มิสยูนิเวิร์ส 2021: 5 เรื่องน่ารู้ เวทีประกวดนางงามกับการเมือง โควิด ธุรกิจและความงามที่เปลี่ยนไป

ที่มาของภาพ, Getty Images
ฮาร์นาส ซานดู วัย 21 ปีตัวแทนจากอินเดียเป็นผู้ชนะในการประกวดมิสยูนิเวิร์ส ครั้งที่ 70 ที่เมืองเอลัต ประเทศอิสราเอล เมื่อวันที่ 13 ธ.ค. ที่ผ่านมา
การประกวดนางงามจักรวาลหรือ Miss Universe ตามทัศนะของผู้ติดตามอย่างใกล้ชิดหรือ "แฟนนางงาม" เปรียบเสมือน "โอลิมปิกนางงาม" ที่มีให้ชมและเชียร์กันทุกปี ซึ่งการประกวดมิสยูนิเวิร์สที่ประเทศอิสราเอลในวันที่ 13 ธ.ค. นับเป็นครั้งที่ 70 ของเวทีนี้
แม้การประกวดมิสยูนิเวิร์สเกิดขึ้นมายาวนานแล้ว แต่เวทีนี้ก็ไม่ใช่การประกวดนางงามเวทีแรกของโลก เพราะการประกวดนางงามเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อ 100 ปีที่แล้ว หรือ 30 ปีก่อนที่เวทีประกวดนางงามจักรวาลจะถือกำเนิดขึ้น
เวทีประกวดเก่าแก่แห่งนี้มีสาวไทยเพียง 2 คนเท่านั้นที่สามารถพิชิตมงกุฎมาได้ ถึงไม่ใช่เรื่องง่ายที่ "มง" จะ"ลง" แต่แฟนนางงามและคนไทยจำนวนไม่น้อยก็ยังลุ้นและส่งใจเชียร์ตัวแทนสาวไทยกันทุกปี
เจ็ดทศวรรษของเวทีประกวดมิสยูนิเวิร์ส มีข้อถกเถียงวิพากษ์วิจารณ์ต่อเวทีประชันความงามอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นประเด็นเกี่ยวกับเรื่องเพศสภาพ เชื้อชาติ การเมือง ธุรกิจ รวมทั้งการขับเคลื่อนทางสังคม
ที่มาของภาพ, Getty Images
บีบีซีไทยรวบรวม 5 เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับการประกวดนางงามและประเด็นที่น่าจับตาในเวทีประกวดมิสยูนิเวิร์สประจำปี 2021 ซึ่งประเทศไทยส่งแอนชิลี สก็อต-เคมมิส สาวลูกครึ่งไทย-ออสเตรเลียน วัย 22 ปี ผู้ตั้งคำถามกับบรรทัดฐานความงามแบบเดิมผ่านแคมเปญ RealSizeBeauty เป็นตัวแทนขึ้นเวทีประกวด
ก้าวสำคัญของวงการนางงาม
คำว่า "การประกวดนางงาม" มักสร้างความคาดหวังต่อผู้ชมรวมถึงคณะกรรมการตัดสิน คือ ผู้ชนะต้อง "สวยประจักษ์" แต่นิยามดังกล่าวมักจะถูกท้าทายด้วยประโยคที่ว่า "Beauty is in the eye of the beholder" หรือ "สวยหรือไม่อยู่ที่ใครเป็นคนมอง" นอกจากนี้ยังถูกท้าทายจากอิทธิพลความคิดเรื่องสตรีนิยมที่มองว่า การประกวดนางงามเป็นการมองว่าผู้หญิงเป็นเพียงวัตถุทางเพศ ที่เน้นการประกวดประขันด้านความสวยงามเพียงอย่างเดียว
ที่มาของภาพ, Getty Images
อังเฆลา ปอนเซ หญิงข้ามเพศจากสเปนร่วมการแข่งขันมิสยูนิเวิร์สในปี 2018
แต่ในระยะหลังผู้จัดการประกวดทั้งระดับนานาชาติและระดับประเทศเริ่มมีการใช้เวทีประกวดในการเฟ้นหานางงามที่เป็นต้นแบบที่สร้างแรงบันดาลใจให้กับคนในสังคมได้เพิ่มมากขึ้น อย่างเมื่อปี 2561 ในการประกวดมิสยูนิเวิรส์ 2018 ที่ไทยเป็นเจ้าภาพ ที่มี "อังเฆลา ปอนเซ" สตรีข้ามเพศคนแรกจากสเปนเข้าร่วมการประกวดในครั้งนั้นด้วย เพื่อสะท้อนความเท่าเทียมกัน
ในปีถัดมาบนเวทีของมิสอินเตอร์เนชั่นแนลควีนที่จัดขึ้นที่พัทยา เจเซล บาร์บี รอยัล หญิงข้ามเพศชาวอเมริกันก็คว้ามงกุฎบนเวทีประกวดสาวประเภทสองได้ผลสำเร็จ
ขณะที่การเปิดกว้างทั้งในเรื่องเพศสภาพและสีผิวเริ่มได้รับการยอมรับมากขึ้นผ่านเวทีประกวดนางงามที่นับวันจะเข้าถึงผู้คนได้เพิ่มมากขึ้นผ่านการเผยแพร่ทางสื่อสังคมออนไลน์
ที่มาของภาพ, Getty Images/ Reuters
ผู้ชนะเลิศของ 5 เวทีการประกวดนางงามชั้นนำของโลกประจำปี 2019
ปรากฎการณ์ที่สำคัญในปี 2562 อีกอย่างคือ ถือครั้งแรกในประวัติศาสตร์ สาวผิวดำ "มงลง" 5 เวทีการประกวดหลักของโลก ประกอบด้วย โซซีบีนี ทุนซี จากแอฟริกาใต้ผู้คว้ามุงกุฏมิสยูนิเวิร์ส 2019, เนีย แฟรงคลิน ครองตำแหน่งมิสอเมริกา, โทนี-แอนน์ ซิงห์ สาวงามจากจาเมกาคว้ามงกุฎมิสเวิลด์, เคลีห์ แกร์รีสคว้ามงกุฎมิสทีนยูเอสเอ และเชสลี คริสต์ ชนะการประกวดเวทีมิสยูเอสเอ
นอกจากการก้าวข้ามเรื่องเพศสภาพและสีผิวแล้ว ผู้เข้าประกวดนางงามในยุคหลังยังแสดงความคิดเห็นทางสังคม การเมืองและสิทธิมนุษยชนบนเวทีประกวดอย่างเปิดเผยด้วย
ที่มาของภาพ, Getty Images
แอนชิลี สก็อต-เคมมิส ผู้คว้ามุงกุฎมิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์คนล่าสุดกำลังรณรงค์เกี่ยวกับการทลายมาตรฐานและบรรทัดฐานความงามแบบเดิม ๆ
นันท์นภัทร เจิมจุติธรรม ผู้คลุกคลีในวงการการประกวดนางงามมากว่า 40 ปี หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า "กูรูนางงาม" เคยให้สัมภาษณ์บีบีซีไทยหลังการประกวดมิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์เมื่อเดือน ต.ค. 2563 ว่ามายาคติที่ว่าผู้หญิงสวยย่อมไม่ฉลาดหรือไม่มีสมองเริ่มที่จะหายไป เพราะผู้หญิงสมัยนี้นอกจากสวยแล้วยังเก่งขึ้น ฉลาดขึ้น และมีความเป็นผู้นำเพิ่มมากขึ้นด้วย
การประกวดในครั้งนั้น หนึ่งในสาวงามผู้เข้าประกวดได้พูดถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำและวิจารณ์ระบบการศึกษาของไทยบนเวที ทำให้การประกวดและตัวเธอได้รับความสนใจจากสังคมอย่างมาก
"ผมมองว่า แนวความคิดเดิม ๆ ถือว่าไม่ยุติธรรมสำหรับผู้หญิงมากนัก เพราะในอดีตผู้หญิงอาจจะไม่ค่อยได้รับโอกาสและเวทีในการแสดงความคิดเห็นมากนัก เมื่อเทียบกับในปัจจุบัน" กูรูนางงามให้ความเห็น
Real Size Beauty คือ มาตรฐานความงามใหม่?
อีกหนึ่งคำถามสำคัญที่เกิดขึ้นบนเส้นทางความเปลี่ยนแปลงของเวทีประกวดนางงาม คือ อะไรคือมาตรฐานความงาม (beauty standard)
แอนชิลี สก็อต-เคมมิส สาวลูกครึ่งไทย-ออสเตรเลียน วัย 22 ปี ผู้คว้ามุงกุฎมิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์คนล่าสุดเมื่อเดือน ต.ค. ที่ผ่านมาและเป็นตัวแทนของประเทศไทยในการประกวดมิสยูนิเวิร์สที่อิสราเอล ก็ใช้ตำแหน่งเธอเป็นกระบอกเสียงสื่อสารไปยังสาว ๆ คนรุ่นใหม่ให้ภูมิใจในสัดส่วนของตนเองผ่านแคมเปญ RealSizeBeauty เพื่อทลายการตั้งมาตรฐานความงามหรือบรรทัดฐานความงามแบบเดิม ๆ ในสังคม
ที่มาของภาพ, Getty Images
แอนชิลี สก็อต-เคมมิส ในชุดประจำชาติมวยไทย "นางคาด"
"ฉันเพิ่งเจอกับตัวเองเมื่อคืนที่ผ่านมา ที่มีคนบอกว่าฉันเหมือนหมู... ฉันกำลังพูดถึงการชื่นชมยินดีในความเป็นตัวคุณ ในสิ่งที่ทำให้คุณมีเอกลักษณ์ที่มีความหมายมากไปกว่ารูปร่างและขนาด คำวิจารณ์แบบนั้นคือเหตุผลที่ทำให้ฉันมาอยู่ที่นี่ เพื่อทลายมาตรฐานและบรรทัดฐาน (ความงาม) เหล่านั้น" แอนชิลี ให้สัมภาษณ์ในคลิปวิดีโอที่เผยแพร่ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ของกองประกวดมิสยูนิเวิร์สในหัวข้อ "การระรานทางไซเบอร์ (Cyberbullying)
แนวความคิดเรื่อง "ความสวยไม่จำกัดขนาด ด้วยมุมมองเชิงบวกต่อเรือนร่างของตัวเอง" อาจจะเป็นความท้าทายครั้งหนึ่งที่ต้องพิสูจน์บนเวทีมิสยูนิเวิร์สปีนี้
ในการประกวดครั้งนี้ ฮาร์นาส ซานดู วัย 21 ปีตัวแทนจากอินเดียเป็นผู้ชนะในการประกวดมิสยูนิเวิร์ส ครั้งที่ 70 ที่เมืองเอลัต ประเทศอิสราเอล เมื่อเช้าวันที่ 13 ธ.ค. ตามเวลาไทย เอาชนะสาวงามตัวแทนจากปารากวัยและแอฟริกาใต้ในรอบ 3 คนสุดท้าย และจากผู้แข่งขันทั้งหมด 80 ประเทศ
ซานดู ปัจจุบันกำลังศึกษาระดับปริญญาโทบริหารรัฐกิจ (Public Administration) และเป็นนักแสดงและนางแบบ
ส่วนแอนชิลี สก๊อต-เคมมิส สาวงามตัวแทนประเทศไม่สามารถผ่านเข้ารอบ 16 คนสุดท้ายได้ ในประวัติศาสตร์ของไทย มีตัวแทน 2 คนที่เคยดำรงตำแหน่งนางงามจักรวาล คือ พรทิพย์ นาคหิรัญกนก หรือ ปุ๋ย ที่คว้าตำแหน่งนางงามจักรวาลคนที่ 2 ในปี 2531 และอาภัสรา หงสกุล นางงามจักรวาลคนแรกของไทยเมื่อปี 2507
เจ้าภาพกับความขัดแย้งทางการเมือง-ศาสนา
ประเทศเจ้าภาพการประกวดมิสยูนิเวิร์สครั้งนี้คืออิสราเอล ดินแดนที่สื่อต่างชาติมักนำเสนอเรื่องราวของความขัดแย้งทางการเมืองและศาสนาระหว่างชาวอิสราเอลและชาวปาเลสไตน์ที่อาศัยอยู่ในเยรูซาเลมตะวันออก กาซา และเขตเวสต์แบงก์ ที่เกิดความตึงเครียดอยู่ตลอดเวลา โดยความขัดแย้งครั้งล่าสุด เกิดขึ้นเมื่อช่วงเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งทำให้ทั้งสองฝ่ายมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก
ความขัดแย้งที่ยืดเยื้อมาหลายทศวรรษ ส่งผลต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ รวมถึงจุดยืนทางการเมืองในบางประเทศต่ออิสราเอล รวมทั้งการเป็นรับเป็นเจ้าภาพจัดการประกวดมิสยูนิเวิร์สครั้งนี้ด้วย
ที่มาของภาพ, Getty Images
มันดลา แมนเดลา หลายชายของอดีตผู้นำแอฟริกาใต้ผู้ซึ่งเปลี่ยนมานับถือศาสนาอิสลามเมื่อหลายปีที่ผ่านมา ออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องให้ชาติต่าง ๆ แอฟริกาคว่ำบาตรการประกวดครั้งนี้
ยกตัวอย่าง เมื่อวันที่ 15 พ.ย. ที่ผ่านมา สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า รัฐบาลแอฟริกาใต้ประกาศถอนการสนับสนุนการส่งตัวแทนไปประกวดนางงามจักรวาลในอิสราเอลภายหลังกองประกวดมิสเซาธ์แอฟริกาปฏิเสธข้อเรียกร้องจากองค์กรสนับสนุนชาวปาเลสไตน์ให้คว่ำบาตรการประกวดครั้งนี้ เพื่อแสดงการสนับสนุนประชาชนชาวปาเลสไตน์และประณามการกระทำของอิสราเอลต่อชาวปาเลสไตน์ ที่ทำให้ชาวผิวสีรำลึกถึงเหตุการณ์อาชญากรรมของการแบ่งแยกสีผิวในแอฟริกาใต้
ในขบวนการเรียกร้องดังกล่าว มีพรรคการเมืองหลายพรรครวมอยู่ด้วย หนึ่งในจำนวนนั้นคือ พรรคร่วมรัฐบาล อย่างพรรคสมัชชาแห่งชาติแอฟริกา (African National Congress) นอกจากนี้ยังมีกลุ่มสหภาพการค้ารายใหญ่ และหลานชายของเนลสัน แมนเดลา อดีตผู้นำแอฟริกาใต้อีกด้วย
เมื่อวันที่ 19 ต.ค. มันดลา แมนเดลา ผู้ซึ่งเปลี่ยนมานับถือศาสนาอิสลามเมื่อหลายปีที่ผ่านมา ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ชาติต่าง ๆ ในแอฟริกาคว่ำบาตรการประกวดครั้งนี้ โดยเนื้อหาส่วนหนึ่งในแถลงการณ์ได้กล่าวชื่นชมมาเลเซียและอินโดนีเซียที่กล้าแสดงจุดยืนโดยไม่ส่งตัวแทนเข้าร่วมการประกวดครั้งนี้
อย่างไรก็ตาม จากแถลงการณ์ของกองประกวดมิสยูนิเวิร์ส มาเลเซีย ที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 16 ส.ค. ระบุเพียงว่า ไม่สามารถส่งตัวแทนเข้าร่วมประกวดครั้งที่ 70 นี้ได้ เนื่องจากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ทำให้มีมาตรการคุมเข้มโดยเฉพาะการเดินทางในประเทศและระหว่างประเทศ จึงทำให้ไม่สามารถจัดการประกวดในประเทศได้ทัน แต่จะส่งตัวแทนเข้าร่วมประกวดในครั้งต่อไป
ส่วนกองประกวดปูเตอรีอินโดเนซียา ผู้ถือลิขสิทธิ์มิสยูนิเวิรส์ในอินโดนีเซียก็ออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 29 พ.ย. โดยมีเนื้อหาในลักษณะคล้ายกันกับกองประกวดมิสยูนิเวิร์ส มาเลเซีย
ที่มาของภาพ, Getty Images
อานเดรอา เมซา มิสยูนิเวิร์ส 2020
จากกระแสวิพากษ์วิจารณ์ดังกล่าวทำให้ อานเดรอา เมซา มิสยูนิเวิร์ส 2020 กล่าวกับผู้สื่อข่าวสำนักข่าวเอพีในระหว่างการเยี่ยมเมืองเก่าในนครเยรูซาเลม เมื่อวันที่ 18 พ.ย. ที่ผ่านมาว่า การประกวดครั้งนี้ไม่ควรเป็นเรื่องการเมือง
"ทุกคนมีความเชื่อ ภูมิหลังและวัฒนธรรมที่แตกต่าง และเมื่อต้องมาอยู่ด้วยกันที่นี่ คุณควรลืมเรื่องราวเกี่ยวกับการเมืองหรือศาสนา นี่เป็นเพียงกิจกรรมเพื่อการยอมรับและสนับสนุนสตรี" เธอกล่าว
100 ปีเส้นทางเวทีประกวดนางงาม
การประกวดนางงามเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการวัฒนธรรมความบันเทิงและเหตุผลทางธุรกิจครั้งแรกเมื่อวันที่ 8 ก.ย. 1921 หรือราว 100 ปีที่แล้วโดยกลุ่มนักธุรกิจท้องถิ่นในเมืองแอตแลนติกซิตี้ ของรัฐนิวเจอร์ซี ของสหรัฐฯ เพื่อใช้เป็นกิจกรรมดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาเยี่ยมเยือนระหว่างช่วงวันหยุดแรงงานของสหรัฐฯ โดยใช้ชื่อการประกวดว่า "Inter-City Beauty" เพื่อเฟ้นหาสาวงามที่สุดในชุดอาบน้ำ ในเวลาต่อมางานประจำปีนี้ได้รับความนิยมจึงเพิ่มขนาดของงานและจำนวนผู้ร่วมงานมากขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะได้รับการสนับสนุนและการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อหนังสือพิมพ์ ซึ่งเป็นสื่อหลักในขณะนั้น
ที่มาของภาพ, Library of Congress/Corbis/VCG via Getty Images
การคัดเลือกมิสอเมริกา (ไม่ระบุปี) แต่เวทีประกวดแห่งนี้ถือว่าเก่าแก่ที่สุดของโลก
แม้ว่าจะผ่านแรงกดดันของสังคมที่วิพากษ์วิจารณ์เรื่องการประกวดนางงามเวทีมาหลายครั้ง จนต้องยุติลงชั่วคราวในบางช่วง แต่หลังเหตุการณ์ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ การจัดประกวดนี้ได้ถูกรื้อฟื้นขึ้นอีกครั้งพร้อมกับใช้ชื่อว่า "มิสอเมริกา" และปรับบริบทการประกวดความงามอย่างเดียวมาสู่การทดสอบความสามารถของผู้ประกวดด้วย โดยผู้ชนะจะได้เงินรางวัลเป็นทุนการศึกษา และยังเป็นเวทีการประกวดนางงามระดับชาติของสหรัฐฯ ที่เก่าแก่ที่สุดจนถึงปัจจุบัน
ส่วนการเกิดขึ้นของเวทีนางงามจักรวาลหรือมิสยูนิเวิร์สนั้น เป็นผลพวงที่เกิดจากการปฏิเสธการสวมชุดว่ายน้ำในที่สาธารณะของโยลันด์ เบตเบซ ผู้ชนะตำแหน่งมิสอเมริกาประจำปี 1951 ทำให้บริษัท แฟซิฟิก มิลส์ ผู้ผลิตและออกแบบชุดว่ายน้ำยี่ห้อ "Catalina Swimwear" จากรัฐแคลิฟอร์เนียตัดสินใจยุติการเป็นสปอนเซอร์ชุดว่ายน้ำให้กับเวทีมิสอเมริกาแล้วมาก่อตั้งเวทีคู่แข่งในประเทศขึ้นก็คือ มิสยูเอสเอ เป็นเวทีประกวดระดับชาติ พร้อมกับมิสยูนิเวิร์สขึ้นในปีนั้นเพื่อเฟ้นหาตัวแทนจากประเทศต่าง ๆ มาประกวดในระดับนานาชาติ
ที่มาของภาพ, Getty Images
โดนัลด์ ทรัมป์ มหาเศรษฐีของสหรัฐฯ ได้ซื้อกิจการและเข้าบริหารองค์กรมิสยูนิเวิร์สในปี 1996 จนกระทั่งเขาตัดสินใจเข้าสู่การเมืองด้วยการลงเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในปี 2015 จึงขายกิจการออกไป
ผ่านมาแล้วกว่า 70 ปี องค์กรมิสยูนิเวิร์ส เจ้าของเวทีมิสยูเอสเอ มิสยูนิเวิร์สและมิสทีนยูเอสเอ ถูกเปลี่ยนมือมาแล้วหลายครั้งด้วยเหตุผลทางธุรกิจ จนกระทั้งถึงปี 1996 โดนัลด์ ทรัมป์ มหาเศรษฐีของสหรัฐฯ ได้ซื้อกิจการและเข้าบริหารองค์กรนี้จนกระทั่งเขาตัดสินใจเข้าสู่การเมืองด้วยการลงเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในปี 2015 เขาจึงขายกิจการนี้ออกไปให้กับบริษัทด้านแฟชัน กีฬาและธุรกิจบันเทิง "วิลเลี่ยม มอร์ริส เอ็นเดฟเวอร์" (William Morris Endeavor: WME) และดำเนินการมาจนถึงปัจจุบัน
ที่มาของภาพ, Bettmann/Contributor
อาภัสรา หงสกุล นางงามจักรวาลคนแรกของไทยเมื่อปี 2507
ในช่วงเวลาเดียวกันที่เกิดองค์กรมิสยูนิเวิร์ส อีกฟากหนึ่งของมหาสมุทรแอตแลนติก อีกหนึ่งเวทีประกวดนางงามก็ถูกก่อตั้งขึ้นในปี 1951 คือ "มิสเวิลด์" โดย เอริค มอร์ลีย์ พิธีกรชื่อดังชาวอังกฤษ
หลังจากมอร์ลีย์เสียชีวิตลง การประกวดนี้ถูกรับช่วงต่อโดยภรรยาของเขาคือ จูเลีย มอร์ลีย์ ซึ่งในวันที่ 17 ธ.ค. นี้จะมีการเฉลิมฉลองครบรอบ 70 ปีของการประกวดมิสเวิลด์ที่เปอร์โตรีโก หลังจากยุติการประกวดชั่วคราวในปี 2020 เนื่องจากการระบาดของโรคโควิด-19
นอกจากนี้ยังมีการประกวดนางงามสำคัญเวทีอื่น ๆ ด้วย เช่น มิสอินเตอร์เนชั่นแนลของญี่ปุ่น (1960) มิสเอิร์ธของฟิลิปปินส์ (2001) มิสซูปราเนชั่นแนลของโปแลนด์ (2009) และมิสแกรนด์ อินเตอร์เนชั่นแนลของไทย (2013) เป็นต้น
ในรอบ 70 ปี ชาติใดครองมงกุฎจักรวาลมากที่สุด
- อันดับที่ 1: สหรัฐฯ มีผู้คว้ามงกุฎนางงามจักรวาลมาแล้วถึง 8 ครั้ง ในปี 1954, 1956, 1960, 1967, 1980, 1995, 1997 ส่วนคนสุดท้ายคือ โอลิเวีย คัลโปในปี 2012
- อันดับที่ 2: เวเนซูเอลา ถือว่าเป็นมหาอำนาจด้านความงามของโลก หากไม่นับรวมเจ้าของเวทีอย่างสหรัฐฯ ด้วยจำนวนมงกุฎที่ได้จากเวทีมิสยูนิเวิร์สมากถึง 7 ครั้ง ในปี 1979, 1981, 1986, 1996 และสามารถสร้างประวัติศาสตร์โดยมีผู้ชนะที่ครอบครองตำแหน่งนางงามจักรวาลถึงสองปีซ้อนในปี 2008 และ 2009 ก่อนที่ปีสุดท้ายที่คว้ามงกุฎจากเวทีนี้ได้ในปี 2013 ที่รัสเซียเป็นเจ้าภาพ
- อันดับที่ 3: เปอร์โตรีโก คว้าไปแล้วมงกุฎนางงามจักรวาลไปถึง 5 ครั้งในปี 1970, 1985, 1993, 2001 และ 2006
- อันดับที่ 4: ฟิลิปปินส์ สามารถพิชิตมงกุฎจักรวาลไปแล้ว 4 มงกุฎ ในปี 1969, 1973, 2015 และคนล่าสุดคือ แคทริโอนา เกรย์ ในปี 2018 ที่ไทยเป็นเจ้าภาพ
- อันดับที่ 5: สวีเดน, แอฟริกาใต้ เม็กซิโก และล่าสุดคือ อินเดีย ที่เก็บไปมงกุฎไปแล้วประเทศละ 3 มงกุฎ
สวีเดนเป็นตัวแทนภาคพื้นยุโรปที่โดดเด่นคว้ามงกุฎนางงามจักรวาลในปี 1955, 1966 และในปี 1984
แอฟริกาใต้คว้ามงกุฎไปแล้วในปี 1978, 2017 ส่วนผู้ชนะคนล่าสุดคือ โซซิบินี ทุนซี ในปี 2019
ที่มาของภาพ, Getty Images
อานเดรอา เมซา มิสยูนิเวิร์สประจำปี 2020 ถ่ายรูปร่วมกับพอลล่า ชูการ์ต ประธานองค์กรมิสยูนิเวิร์ส
เม็กซิโกก็เพิ่งเข้าสู่ทำเนียบนี้หลังจากอานเดรอา เมซา คว้าตำแหน่งมิสยูนิเวิร์ส 2020 ในการประกวดที่รัฐฟลอริดา ของสหรัฐ เมื่อเดือน พ.ค. ที่ผ่านมาและกำลังเป็นมิสยูนิเวิร์สที่ครองตำแหน่งสั้นที่สุดในประวัติศาสตร์ด้วยระยะเวลาเพียง 7 เดือนเท่านั้น ก่อนหน้านี้ เม็กซิโกใช้เวลารอคอยกว่า 10 ปีหลังจากมีมงกุฎนางงามจักรวาลไปแล้วในปี 1991 และ 2010
ชัยชนะของอินเดียในการประกวดครั้งล่าสุดทำให้อินเดียเข้าสู่ทำเนียบอันดับที่ 5 นี้ด้วย