกฎหมายอย่างต่อเนื่อง
5. ข้อมูลด้านการข่าวและการตรวจสอบหลังจับกุมพบว่า มีผู้ร่วมชุมนุมที่มาจากกลุ่มอื่น จึงอาจทำให้เกิดการก่อความไม่สงบ
"หากปล่อยให้มีการดำเนินการชุมนุมต่อเนื่องต่อไป อาจจะเกิดการก่อความไม่สงบขึ้นได้ เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงต้องทำการจับกุม"
6. การดำเนินการดังกล่าว "ไม่ใช่การสลายการชุมนุม" แต่เป็นการเจรจาและจับกุมผู้กระทำความผิดตามกฎหมาย ซึ่งไม่ได้มีการเน้นใช้ความรุนแรง เห็นได้จากการใช้กำลังควบคุมฝูงชนหญิง
ที่มาของภาพ, Thai News pix
ผู้ชุมนุมบางส่วนเป็นหญิงมุสลิมสูงอายุ
พล.ต.ต.จิรสันต์ ระบุว่าตำรวจควบคุมตัวผู้ถูกจับกุมไปยังกองบัญชาการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ซึ่งได้มีกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบตามไปก่อเหตุยิงพลุ ประทัด เป็นเหตุการณ์ที่ยืนยันว่าการชุมนุมมีกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบเข้าร่วมชุมนุมด้วย
พล.ต.ต.จิรสันต์กล่าวว่า หลังจากนี้จะดำเนินการแจ้งข้อหาผู้ชุมนุมทั้ง 37 ราย ในฐานความผิดละเมิด พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่ห้ามการชุมนุมทางการเมือง การรวมตัว หรือการทำกิจกรรมที่มีการรวมคนซึ่งเสี่ยงต่อการแพร่โรค และเตรียมพิจารณาแจ้งเพิ่มเติมในฐานความผิดอื่น ๆ ด้วย ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาให้ประกันตัว
สำหรับประเด็นการทำงานระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจกับสื่อมวลชนนั้น พล.ต.ต.จิรสันต์กล่าวว่าจะมีการทบทบทวนแนวทางการประสานงานในสถานการณ์เช่นนี้อีกครั้ง ขณะที่ พ.ต.อ.กฤษณะ ย้ำให้สื่อแสดงตัวตนตามที่ได้ตกลงกันไว้ และให้เชื่อฟังคำสั่งเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน พร้อมกับยืนยันว่าตำรวจไม่ได้ห้ามสื่อมวลชนปฏิบัติหน้าที่ แต่ขอให้อยู่ในบริเวณที่จัดไว้ให้เพื่อความปลอดภัยของทุกคน
ลำดับเหตุการณ์กว่า 5 ปี ความขัดแย้งเมืองอุตสาหกรรมจะนะ
4 ต.ค. 2559 ครม. มีมติเห็นชอบในหลักการโครงการ "เมืองต้นแบบ สามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน" ครอบคลุม 3 จังหวัด คือ ปัตตานี นราธิวาสและยะลา
7 พ.ค. 2562 ครม. เห็นชอบให้ขยายโครงการเมืองต้นแบบฯ ไปสู่ อ.จะนะ จ.สงขลา ตามที่ ศอ.บต. เสนอ
9 ธ.ค. 2562 ศอ.บต. ออกประกาศกำหนดให้ อ.จะนะ เป็นเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจในฐานะ "เมืองอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต"
27 ก.พ. 2563 ศอ.บต. ทำหนังสือถึง อบจ.สงขลา ให้ดำเนินการตามมติ ครม. ในส่วนของการปรับผังเมืองเพื่อรองรับการลงทุนของภาคเอกชน ตามแผนการลงทุนเร่งด่วน
28 เม.ย. 2563 ศอ.บต. ประกาศรับความคิดเห็นเกี่ยวกับโครงการในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจอำเภอจะนะ จ.สงขลา และเตรียมจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นในวันที่ 14-20 พ.ค. 2563
12 พ.ค. 2563 ชาวบ้านเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นยื่นหนังสือต่อผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา และปักหลักชุมนุมเรียกร้องให้ยกเลิกเวทีรับฟังความคิดเห็นของ ศอ.บต. เนื่องจากไม่มีการให้ข้อมูลผลกระทบของโครงการอย่างครบถ้วนรอบด้าน วันเดียวกันนี้ น.ส.ไครียะห์ ระหมันยะ เขียนจดหมายเปิดผนึก "จดหมายน้อย ถึงปู่ประยุทธ์" ขอให้รับฟังเสียงของลูกหลานชาวประมงทะเลจะนะ
ที่มาของภาพ, FACEBOOK/KHAIRIYAH RAHMANYAH
ไครียะห์ ระหมันยะ นั่งประท้วงที่ศาลากลางจังหวัดสงขลา ขอให้ยกเลิกการจัดเวทีฟังความคิดเห็นโครงเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจเมื่อเดือน พ.ค. 2563
13 พ.ค. 2563 การชุมนุมของชาวจะนะ ทำให้ ศอ.บต. ประกาศเลื่อนเวทีรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับโครงการพัฒนาเขตอุตสาหกรรมจะนะไปเป็นวันที่ 11 ก.ค.
2 ก.ค. 2563 น.ส.ไครียะห์ และเครือข่ายปกป้องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมสงขลา-สตูล ยื่นหนังสือต่อกรรมาธิการพัฒนาการเมืองฯ สภาผู้แทนราษฎร ขอให้ตรวจสอบการทำงานของ ศอ.บต. ที่เกี่ยวกับโครงการเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจอำเภอจะนะ
11 ก.ค. 2563 ศอ.บต. เดินหน้าจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นที่โรงเรียนจะนะวิทยาและที่ อบต.ตลิ่งชัน โดยใช้กำลังตำรวจมาดูแลความสงบเรียบร้อยกว่า 1,000 นาย ขณะที่ชาวบ้านเครือข่าวจะนะรักษ์ถิ่นและผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับโครงการร้องเรียนว่าถูกสกัดไม่ให้เข้าร่วมเวที
17 ก.ค. 2563 เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นประกาศจุดยืนคัดค้านโครงการเมืองอุตสาหกรรมจะนะ และส่งจดหมายเปิดผนึกถึงนายกฯ ให้ยกเลิกมติ ครม. ที่เกี่ยวข้องและหยุดใช้อำนาจพิเศษของ ศอ.บต.ในการผลักดันโครงการ
18 ส.ค. 2563 ครม. มีมติรับทราบรายงานผลการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนต่อโครงการเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจอำเภอจะนะ และให้กรมโยธาธิการแก้ไขผังเมืองรองรับแผนเร่งด่วนการลงทุนของภาคเอกชน
28 ก.ย. 2563 คณะกรรมการผังเมืองรวมจังหวัดสงขลามีมติเห็นชอบเปลี่ยนผังเมืองให้ที่ดินบางส่วนของ อ.จะนะ จากพื้นที่สีเขียว/สีเขียวอ่อน (พื้นที่ชนบทเกษตรกรรม/อนุรักษ์ป่าไม้) เป็นสีม่วง (อุตสาหกรรม) เพื่อรองรับโครงการเมืองอุตสาหกรรมจะนะ
10-15 ธ.ค. 2563 ชาวบ้านจะนะและเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น เดินทางจาก จ.สงขลา มาปักหลักชุมนุมที่ทำเนียบรัฐบาล เรียกร้องให้นายกฯ หยุดโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ และให้จัดทำการศึกษาผลกระทบเชิงยุทธศาสตร์ (SEA) ก่อนเดินหน้าโครงการ เพื่อให้มีข้อมูลประกอบการตัดสินใจต่อโครงการพัฒนาในพื้นที่ต่าง ๆ ของภาคใต้
ที่มาของภาพ, Thai News Pix
ผังเมืองจะนะจะเปลี่ยนจาก "สีเขียวและชมพู" (เขตอนุรักษ์ชนบทและเกษตรกรรม และเขตที่ดินชุมชน) เป็น "สีม่วง" (เขตอุตสาหกรรม) หากโครงการนี้สำเร็จ
14 ธ.ค. 2563 ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรฯ ในขณะนั้น เดินทางมาพูดคุยกับกลุ่มผู้ชุมนุมโดยกล่าวว่าเขาได้รับมอบหมายจาก พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ให้มาสอบถามข้อมูลจากผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนจากการสร้างนิคมอุตสาหกรรมจะนะ พร้อมกับบอกว่าจะให้ชะลอโครงการไปก่อน หลังจากนััน ร.อ. ธรรมนัสได้ทำบันทึกข้อตกลง "ผลการเจรจาการแก้ไขปัญหาระหว่างกลุ่มจะนะรักษ์ถิ่นกับผู้แทนรัฐบาล" มีใจความสำคัญคือ
-ยอมรับข้อเสนอของเครือข่ายฯ ที่ให้มีการตั้งคณะกรรมการเพื่อตรวจสอบการดำเนินงานของ ศอ.บต. และติดตามการแก้ไขปัญหาโครงการเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคตอำเภอจะนะ
-ให้ยุติการดำเนินการใด ๆ ในโครงการนี้เอาไว้ก่อน โดยเฉพาะการเปลี่ยนผังเมืองและการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ของโครงการอุตสาหกรรมของบริษัทเอกชน
-รัฐบาลต้องจัดให้มีการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมในระดับยุทธศาสตร์ (SEA) ของโครงการ
15 ธ.ค. 2563 ครม.มีมติให้ พล.อ.ประวิตร วงศ์สุวรรณ รองนายกฯ แต่งตั้งคณะอนุกรรมการติดตามและแก้ไขปัญหาโครงการจะนะ เมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต
8 ก.ย. 2564 ร.อ.ธรรมนัสถูกปลดจากการเป็น รมช. เกษตรฯ
6 ธ.ค. 2564 เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นชุมนุมที่ทำเนียบรัฐบาลเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลทำตามบันทึกข้อตกลงที่ทำไว้กับผู้ชุมนุมเมื่อเดือน ธ.ค. 2563 และประท้วงที่มีการทำผิดสัญญาเนื่องจากบริษัทเอกชนได้เดินหน้าจัดทำอีไอเอของโครงการต่าง ๆ ในพื้นที่
ที่มา: มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW), บีบีซีไทยรวบรวม