สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ : จาก “พี่เอ้” อธิการบดี สจล. ผู้ “ไม่กลัวทัวร์” ก่อนเปิดตัวลงผู้ว่าฯ กทม.

KMITL

ที่มาของภาพ, KMITL

ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) มีมติเป็นเอกฉันท์เห็นชอบให้ ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ หรือ ดร.เอ้ อดีตอธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในวันนี้ (13 ธ.ค.) พร้อมรับรองให้เป็นสมาชิกพรรคตลอดชีพ

ทว่าวงประชุมฝ่ายบริหารพรรคสีฟ้าในช่วงเช้าคล้ายเป็นเพียงพิธีกรรมเท่านั้น เนื่องจากพรรคได้ส่งข้อความผ่านแอปพลิเคชันไลน์กลุ่ม ส.ส. และอดีต ส.ส. ตั้งแต่ 9 ธ.ค. เชิญไปร่วมงานเปิดตัว "ดร.เอ้" ที่ห้างสรรพสินค้าสามย่านมิตรทาวน์ ย่านปทุมวัน ในเวลา 15.30 น. วันนี้ ก่อนที่จะมีการลงมติของ กก.บห.

องอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรค ปชป. ดูแลพื้นที่ กทม. เป็น "ตัวชง" ในการเสนอชื่อของ ดร.สุชัชวีร์ ลงชิงตำแหน่งในนามของ ปชป.

ด้าน ดร.เอ้ ก็เคลียร์สถานะดั้งเดิมไว้พร้อม รอรับการเปิดตัวด้วยบทบาทใหม่ โดยยื่นใบลาออกจากตำแหน่งอธิการบดี สจล. มีผลตั้งแต่ 13 ธ.ค. 2564

ที่มาของภาพ, WASAWAT LUKHARANG/bbc thai

คำบรรยายภาพ,

ปชป. ต้องสูญพันธุ์ในสนาม กทม. โดยไม่ได้ ส.ส. แม้แต่รายเดียวในการเลือกตั้ง 2562

"ขอเรียนให้ชาว กทม. รับทราบว่าพรรคภูมิใจที่ได้ต้อนรับเลือดใหม่ คุณภาพ อย่าง ดร.เอ้ มาเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. นับจากนี้พรรคได้เสนอทางเลือกที่ดีที่สุดให้ชาว กทม. และหวังว่า ดร.เอ้ จะนำชัยชนะสู่พรรค และ กทม. ถ้าได้รับโอกาส ผมมั่นใจ ดร.เอ้ และทีมงาน สามารถเปลี่ยนกรุงเทพ เราทำได้อย่างแน่นอน" นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กระทรวงพาณิชย์ ในฐานะหัวหน้าพรรค ปชป. กล่าวในการแถลงผลการประชุม

สำหรับทีมงานรองผู้ว่าฯ กทม. ได้เตรียมบุคคลไว้แล้ว ซึ่งมีทั้งคนในพรรคและคนเลือดใหม่ที่เข้ามาร่วมงานกับพรรค โดยจะมีการเปิดตัวต่อไป

บีบีซีไทยชวนทำความรู้จักว่าที่ผู้สมัครชิงเก้าอี้ "พ่อเมือง" กทม. ที่ชื่อ สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ชายผู้ประกาศตัว "ไม่กลัวทัวร์" เมื่อลุกขึ้นมาสร้างความเปลี่ยนแปลง และมักถามตัวเองในหลายค่ำคืนก่อนนอนว่า "เรามาถึงวันนี้ได้อย่างไร"

"พี่เอ้"

หากในวงการบันเทิงมีศิลปินที่ผู้คนทุกช่วงวัยตั้งแต่เด็ก วัยรุ่น ผู้ใหญ่ และผู้สูงวัยเรียกว่า "พี่เบิร์ด" และ "พี่ตูน" ในแวดวงการศึกษาคงมีผู้บริหารสูงสุดของมหาวิทยาลัยน้อยคนจะถูกสาธารณชนเรียกว่า "พี่" มากกว่า "ท่าน"

สุชัชวีร์มักเรียกแทนตัวเองว่า "พี่เอ้" เมื่อต้องปรากฏตัวต่อสาธารณะ ทั้งในการให้สัมภาษณ์สื่อ จัดรายการวิทยุ โพสต์เฟซบุ๊ก ขึ้นเวทีเสวนา พูดคุยกับอาจารย์และนักศึกษา หรือแม้แต่เวลาสั่งกาแฟ ไม่ว่าคู่สนทนาจะมีอายุเท่าใดก็ตาม จนใครต่อใครต่างเรียกเขาว่า "พี่เอ้" แม้ในชีวิตจริงของชายวัย 49 ผู้นี้จะไม่มีพี่น้อง เพราะเป็นลูกคนเดียวของครอบครัวก็ตาม

อธิการบดี สจล. ตกเป็นข่าวครึกโครมในโลกออนไลน์ จากการที่เขาตีเนียนเป็นนักศึกษาในงานปฐมนิเทศนักศึกษาใหม่ปี 2558 โดยสวมใส่เสื้อเชิ๊ตสีขาว กางเกงสีดำ เข้าไปนั่งปะปนอยู่กับนักศึกษาใหม่ แถมยังเข้าห้องประชุมสาย จึงถูกรุ่นพี่ปี 2 ที่เตี้ยมกันมาว๊ากเข้าให้ ก่อนวิ่งขึ้นเวทีในฐานะอธิการบดีเพื่อกล่าวต้อนรับนักศึกษาใหม่ ท่ามกลางเสียงตะโกนเรียก "พี่เอ้ ๆ ๆ"

ที่มาของภาพ, KMITL/Facebook

คำบรรยายภาพ,

สจล. เผยแพร่คลิปวิดีโอ "ปฐมนิเทศเฟรชชี่ใหม่ทั้งที ต้องจัดเต็มแบบนี้ นี่แหละ สจล." เมื่อ 6 ส.ค. 2561 ซึ่งปรากฏภาพอธิการบดีนำทีมผู้บริหารร้องแร็ป

3 ปีต่อมา ในงานเฟรชชีไนท์ "พี่เอ้" คนเดิมเปลี่ยนลุคเป็นแร็ปเปอร์ สวมใส่เสื้อหนังและหมวกแก๊ป คว้าไมค์นำร้อง-เต้นเพลงแร็ปกับเหล่าอาจารย์ เพื่อเป็นขวัญกำลังใจให้กับการเริ่มต้นชีวิตมหาวิทยาลัยของน้องใหม่ทุกคน

ทั้ง 2 เหตุการณ์ถูกพูดถึงอย่างกว้างขวางในโซเชียลมีเดีย ทำให้นักศึกษาสามารถเรียกอธิการบดีของพวกเขาว่า "พี่" ได้อย่างไม่ขัดเขินนัก

แม้กระทั่งวาระสุดท้ายบนเก้าอี้อธิการบดี ชาว สจล. ก็ยังเอ่ยคำลาด้วยการเรียกขานเขาว่า "พี่เอ้"

"สจล. ขอขอบพระคุณ พี่เอ้ ที่ตั้งใจทำงาน อุทิศตน ด้วยความมุมานะพยายาม ทุ่มเทแรงกายแรงใจอย่างต่อเนื่อง เพื่อพัฒนาเปลี่ยนแปลงสถาบัน จนสถาบันก้าวเข้าสู่มหาวิทยาลัยระดับโลก" แฟนเพจเฟซบุ๊ก KMITL ของ สจล. โพสต์แจ้งผลการประชุมสภา สจล. วาระพิเศษเมื่อ 9 ธ.ค. ที่มีมติอนุมัติให้ ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ลาออกจากตำแหน่งอธิการบดี ตั้งแต่ 13 ธ.ค. 2564

ลูกหม้อ สจล.

สุชัชวีร์ถือเป็น "ลูกหม้อ" สจล. ขนานแท้ เพราะเป็นทั้งผู้เรียน-ผู้สอน-ผู้บริหารสถาบันแห่งนี้

จากเด็กนักเรียนชั้น ม. 6 ซึ่งสอบได้ที่ 1 ของ จ.ระยอง จึงได้ "ตั๋วช้างเผือก" เข้าศึกษาต่อระดับปริญญาตรี คณะวิศวกรรมศาสตร์ (สาขาก่อสร้าง) สจล. ในปี 2533 โดยไม่ต้องสอบเอนทรานซ์ เขาคว้าเกียรตินิยมในวันสำเร็จการศึกษา พ่วงตำแหน่งประธานวิศวะรุ่น 29 ที่ติดตัวมาถึงปัจจุบัน ก่อนไปศึกษาต่อที่ประเทศสหรัฐฯ จนจบดอกเตอร์ด้านวิศวกรรมโยธาและสิ่งแวดล้อม จากมหาวิทยาลัยอันดับ 1 ของโลก อย่างสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (Massachusetts Institute of Technology - MIT) ในปี 2545

จากนั้นเขาได้กลับมาเป็นอาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ของ สจล. และใช้เวลาเพียง 7 ปีในการทำผลงานวิชาการ จนได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่ง ศาสตราจารย์ ในสาขาวิชาวิศวกรรมโยธา เมื่อปี 2553 ขณะมีอายุเพียง 37 ปี โดยถือเป็นสถิติในการทำ ศ. ที่เร็วที่สุดของมหาวิทยาลัย

อาจารย์หนุ่มขึ้นสู่ตำแหน่งสูงสุดของคณะวิศวกรรมศาสตร์ในฐานะคณบดี (2553-2557) ก่อนขยับชั้นขึ้นเป็นอธิการบดีในปี 2558 ขณะมีอายุเพียง 43 ปี และรั้งเก้าอี้ผู้บริหารหมายเลข 1 ของ สจล. เรื่อยมา ก่อนตัดสินใจเบนเข็มชีวิตเข้าสู่สนามการเมือง

ที่มาของภาพ, KMITL/Facebook

คำบรรยายภาพ,

บรรยากาศการเรียนการสอนคณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล.

เขาประกาศวิสัยทัศน์ให้ สจล. "เป็นสถาบันอุดมศึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 1 ใน 10 ของภูมิภาคอาเซียน ในปี 2020" และเป็น "MIT แห่งเอเชีย" ทั้งนี้ผลการจัดอันดับมหาวิทยาลัยชั้นนำระดับโลกล่าสุดในปี 2564 โดย The Quacquarelli Symonds (QS) พบว่า สจล. อยู่ในอันดับที่ 1,048 ของโลก และอันดับที่ 9 ของไทย ส่วนผลการจัดอันดับมหาวิทยาลัยในเอเชีย โดย Times Higher Education World University Rankings 2021 (Asia-Pacific) พบว่า สจล. อยู่ในอันดับ 1 ของมหาวิทยาลัยไทยที่มีความโดดเด่นด้านงานวิจัย

วิศวกรขนานแท้

นอกจากความเป็นนักการศึกษา สุชัชวีร์ออกตัวว่าเขาเป็น "วิศวกรขนานแท้"

หากใครเคยใช้บริการสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินหัวลำโพง จะพบชื่อ สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ บนผนังของทางสถานี เนื่องจากเป็นหนึ่งในผู้ก่อสร้างรถไฟฟ้าใต้ดินสายแรกของไทย

ความสนใจเรื่องรถไฟฟ้าใต้ดินของสุชัชวีร์เกิดขึ้นตั้งแต่บ้านเรายังไม่มีรถไฟฟ้า นักศึกษาคณะวิศวะชั้นปี 3 ได้ออกแบบอุโมงค์รถไฟฟ้าใต้ดินสายแรกของกรุงเทพฯ โดยคำนวณและเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์เอง ก่อนรุดไปนำเสนอต่อ ร.อ. กฤษฎา อรุณวงษ์ ณ อยุธยา ผู้ว่าราชการ กทม. ถึงศาลาว่าการ กทม.

ต่อมาเมื่อไปทำ ป.เอก เขาศึกษาวิจัยเรื่องการใช้ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence - AI) เพื่อพยากรณ์การทรุดตัวของกรุงเทพฯ จากการก่อสร้างอุโมงค์รถไฟฟ้าใต้ดิน

ในระหว่างนั้น เขาเดินทางกลับประเทศไทยเพื่อร่วมโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้ามหานคร (MRT) สายเฉลิมรัชมงคล ในฐานะวิศวกรอุโมงค์คนแรกของไทย และนั่นคือเหตุผลที่ทำให้ชื่อของเขาถูกจารึกลงผนัง นอกจากนี้ยังเป็นที่ปรึกษาวิชาการโครงการรัฐอีกหลายโครงการ อาทิ โครงการรถไฟฟ้ายกระดับและใต้ดินส่วนต่อส่วนขยาย, โครงการอุโมงค์ป้องกันน้ำท่วมของ กทม., โครงการอุโมงค์ส่งน้ำขนาดใหญ่ของการประปานครหลวง, โครงการทางด่วนขั้นที่ 2, โครงการก่อสร้างแก้มลิงแห่งแรกของ กทม.ฯ ที่วัดมังกรกมลาวาส ฯลฯ

ที่มาของภาพ, BEM

คำบรรยายภาพ,

โครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล (สายสีน้ำเงิน) ช่วงหัวลำโพง-บางซื่อ เป็นโครงการรถไฟฟ้าใต้ดินสายแรกของไทย เปิดให้บริการตั้งแต่ปี 2547

เกียรติประวัติ รางวัล และสารพัดสถานะทางสังคมที่ได้รับจากการทำงานในฐานะวิศวกร นักวิจัย และนักวิชาการ ซึ่งหลายตำแหน่งมีคำว่า "ที่สุด" และ "คนแรก" ต่อท้าย ทำให้ชายวัยครึ่งร้อยย้อนคิดถึงประสบการณ์ที่ผ่านมาอยู่บ่อย ๆ

"ทุกวันก่อนนอน ผมคิดว่าเรามาถึงวันนี้ได้อย่างไร" ดร.เอ้ เคยกล่าวไว้

"The Disruptor"

ไม่มีข้อมูลแน่ชัดว่าใครคือผู้ตั้งฉายา "The Disruptor" อันหมายถึงผู้เขย่าวงการและสร้างการเปลี่ยนแปลงใหม่ ๆ ให้แก่สุชัชวีร์ แม้แต่เจ้าตัวเองก็ไม่รู้ที่มาที่ไป แต่เขาเคยพูดถึง 2 วลีที่จะทำให้เป็นดิสรัปเตอร์ นั่นคือ "Make it Happen" (ทำให้เป็นจริง) และ "Shock Everyone" (ทำให้ทุกคนตะลึง)

สุชัชวีร์กล่าวกับกรุงเทพธุรกิจว่า Make it Happened คือพูดไปแล้วคนไม่เข้าใจ วิสัยทัศน์คือมองเห็นในสิ่งที่คนอื่นมองไม่เห็น ถ้าเกิดพูดแล้วคนบอก อ๋อ นั่นไม่ใช่วิสัยทัศน์ มันไม่ล้ำ หรือถ้าเกิดก็ไม่ใช่เป็น Disruptor ก็แค่เป็น Changer (ผู้สร้างการเปลี่ยนแปลง) ธรรมดา

"การจะเป็น Disruptor คือเหนือคำบรรยาย ดูเป็นไปไม่ได้... แต่มันเป็นไปได้"

บ่อยครั้งที่การเสนอแนวคิด-ประกาศวิสัยทัศน์ต่อสาธารณะของ ดร.เอ้ ทำให้เกิด "ทัวร์ลง" นำไปสู่เสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง แต่เขาบอกว่า "ไม่กลัวทัวร์"

ในระหว่างให้สัมภาษณ์รายการ "The Secret Sauce" ของเดอะสแตนดาร์ด เมื่อ มี.ค. 2564 ศ.ดร.สุชัชวีร์ ระบุตอนหนึ่งว่าผู้นำมักจะตายด้วยคำว่า "ทำของเก่าให้ดีก่อนเถอะ" ทว่าสำหรับตัวเขาไม่ยึดติดกับประโยคดังกล่าว และกล้าเปลี่ยนแปลงระดับใหญ่แม้กระทั้งรื้อค่านิยมหลักขององค์กร

"เวลาจะเปลี่ยนแปลงอะไร ต้องไม่นาอีฟ (Naive - ไร้เดียงสา) แต่ต้องมีแผน และต้องจบไว"

"ผู้นำมีเวลาแค่ 90 วันเท่านั้นในการจะทำอะไร ไม่อย่างนั้นจบเลย แต่พี่เอ้แค่ 30 วันเท่านั้น แล้ว 30 วัน ทะยานเลย"

ที่มาของภาพ, KMITL/Facebook

ในช่วง 6 ปีที่รั้งเก้าอี้อธิการบดีเทคโนฯ ลาดกระบัง มีอย่างน้อย 3 ความเปลี่ยนแปลงที่ ศ.ดร.สุชัชวีร์มักบอกเล่าในหลายกรรมหลายวาระด้วยความภาคภูมิใจ และบอกว่าคือการดิสรัปต์

หนึ่ง นำระบบ Provost ที่ใช้ในมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกอย่าง MIT มาใช้ครั้งแรกในไทย ปรับอำนาจหน้าที่และการทำงานประหนึ่งมีอธิการบดี 3 คน โดยอธิการบดี รับบทประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (President/CEO) คอยผลักดันวิสัยทัศน์ แสดงบทบาทในฐานะ "โลโก้ของมหาวิทยาลัย" และหาเงินทุน, รองอธิการบดีอาวุโสฝ่ายบริหารวิชาการ รับบทประธานเจ้าหน้าที่บริหารวิชาการ (Chief Academic Officer - CAO) ดูแลกำกับงานวิชาการ วิจัย และกิจการนักศึกษา และรองอธิการบดีอาวุโสฝ่ายบริหารทรัพยากรและบริการ รับบทประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ (Chief Operating Officer - COO) ดูแลงานบริการทั้งหมด

สอง จับมือกับมหาวิทยาลัยคาร์เนกี เมลลอน (Carnegie Mellon University) มหาวิทยาลัยอันดับ 1 ด้านวิศวกรรมคอมพิวเตอร์และปัญญาประดิษฐ์ ตั้งสถาบันระดับอุดมศึกษาภายใต้ชื่อ มหาวิทยาลัยซีเอ็มเคแอล ที่ สจล. แห่งเดียวของเอเชีย-แปซิฟิก โดยปาดหน้าคู่ท้าชิงอย่างสิงคโปร์มาได้

สาม ตั้งคณะแพทยศาสตร์ ซึ่งเป็นเรื่องยากยิ่งภายใต้กฎระเบียบใหม่ ทำให้ สจล. เป็นมหาวิทยาลัยที่มีคณะแพทย์แห่งที่ 22 ของไทย และในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 สจล. เป็นหน่วยงานที่ผลิตเครื่องมือแพทย์มากที่สุดในประเทศไทย

ดร.เอ้ ชี้ว่า คัมภีร์การบริหารใหม่-เปลี่ยนแปลงใหม่ในยุคปัจจุบัน ไม่ใช่ "คิดใหม่ทำใหม่" แต่ต้อง "คิดไวแล้วทำทันที"

"วันนี้คิดอะไรได้ กล้าเถอะ กล้าพูดไปเถอะ แน่นอนคนอาจไม่เชื่อเราบ้าง ว่าเราบ้าง มันเป็นปกติ เชื่อว่าเด็กไทยไม่แพ้ใครในโลก" เขากล่าวผ่านรายการ "เจาะใจ" เมื่อ มิ.ย. 2564