เหมืองทองอัครา: คิงส์เกตเผยรัฐบาลไทยอนุมัติให้เปิดเหมืองทองคำชาตรี ขณะที่อนุญาโตฯ เลื่อนอ่านคำชี้ขาดโดยไม่มีกำหนด

ที่มาของภาพ, เว็บไซต์ บมจ. อัคราฯ
บ.คิงส์เกต คอนโซลิเดทเต็ด ลิมิเต็ด ของออสเตรเลีย ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของ บ.อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ผู้ดำเนินการเหมืองทองอัครา ออกคำชี้แจงต่อตลาดหลักทรัพย์ออสเตรเลียถึงขั้นตอนการกลับมาเปิดเหมืองชาตรี โดยส่วนหนึ่งระบุว่าคณะอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศได้เลื่อนคำชี้ขาด "คดีเหมืองทองอัครา" ออกไปโดยไม่มีการกำหนดวัน
รายงานประจำไตรมาส (รอบสิ้นสุด ณ เดือน ธ.ค. 2564) ฉบับดังกล่าวเผยแพร่ทางเว็บไซต์ของ บ.คิงส์เกตฯ เมื่อช่วงเวลา 13.00 น. ตามเวลาในไทย มีการรายงานถึงความคืบหน้าในความพยายามเปิดเหมืองชาตรีอีกครั้งหลังจากถูกรัฐบาลไทยสั่งปิดโดยคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 72/2559 ลงนามโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อปี 2559 และมีผลตั้งแต่เดือน ม.ค. 2560 ประกอบด้วย
1. บ.คิงส์เกตฯ ได้รับใบอนุญาตแปรรูปโลหกรรม (Metallurgical Processing Licence--MPL) ซึ่งมีผลตั้งแต่วันที่ 19 ม.ค. 2565 เป็นต้นไป โดยมีอายุ 5 ปี จนถึงวันที่ 18 ม.ค. 2570
2. นอกจากนี้ ยังมีประทานบัตรเหมืองแร่ 4 แปลงที่เพิ่งได้รับอนุญาตจากรัฐบาลไทยในเดือน ม.ค. ที่ผ่านมา ประกอบด้วย แปลง (1) 26910/15365 แปลง (2) 26911/15366 แปลง (3) 26912/15367 และแปลง (4) 25528/14714 ซึ่งจำเป็นต่อการดำเนินการเหมืองชาตรี แปลงดังกล่าวประกอบด้วย ประทานบัตรเหมืองชาตรีใต้ 3 แปลงและเหมืองแร่ควอตซ์ 1 แปลง ซึ่งเฉพาะเหมืองแร่ควอตซ์รอการอนุมัติมาตั้งแต่ปี 2554 และจำเป็นในการใช้งานบ่อเอ (A Pit) ให้เกิดประโยชน์สูงสุด
3. ประทานบัตรเหมืองแร่แต่ละแปลงมีผลบังคับใช้เป็นเวลา 10 ปี นับจากวันที่ 31 ธ.ค. ปีที่แล้ว ทั้งนี้ การได้รับใบอนุญาตแปรรูปโลหกรรมและประทานบัตรเหมืองแร่ดังกล่าว หมายถึงว่า ในขณะนี้มีความเป็นได้ที่เหมืองทองคำชาตรีจะได้กลับมาเปิดดำเนินการได้อีกครั้ง
4. บ.คิงส์เกตฯ มีความยินดีที่จะแจ้งยืนยันว่า จากคำอนุมัติดังกล่าว รัฐบาลไทยได้ต้อนรับการกลับมาดำเนินกิจการในเมืองไทยของบริษัทฯ แล้ว ทั้งยังเห็นพ้องด้วยว่า เหมืองทองคำชาตรีจะกลับมาเปิดดำเนินการอีกครั้ง
ที่มาของภาพ, ณัฐวุฒิ อุปปะ กลุ่มพิทักษ์สิ่งแวดล้อมเนินมะปราง
5. สำหรับกรณีพิพาทกับราชอาณาจักรไทยเกี่ยวกับการประกอบกิจการเหมืองทองของบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ภายใต้ความตกลงการค้าเสรีระหว่างไทย-ออสเตรเลีย หรือ TAFTA ซึ่งขณะนี้อยู่ในกระบวนการอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศนั้น คณะอนุญาโตตุลาการฯ ได้ให้คำแนะนำมาว่า คณะจะเลื่อนการอ่านคำชี้ขาดออกไปจนกว่ากระบวนการขั้นตอนต่าง ๆ จะแล้วเสร็จ และระงับคำชี้ขาดโดยไม่แจ้งให้ทราบล่วงหน้า
6. การเลื่อนคำชี้ขาดดังกล่าวจะอำนวยความสะดวกให้กับกลุ่มผู้ให้เงินทุนต่าง ๆ และให้มีเวลาเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งกระบวนการทางกฎหมายเพื่อระงับปัญหาจำนวนหนึ่งที่ไม่เกี่ยวข้องกับปัญหาเชิงปฏิบัติการ และปัญหาบางส่วนที่เกิดขึ้นก่อนการปิดเหมืองชาตรี
7. ประเด็นสำคัญ คือ การอนุมัติที่จำเป็นทั้งหมดนี้มาจากรัฐบาลไทย และสิ่งที่จะต้องดำเนินการต่อไปจะมุ่งเน้นไปที่การเปิดเหมืองให้เร็วที่สุดเท่าที่เป็นไปได้
กพร. เผย เลื่อนออกไปเพื่อเจรจาไม่ต่ำกว่า 6 เดือน
นายนิรันดร์ ยิ่งมหิศรานนท์ อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) กระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยกับเว็บไซต์เดลินิวส์ถึงกรณีดังกล่าวว่า ทั้ง 2 ฝ่ายได้มีการเจรจาขอเลื่อนการออกคำชี้ขาดคดีข้อพิพาทฯ ออกไปก่อน ซึ่งภายในสัปดาห์นี้จะมีการเจรจาอีกครั้งว่าจะเลื่อนออกไปอีกระยะเวลาเท่าไร เบื้องต้นคาดว่าไม่ต่ำกว่า 6 เดือน เพื่อให้มีเวลาการเจรจารายละเอียดที่เหลือร่วมกันให้เรียบร้อย
"คาดว่าการเลื่อนการเจรจาครั้งนี้ออกไปอีกครั้ง ไม่ต่ำกว่า 6 เดือน เพื่อให้มีเวลาเจรจารายละเอียดที่เหลือร่วมกัน เชื่อว่าจะตกลงกันได้ด้วยดี และถ้าตกลงกันได้แล้วเรื่องการฟ้องร้องก็น่าจะจบลงด้วยดีเช่นกัน เพราะไม่มีอะไรที่เป็นประเด็นร่วมกันอีก" อธิบดี กพร. กล่าวกับเดลินิวส์
เครือข่ายประชาชนเตรียมยื่นรัฐสภาตรวจสอบข้อพิพาทไทย-คิงส์เกต
นายเลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ หัวหน้าพรรคสามัญชนและนักต่อสู้ด้านสิทธิในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติกล่าวกับบีบีซีไทยภายหลังกรณีการเลื่อนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการฯ คดีดังกล่าวว่า เป็นไปตามที่เคยคาดหมายก่อนหน้านี้ ว่าทั้งสองฝ่าย คือ รัฐบาลไทยและบ.คิงส์เกตฯ ต้องการหลีกเลี่ยงให้อนุญาโตตุลาการชี้ขาด ถ้าแพ้คดี รัฐบาลไทยก็ต้องชดใช้ แต่ถ้าไม่แพ้คดี อนุญาโตตุลาการก็ต้องชี้ขาดอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งก็อาจจะขึ้นอยู่กับการเจรจาระหว่างกัน แต่เขาตั้งคำถามว่า สิ่งที่จะเกิดขึ้นจะเป็นการตัดสินใจเกินข้อพิพาทหรือไม่
นักเคลื่อนไหวเพื่อพิทักษ์สิ่งแวดล้อมรายนี้ตั้งข้อสังเกตว่า มีความเป็นไปได้ที่อนุญาโตตุลาการจะไม่ชี้ขาดใด ๆ ในกรณีนี้ โดยปล่อยให้ทั้งสองฝ่ายเจรจากัน ซึ่งที่ผ่านมาจากที่รัฐบาลได้อนุมัติใบอนุญาตประทานบัตรเหมืองแร่และใบอนุญาตแปรรูปโลหกรรมไปแล้ว เป็นการเปิดทางให้ บ.คิงส์เกตฯ กลับมาดำเนินการเหมืองทองชาตรีได้แล้ว ซึ่งเวลา 6 เดือนข้างหน้าจะเป็นการดำเนินการเพื่อให้เปิดเหมืองได้อีกครั้ง รวมถึงการคำนวณค่าใช้จ่าย ค่าตอบแทนต่าง ๆ
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ภาคประชาชนจะต้องจับตา คือ การอนุญาตที่เกิดขึ้นสอดคล้องกับ พ.ร.บ.แร่ ฉบับใหม่หรือไม่ นอกจากนี้ในวันที่ 2 ก.พ. นี้ เครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่จะเข้าไปยื่นหนังสือต่อรัฐสภา เพื่อให้ตรวจสอบข้อพิพาทระหว่างรัฐบาลไทยกับ บ.คิงส์เกตฯ เพื่อให้สภาผู้แทนราษฎรได้ยื่นกระทู้ถามนายกรัฐมนตรีเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวข้อมูลข้อเท็จจริงเกี่ยวกับคดีนี้ ขอให้ตรวจสอบกระบวนการตรวจสอบต่าง ๆ ตั้งแต่การอนุญาตให้ประทานบัตรต่าง ๆ รวมทั้งการออกอาชญาบัตรพิเศษของริชภูมิ ไมนิ่ง ซึ่งเป็นบริษัทลูกของคิงส์เกตฯ ในการสำรวจแร่ทองคำที่ จ.จันทรบุรี อีกด้วย
ที่มาของภาพ, ณัฐวุฒิ อุปปะ กลุ่มพิทักษ์สิ่งแวดล้อมเนินมะปราง
นายเลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ หัวหน้าพรรคสามัญชน
ด้านนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวต่อสื่อมวลชนที่ทำเนียบรัฐบาลว่า ยังไม่ทราบกรณีที่คณะอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศเลื่อนการอ่านคำพิพากษาคดีเหมืองทองอัคราออกไป แต่ที่รับทราบมาเกี่ยวกับการกลับมาเปิดเหมืองแร่ในประเทศ เป็นข้อตกลงกับกระทรวงอุตสาหกรรมโดยที่ บ.คิงส์เกตฯ ยินยอมที่จะปฏิบัติตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560 ทุกประการ และเป็นสิทธิที่เขาจะยื่นขอเพื่อรับใบอนุญาตได้
ที่มาของข้อพิพาท "เหมืองทองอัครา"
กรณีพิพาทระหว่างรัฐไทยกับ บ.คิงส์เกต คอนโซลิเดทเต็ด ลิมิเต็ด ของออสเตรเลีย ในคดีเหมืองทองอัคราหลัง พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีใช้อำนาจหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) สั่งระงับกิจการเหมืองแร่ทั่วประเทศ
เหมืองทองอัคราหรือเหมืองทองคำชาตรีตั้งอยู่ในพื้นที่รอยต่อ 3 จังหวัด คือ จ.พิจิตร จ.พิษณุโลก และ จ.เพชรบูรณ์ ดำเนินการโดย บ.อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ บ.คิงส์เกตฯ ผ่านมาแล้วกว่า 4 ปี
บ.คิงส์เกตฯ เรียกคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 72/2559 ลงนามโดย พล.อ.ประยุทธ์ว่า "คำสั่งปิดเหมืองโดยมิชอบด้วยกฎหมายของรัฐบาลไทย" และเห็นว่าคำสั่งนี้ละเมิดข้อตกลงการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย แม้ว่าจะมีความพยายามในการเจรจาแล้วแต่ไม่สามารถหาข้อยุติได้ จึงเข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศเพื่อระงับข้อพิพาทเมื่อเดือน พ.ย. 2560 โดยเรียกร้องให้รัฐบาลไทยชดเชยค่าเสียหายกว่า 750 ล้านดอลลาร์สหรัฐหรือประมาณ 30,000 ล้านบาท
อนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศเสร็จสิ้นกระบวนการไต่สวนไปตั้งแต่วันที่ 12 ก.พ. 2563 แล้ว แต่ยังไม่มีคำชี้ขาดใด ๆ เนื่องจากคู่กรณีทั้งสองได้ร้องขอให้คณะอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศเลื่อนการอ่านคำตัดสินมาแล้วถึง 2 ครั้ง ครั้งแรกขอให้เลื่อนการอ่านคำตัดสินมาเป็นภายในวันที่ 31 ต.ค. 2564 และขอเลื่อนอีกครั้งมาเป็นภายในวันที่ 31 ม.ค. 2565 เนื่องจากกระบวนการเจรจาคู่ขนานยังไม่ได้ข้อยุติ แต่ในที่สุดเมื่อถึงวันที่ 31 ม.ค. บ.คิงส์เกตฯ แจ้งว่าอนุญาโตตุลาการฯ ได้เลื่อนการอ่านคำพิพากษาออกไปอีก