ชายแดนใต้ : นายกฯ ชี้ความรุนแรงลดลง แต่สถิติบอกเพิ่มขึ้น 100% จากปี 63

ที่มาของภาพ, สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี
นายกฯ หยิบปูขึ้นมาโชว์สื่อมวลชนระหว่างพบปะสมาชิกกลุ่มเลี้ยงปูทะเล ณ ศูนย์เรียนรู้การเพาะเลี้ยงปูทะเล บ้านโต๊ะโสม ต.บางปู อ.ยะหริ่ง จ. ปัตตานี วันนี้ (15 ธ.ค.)
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเดินทางลงพื้นที่จังหวัดยะลาและปัตตานี วันนี้ (15 ธ.ค.) ซึ่งเป็นการลงพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นครั้งแรกของปีนี้ ท่ามกลางการรักษาความปลอดภัยอย่างแน่นหนาหลังจากเกิดเหตุวางระเบิดรถไฟที่ จ.ปัตตานี ก่อนที่นายกฯ และคณะจะมาถึงเพียงไม่กี่วัน
นายกฯ ใช้เวลาตลอดทั้งวันตรวจเยี่ยมโครงการพัฒนาของรัฐ มอบนโยบายหน่วยงานรัฐในท้องถิ่น และพูดคุยกับประชาชนที่มาต้อนรับ โดยย้ำว่ารัฐบาลของเขาพยายามอย่างเต็มที่ในการแก้ปัญหาปากท้อง พัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมทั้งกระตุ้นให้คนในพื้นที่เข้ารับการฉีดวัคซีนต้านโควิด-19 เพื่อลดความเสี่ยงจากการป่วยหนักและเสียชีวิต
การลงพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ของนายกฯ ในวันนี้เกิดขึ้นในช่วงที่สถานการณ์ร้อนระอุเป็นพิเศษ เนื่องจากก่อนหน้านี้เพียง 2 วัน ได้เกิดเหตุลอบวางระเบิดรถไฟขบวนสายใต้ในพื้นที่ อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี เมื่อวันที่ 13 ธ.ค. ทำให้พนักงานรถไฟและผู้โดยสารได้รับบาดเจ็บรวม 3 ราย ส่งผลให้การรถไฟแห่งประเทศไทยหยุดให้บริการรถไฟใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ชั่วคราว
ศูนย์ข่าวอิศรา รายงานว่าในช่วง 2 สัปดาห์แรกของเดือน ธ.ค. เกิดเหตุรุนแรงทั้งลอบยิง ลอบวางระเบิดรถไฟและรถยนต์ของเจ้าหน้าที่ โจมตีพระสงฆ์ขณะออกบิณฑบาต ขว้างระเบิดไปป์บอมบ์ และพ่นสีบนพื้นถนน รวมทั้งหมด 13 เหตุการณ์ ซึ่งนับว่าเกิดขึ้นบ่อยขึ้นกว่าช่วงเดือนก่อนหน้านี้อย่างเห็นได้ชัด
- ชายแดนใต้ : ยิ่งแก้ คะแนนประยุทธ์ยิ่งตก โพลล์ชี้คนพื้นที่ก้ำกึ่งจะเห็นความสงบใน 5 ปี
- ลำดับเหตุการณ์ค้านนิคมอุตสาหกรรมจะนะก่อนสลายการชุมนุมที่ทำเนียบรัฐบาล
- จังหวัดชายแดนภาคใต้ : กระดุม 5 เม็ดในการแก้ไขปัญหาไฟใต้
- Exclusive: ณัฐพล นาคพาณิชย์ พลเอกในงาน คสช.-สมช.-ศบค. กับคำขอ "อย่ามองว่าทหารต้องรบอย่างเดียว"
นอกจากนี้ การลงพื้นที่ของ พล.อ.ประยุทธ์ ยังเกิดขึ้นหลังเกิดเหตุสลายการชุมนุมของชาวบ้าน อ.จะนะ จ.สงขลา ที่ทำเนียบรัฐบาลเพื่อคัดค้านโครงการเมืองอุตสาหกรรมจะนะ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการต้นแบบสามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ซึ่งถึงแม้นายกฯ จะไม่ได้ไป จ.สงขลา ในการลงพื้นที่ครั้งนี้ แต่เขาก็ได้พบกับ พล.ร.ต.สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) หน่วยงานที่รับผิดชอบโครงการนี้
เหตุสลายการชุมนุมของชาวบ้านจะนะเมื่อวันที่ 6 ธ.ค. เป็นเหตุให้แนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปาตานี (Barisan Revolusi Nasional - BRN) ซึ่งอยู่ในกระบวนการพูดคุยสันติสุขกับรัฐบาลไทยออกแถลงการณ์ประณามทางการไทยที่ใช้ความรุนแรงกับชาวจะนะที่ต่อสู้เพื่อปกป้องทรัพยากรธรรมชาติในบ้านเกิด
ระหว่างมอบนโยบายที่ ศอ.บต. ในช่วงเช้านายกฯ ได้พูดถึงการชุมนุมของกลุ่ม "จะนะรักษ์ถิ่น" สั้น ๆ ว่า "ได้คลี่คลายไปแล้ว" เมื่อชาวบ้านยุติการชุมนุมที่ทำเนียบรัฐบาลช่วงเช้าวันนี้ หลังจากรัฐบาลรับปากว่าจะทำการประเมินสิ่งแวดล้อมทางยุทธศาสตร์ของโครงการให้ครบถ้วนสมบูรณ์และจะเยียวยาคนที่ได้รับผลกระทบ
ที่มาของภาพ, สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี
พล.อ.ประยุทธ์ถ่ายรูปกับประชาชนที่มาต้อนรับที่ศูนย์ราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ จ.ยะลา
นายกฯ พูดเรื่องอะไรบ้าง
บีบีซีไทยสรุปประเด็นที่ พล.อ.ประยุทธ์พูดกับข้าราชการท้องถิ่นและประชาชนระหว่างการลงพื้นที่จังหวัดยะลาและปัตตานีวันนี้ ซึ่งเป็นครั้งที่ 2 ในรอบเกือบ 2 ปี นับจากการประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่หรือ ครม. สัญจรที่ จ.นราธิวาส เมื่อเดือน ม.ค. 2563
- เหตุรุนแรงลดลง
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่าการลงพื้นที่วันนี้ได้มาดูงานด้านความมั่นคงด้วยซึ่งทราบว่าสถิติการรุนแรงเริ่มลดลง แต่ตราบใดที่ขบวนการก่อความไม่สงบยังไม่ยกเลิกและยุบไป เหตุการณ์ความไม่สงบอยู่ก็ยังคงมีอยู่ ดังนั้นประชาชนต้องช่วยกันระมัดระวังตัวเอง ช่วยกันสอดส่องดูแล แจ้งเตือนเจ้าหน้าที่เมื่อพบเหตุผิดปกติ เพราะเจ้าหน้าที่อาจดูแลไม่ทั่วถึง
- ให้ความสำคัญกับจังหวัดชายแดนภาคใต้
นายกฯ บอกว่าจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นพื้นที่ที่มีความอ่อนไหวทางด้านความมั่นคง เศรษฐกิจ แต่ขณะเดียวกันก็เป็นพื้นที่ที่มีโอกาสมากมาย ซึ่งตราบใดที่เขายังเป็นผู้นำรัฐบาลก็จะแก้ปัญหาต่าง ๆ ในพื้นที่ให้ได้
"ผมไม่เคยหยุดคิด ตั้งแต่เข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีครั้งแรกปีแรก ไม่เคยหยุดคิดว่าทำอย่างไรให้ประชาชนอยู่ดีมีความสุขจะลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมไปได้" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว ขณะเดียวกันเขาก็ยอมรับว่าการแก้ปัญหาของประชาชนนั้นเป็นเรื่องยาก
"...มันทำยากที่สุดเลย ถ้ามันทำง่าย มันจบไปหลายรัฐบาลแล้วล่ะ แต่เราก็ทำไว้เยอะแล้ว...ผมเนี่ย นายกฯ และรัฐบาลเนี่ยเป็นคนทำมาตลอด 2 รัฐบาลที่ผ่านมาที่ผมอยู่ตรงนี้ ไม่เคยหยุดคิด ไม่เคยหยุดทำ...ถ้ามันทำมาแล้วก่อนหน้านี้เยอะ ๆ ผมก็ไม่ต้องทำมากตอนนี้ แต่ผมไม่โทษใคร โทษใครไม่ได้ ต้องเคารพเสียงของประชาชน" พล.อ.ประยุทธ์กล่าวก่อนจะถอนหายใจเสียงดัง
- ประชาชนขยันเรียนรู้และพัฒนาตัวเอง
นายกฯ เรียกร้องให้ประชาชนรู้จักขวนขวายหาความรู้ โดยเฉพาะเกษตรกรที่อาจจะต้องปรับเปลี่ยนวิถีการผลิต หรือปลูกพืชอาหารเสริมเพื่อลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือน เรียนรู้เรื่องการแปรรูปผลผลิต การหาตลาด
"จะปลูกอะไรไม่ว่า แต่วันหน้าต้องปรับเปลี่ยน ถ้าทำอย่างเดียวก็จะเป็นอยู่แบบนี้ ต้องปลูกอะไรเสริมเพื่อมีรายได้เพิ่มเติมมากกว่ารายได้ตามฤดูกาลอย่างเดียว"
พล.อ.ประยุทธ์ให้คำแนะนำตัวแทนเกษตรกรที่มาต้อนรับเขาที่ ศอ.บต. พร้อมกับแนะนำให้เกษตรกรหมั่นหาความรู้จากยูทิวบ์ เปิดรับข้อมูลที่มีประโยชน์ในโซเชียลมีเดียแทนที่จะเสพแต่ความขัดแย้ง ก่อนที่นายกฯ จะกล่าวโทษตัวเองที่ไม่สามารถทำให้ประชาชนเรียนรู้ได้
- ชาติและสถาบันกษัตริย์
อีกหนึ่งประเด็นที่อยู่ใน "โพย" ถ้อยแถลงของนายกฯ คือพระมหากรุณาธิคุณของพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ที่ทรงริเริ่มและส่งเสริมโครงการต่าง ๆ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้
"...เป็นพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดไม่ได้ ที่พระองค์ท่านไม่เคยหยุดห่วงใยพวกเราสักวัน นี่เป็นสิ่งที่ทำให้เราเป็นชาติมาถึงทุกวันนี้ ถ้าเราไม่มีสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ เราจะไปไหนยังไม่รู้ วันนี้อาจไปอยู่กับใครก็ยังไม่รู้เลย"
- เร่งให้ประชาชนฉีดวัคซีน
ปัญหาที่ประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้จำนวนมากยังไม่ยอมเข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด-19 เนื่องจากกลัวผลข้างเคียงและมีความเชื่อบางอย่างที่ทำให้ปฏิเสธการฉีดวัคซีนโควิด ทำให้นายกฯ ต้องกล่าวย้ำหลายครั้งระหว่างลงพื้นที่ว่าขอให้ประชาชนรีบเข้ารับการฉีดวัคซีนเพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ หรือถึงแม้หากติดเชื้อก็จะลดความเสี่ยงที่จะป่วยหนักหรือเสียชีวิตได้ โดยนายกฯ บอกว่าอาจจะมีอาการไม่พึงประสงค์บ้าง แต่ยืนยันว่าไม่เป็นอันตราย
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวแกมขู่ว่าหลังจากนี้คนที่ไม่ได้ฉีดวัคซีนอาจจะไม่ได้รับอนุญาตให้เดินทางเข้าไปในบางชุมชน บางพื้นที่หรือทำกิจกรรมบางอย่างได้
ที่มาของภาพ, Facebook/สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนราธิวาส
ชาวมุสลิมจำนวนไม่น้อยในจังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่ยอมไปฉีดวัคซีนโควิด-19 เพราะกลัวผลข้างเคียงที่เป็นอันตราย
เหตุรุนแรงเพิ่มขึ้น 100% จากปี 2563
บีบีซีไทยสอบถาม ผศ. ดร. ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี ผู้อำนวยการศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (มอ. ปัตตานี) ถึงกรณีที่นายกฯ ระบุว่าเหตุรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ลดลงว่าข้อมูลในเชิงสถิติเป็นเช่นนั้นจริงหรือไม่
ผศ. ดร. ศรีสมภพกล่าวว่าสถานการณ์ความรุนแรงในจังหวัดภาคใต้ลดลงจริงนับตั้งแต่ปี 2556 จากปีละกว่า 1,000 เหตุการณ์เหลือประมาณ 300 เหตุการณ์ในปี 2563
เขาวิเคราะห์ว่ามี 2 ปัจจัยใหญ่ที่ทำให้ลด คือ
- การพูดคุยสันติสุขของรัฐบาลไทยกับบีอาร์เอ็น ที่แม้อาจไม่เห็นผลในเชิงความก้าวหน้าของการพูดคุย แต่ก็มีผลให้การก่อความไม่สงบในพื้นที่ลดลง
- หลังเหตุการรัฐประหาร 2557 รัฐบาลใช้มาตรการทางทหารเพื่อ "การควบคุม" เพิ่มขึ้น เห็นภาพจางบประมาณการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ จากเดิมที่อยู่ระดับ 10,000-20,000 ล้านบาทต่อปี ก็ขยับมาเป็น 30,000-40,000 ล้านบาทต่อปี
"ชุดปฏิบัติการทหารพราน อส. เพิ่มขึ้น กิจกรรมพวกนี้ในได้มาเมื่อรัฐบาลทหารควบคุม และจัดการเรื่องงบประมาณ ส่วนการพัฒนาถึงมีก็ไม่ได้มากเท่าความมั่นคง...ตัวแปรการจัดการความมั่นคงทางการทหารในพื้นที่เข็มแข็งมากขึ้น ผลตามมาก็คือกดความรุนแรงได้" ผอ.ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้อธิบาย
ที่มาของภาพ, Getty Images
เจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐานตรวจสอบที่เกิดเหตุลอบยิงในพื้นที่ อ.สายบุรี จ.ปัตตานี เมื่อวันที่ 24 เม.ย. 2564 เหตุการณ์นี้มีประชาชนเสียชีวิต 3 คน
อย่างไรก็ตาม อ. ศรีสมภพตั้งข้อสังเกตว่าในปี 2564 นี้ พบว่าเหตุการณ์ความรุนแรงกลับมาเพิ่มขึ้น ถึง 100% จากปีที่แล้ว ซึ่งส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะการระบาดของโควิด-19 ทำให้ความรุนแรงในพื้นที่ลดลงมากในปี2563 เนื่องจาก BRN ประกาศชัดเจนที่จะยุติปฏิบัติการชั่วคราวเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงการรักษา
อย่างไรก็ตาม อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มอ.ปัตตานี กล่าวว่าดูเหมือนว่าฝ่าย BRN จะ "ลดปฏิบัติการฝ่ายเดียว" เพราะฝ่ายความมั่นคงของไทยยังปฏิบัติการทางทหารมากเท่าเดิม และนี่อาจเป็นเหตุให้ฝ่ายขบวนการก่อความไม่สงบตอบโต้ นำมาสู่การโจมตีฐานที่ตั้งของทหารมากขึ้นในปีนี้
เขายังได้เตือนรัฐบาลด้วยว่า หากไม่สามารถคลี่คลายความขัดแย้งโครงการเมืองอุตสาหกรรมจะนะได้ มีโอกาสที่กลุ่ม BRN ซึ่งขณะนี้มีบทบาทเพียงการสนับสนุนและให้กำลังใจเท่านั้น แต่หากรัฐบาลไม่มีการประนีประนอมก็มีความเป็นไปได้ว่าฝ่ายกองกำลังอาจเข้ามาข้องเกี่ยวมากขึ้น